อาการปวดข้อศอกด้านนอก (Tennis elbow)
อาการปวดข้อศอกด้านนอก (Tennis elbow)
July 28 / 2021

 

อาการปวดข้อศอกด้านนอก (Tennis elbow)

 

 

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก หรืออาการเจ็บข้อศอกของนักเทนนิส (Tennis elbow) เป็นอาการที่พบกันมานานกว่า 100 ปี ปัจจุบันนักกีฬาเทนนิสอาจจะเคยมีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้ในระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วผู้ป่วยที่มาหาแพทย์ด้วยโรคนี้จะเป็นนักกีฬาเทนนิสประมาณ 5% เท่านั้น

 

 

 

สาเหตุของเส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ คืออะไร?

 

เกิดจากมีการบาดเจ็บของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่มาเกาะยึดบริเวณปุ่มกระดูกด้านนอกของข้อศอก สาเหตุอาจจะเกิดจากการบาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น อุบัติเหตุ หรือเกิดจากการใช้งานซ้ำๆ ทำให้เกิดการเสื่อมของเส้นเอ็น เช่น การเล่นกีฬา อาชีพที่ต้องยกของ หรือลากของบ่อยๆ แม่บ้าน (กวาดบ้าน, บิดผ้า, ทำกับข้าว)

เมื่อเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อมีการบาดเจ็บ ประกอบกับวัยที่เริ่มมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้เส้นเอ็นบริเวณที่มีการฉีกขาดเมื่อยังไม่ทันหายสนิทผู้ป่วยกลับไปใช้งานอีก เกิดการฉีกขาดซ้ำ มีการอักเสบ บวม ทำให้หายช้ากว่าปกติ อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ จนถึงหลายเดือน

อาการอักเสบบริเวณข้อศอก อาจจะเกิดเพียงส่วนของเส้นเอ็น (Tendonitis) แต่บ่อยครั้งที่อาการอักเสบจะเกิดครอบคลุมถึงตำแหน่งที่เกาะของเส้นเอ็นบนกระดูก และข้อใกล้เคียง (epicondylitis)

 

 

อาการและอาการแสดงเอ็นข้อศอกอักเสบ

 

  • อาการปวด เป็นๆ หายๆ ของปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก
  • อาจมีอาการปวดร้าวบริเวณหลังแขน ลงไปถึงข้อมือ
  • อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลายกของ โดยเฉพาะเวลาคว่ำฝ่ามือทำงาน เช่น กวาดบ้าน ลากของ ผัดกับข้าว
  • บางรายอาจมีอาการปวดมาก ไม่สามารถเหยียดแขนได้สุด

 

 

 

การวินิจฉัยอาการเอ็นข้อศอกอักเสบ?

 

การวินิจฉัย สามารถกระทำได้โดยง่ายจากประวัติและการตรวจร่างกายตามอาการแสดงข้างต้น แต่มีกลุ่มอาการที่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็น tennis elbow บ่อยๆ เช่น อาการปวดของปุ่มข้อศอกด้านใน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาการปวดข้อศอกของนักกอลฟ์ (golfer's elbow) ส่วนอีกอาการหนึ่ง คือ อาการปวดบริเวณปลายข้อศอกด้านหลัง บริเวณที่ใช้เท้าแขน สาเหตุมาจากถุงน้ำบริเวณข้อศอกอักเสบ (bursltls) ดังตารางข้างบน

 

 

รักษาเอ็นข้อศอกอักเสบอย่างไร?

 

เนื่องจากอาการปวดเกี่ยวข้องเนื่องจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นบริเวณดังกล่าวโดยตรง ดังนั้นการรักษาที่ดีที่สุด คือ การพักหยุดการใช้แขนที่ทำให้มีการปวดมากขึ้น

หลังจากพักให้อาการปวดดีขึ้น ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้น ตามตัวอย่างด้านหลัง ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องกลับไปทำงานที่อาจเป็นสาเหตุ ทำให้เกิดอาการขึ้นมาใหม่ได้ ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อก่อนการใช้งาน (อุ่นเครื่อง : warm up) การบริหารแต่ละครั้งควรใช้เวลานานประมาณ 5-10 นาที และควรหยุดถ้ามีอาการเจ็บเกิดขึ้น

การใช้ยารักษา : โดยทั่วไปแพทย์มักจะให้ยาต้านการอักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการในระยะแรก และมีอาการไม่มากนัก ในกรณีที่ใช้ยาต้านการอักเสบไม่ได้ผล แพทย์มักจะแนะนำให้รับการฉีดยาประเภทสเตียรอยด์เข้าเส้นเอ็น ซึ่งสามารถจะระงับอาการอักเสบได้รวดเร็ว แต่ไม่ควรที่จะใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจจะเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เป็นรอยด่างขาวบริเวณฉีดยา, ชั้นไขมันใต้ผิวหนังยุบตัว, เส้นเอ็นฝ่อ

หากการรักษาดังกล่าวข้างต้นไม่ได้ผล ควรพิจารณาทำการผ่าตัด (ประมาณ 3% ของผู้ป่วย) เพื่อไปทำการขูดเอาเนื้อเยื่อที่เสียออก และทำการปรับแต่งเส้นเอ็นไม่ให้ตึงเกินไป

 

 

ป้องกันเอ็นข้อศอกอักเสบได้อย่างไร?

 

  • ยกของโดยหงายฝ่ามือขึ้น
  • บริหารกล้ามเนื้อบ่อยๆ
  • ทำการยืดกล้ามเนื้อก่อนการใช้งานเสมอ

 

 

ท่าบริหารเพื่อป้องกันเอ็นข้อศอกอักเสบ

 

ท่าที่ 1 : การบริหารยืดกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกระดกข้อมือขึ้น โดยการเหยียดแขนตรงไปข้างหน้า คว่ำมือลง แล้วทำการหักข้อมือลงสุด จนรู้สึกกล้ามเนื้อต้นแขนส่วนบนตึง

 

 

ท่าที่ 2 : การบริหารยืดกล้ามเนื้อท้องแขน โดยการเหยียดแขนตรงไปตรงข้างหน้า หงายฝ่ามือขึ้น แล้วทำการดัดข้อมือเข้าหาตัว

 

 

ท่าบริหารทั้งสองท่าเป็นการบริหารยืดกล้ามเนื้อ ควรทำทั้งสองท่าครั้งละ 15 วินาที ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง วันละ 3 รอบ

 

หลังจากการบริหารโดยการยืดกล้ามเนื้อแล้ว ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยการวางแขนบนโต๊ะ ให้ส่วนของข้อมือ และมือพ้นโต๊ะออกไป หรือนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักวางแขน ใช้น้ำหนักเบาๆ ที่มีขนาดถือถนัดมือ เช่น ปลากระป๋อง กระทำในท่าที่ 3-6 ซ้ำๆ กัน ประมาณ 30 ครั้ง

 

ท่าที่ 3 : การบริหารกล้ามเนื้อแขน โดยการถือน้ำหนักที่เตรียมไว้ โดยการคว่ำฝ่ามือลง กระดกข้อมือขึ้นค้างไว้ 2 วินาที แล้วผ่อนลงช้าๆ

 

 

ท่าที่ 4 : การบริหารกล้ามเนื้อท้องแขน โดยการกระทำเช่นเดียวกับท่าที่ 3 แต่เปลี่ยนเป็นหงายฝ่ามือขึ้น แล้วทำการกระดกข้อมือเข้าหาตัว

 

 

ท่าที่ 5 : การบริหารกล้ามเนื้อด้านข้าง โดยการเหยียดแขนตรงไปข้างหน้า ถือน้ำหนักที่เตรียมไว้ในแนวดิ่ง ชี้นิ้วหัวแม่มือตามแนวดิ่ง แล้วทำการขยับข้อมือขึ้น-ลง (ข้อสังเกตุ : เวลาขยับควรให้แต่ข้อมือขยับ)

 

 

ท่าที่ 6 : การบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อมือ โดยการกระทำต่อจากท่าที่แล้ว แต่ทำการหมุนข้อมือแทน เริ่มโดยการหมุนมือเข้าใน ให้นิ้วหัวแม่มือชี้เข้าในมากที่สุด ค้างไว้ 2 วินาที หมุนกลับไปในทิศทางตรงกันข้าม ค้างไว้ 2 วินาที ทำซ้ำๆ ประมาณ 30-50 ครั้ง

 

 

ท่าที่ 7 : การบริหารโดยการนวด โดยผู้ปาวยใช้นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ทำการนวดบริเวณที่ปวดอย่างนุ่มนวล อาจจะใช้ยาทาร่วมด้วย นวดคลึงเบาๆ ประมาณ 5 นาที หลังการนวดถ้ารู้สึกปวดหรือระบม ควรใช้น้ำแข็งประคบ

 

 

 

ข้อควรระวังหากมีอาการเอ็นข้อศอกอักเสบ

 

  • หยุดการใช้งาน หรือท่าที่ทำให้มีแรงกระทำต่อข้อศอกจนรู้สึกปวดถ้าจำเป็นต้องทำ ควรทำการบริหารกล้ามเนื้อก่อนออกแรงประมาณ 5-10 นาที แล้วประคบเย็นทันทีที่เสร็จ หยุดพักเป็นระยะบ่อยๆ
  • ใช้แผ่นผ้ายืด หรืออุปกรณ์สำเร็จรูปรัดแขน บริเวณต่ำกว่าข้อศอกจะช่วยลดแรงที่มากระทำได้ ควรใช้เวลาเล่นกีฬาหรือ ยกของหนัก
  • ปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการปวดไม่ดีขึ้นติดต่อกันหลายวัน เพราะถ้าปล่อยไว้ให้มีอาการปวดเรื้อรัง จะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียสมรรถภาพอย่างถาวรได้ หรือมีอาการข้างเคียงที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เกาท์, การอักเสบติดเชื้อ หรือการแพร่กระจายของมะเร็งจากที่อื่น

 

 

การรักษาที่ดีที่สุด คือ การพักหยุดการใช้แขนที่ทำให้มีการปวดมากขึ้น

 

 

แก้ไข

31/3/2565

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.สิริศักดิ์ บูรณวัฒนาโชค

ศัลยกรรมกระดูกและข้อ

ส่องกล้องข้อไหล่และข้อเข่า

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

Healthy heart package (ผู้ชาย)

ฝากหัวใจ..ให้เราดูแลกับ "Healthy heart package (ผู้ชาย)" ตรวจก่อนรู้ก่อน อย่าปล่อยให้หัวใจอ่อนแอ..เกินเยียวยา

ราคา 5,990 บาท

“Healthy start program” โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด จำนวน 6 ครั้ง

ดูแลหัวใจและปอดของคุณและคนที่คุณรัก ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

ราคา 3,000 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี

รู้ทันจังหวะของหัวใจและการทำงานของปอด เพื่อให้คุณได้ใช้ชีวิตตามที่ใจฝัน

ราคา 3,700 บาท

ตรวจระดับภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ..รู้ผลใน 1 ชั่วโมง

เหมาะสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีน ผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิด-19 และบุคคลทั่วไป

ราคา 1,200 บาท

บริการอุปกรณ์ตรวจเช็คคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พกพาได้

หัวใจไม่ใช่เรื่องไกลตัว ตอบโจทย์ตรงใจผู้ที่มีปัญหาสุขภาพหัวใจ

ราคา 12,000 บาท