เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้🍪
เราใช้ Cookies เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีที่สุด สรุปนโยบายความเป็นส่วนตัวและ Cookies อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
อย่างที่เคยบอกไว้ในตอนแรก การตรวจร่างกายนั้นมีความสำคัญมาก เพราะทำให้รู้เกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง ทั้งในแง่ของการป้องกัน การรักษา การประเมินความเสี่ยง ทุกคนจึงควรใส่ใจสุขภาพเพื่อดูแลร่างกายให้แข็งแรง ในวันนี้เราจะมาพูดคุยกันต่อเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพแบบเจาะลึก โดยจะแยกเป็นการตรวจร่างกายสำหรับเพศหญิง เพศชาย และสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ขอให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า ชีวิตที่ดีที่สุด คือ ชีวิตที่ไม่มีโรคภัย
ตรวจสุขภาพตามเพศและอายุ สามารถแบ่งได้ ดังนี้
ผู้หญิงควรเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือผู้ที่พบว่ามีตกขาวมากผิดปกติ มีเลือดปนในตกขาว หรือมีเลือดออกบริเวณช่องคลอดผิดปกติ
ผู้ชายควรเข้ารับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป
ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก เพื่อวางแนวทางป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุน นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรเข้ารับการประเมินสมรรถนะสมองโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อป้องกันโรคหรือดูแนวโน้มการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง มีหลัก ๆ 5 ชนิดที่คนส่วนใหญ่มักจะเป็นกัน
ผู้หญิงทุกคนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปควรทำการตรวจหามะเร็งปากมดลูกตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อวางแผนลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในอนาคต เช่น การเข้ารับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแต่ประเภท
ผู้หญิงทุกคนตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปควรทำการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือน และเมื่ออายุครบ 40 ปี ควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นประจำเพื่อค้นหาโรคในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งการตรวจวิธีนี้ถือเป็นการป้องกันและลดความสูญเสียในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้
การส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นวิธีที่สามารถตรวจหารอยโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยหากแพทย์พบติ่งเนื้องอกขึ้นมาในขณะตรวจ ก็สามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำมายืนยันการวินิจฉัยได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการนัดผ่าตัดอีกครั้ง นอกจากการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะช่วยคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ยังสามารถช่วยคัดกรองโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่อย่างสม่ำเสมอ หรือตามคำแนะนำของแพทย์
มะเร็งปอดถือเป็นโรคที่รักษาได้ยาก ผู้ป่วยมักไม่พบอาการผิดปกติหรือตรวจไม่พบในระยะแรกเริ่ม ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดจึงถือเป็นวิธีการช่วยค้นหาความผิดปกติในเบื้องต้น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่แต่หยุดสูบแล้วไม่ถึง 15 ปี รวมถึงผู้ที่ต้องเผชิญกับมลภาวะในอากาศต่าง ๆ
การค้นพบมะเร็งตับในระยะแรกเริ่มจะสามารถช่วยให้แพทย์ทำการรักษาให้หายได้ ซึ่งผู้ที่ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับเป็นประจำทุก 6 เดือน ได้แก่ ผู้ที่มีภาวะตับแข็ง ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี รวมถึงผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ผู้ที่มีภาวะไขมันพอกตับ และผู้ที่บริโภคสารพิษอะฟลาทอกซิน ซึ่งพบในเชื้อราที่อยู่บนถั่วลิสงและธัญพืชต่าง ๆ
แพทย์แนะนำให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจสุขภาพควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่อาจตรวจพบความเสี่ยงโรคหรือค้นพบโรคในระยะเริ่มต้น แพทย์อาจสั่งยา หรือแนะนำให้ปรับพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้ร่างกายและสุขภาพฟื้นฟูไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางในขั้นต่อไป เมื่อผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ก็จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ อาทิ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่มีไขมันสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและดูแลอารมณ์และจิตใจให้แจ่มใส ก็นับเป็นอีกทางเลือกในการป้องกันโรคร้ายต่างๆ ในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
โรงพยาบาลรามคำแหงมีแพ็กเกจให้เลือกหลากหลายซึ่งครอบคลุมทุกความเสี่ยงเพื่อรองรับวิถีชีวิตที่หลากหลาย เมื่อเข้าการตรวจกับเรา คุณจะได้รับการดูแลจากแพทย์ชำนาญเฉพาะโรคและบุคลากรการแพทย์อย่างจริงใจ ซึ่งช่วยให้คุณได้รับประโยชน์มากขึ้นและยังสามารถเข้ารับการบริการได้ตลอดทั้งปี