การวินิจฉัยและการตรวจหาสาเหตุของโรคสมองเสื่อม

March 14 / 2025

 โรคสมองเสื่อม ตรวจ

 

     โรคสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปรกติของสมอง ซึ่งส่งผลต่อความจำ ความคิดและความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน การวินิจฉัยจึงต้องอาศัยกระบวนการที่ครอบคลุมเพื่อระบุสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย

 

1. การตรวจเบื้องต้น

1.1. การคัดกรองภาวะสมองเสื่อม

     แพทย์จะเริ่มถามประวัติอาการจากผู้ป่วยและบุคคลใกล้ชิด เช่น การลืมเรื่องราวในชีวิตประจำวัน การหลงทาง การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและอารมณ์ หลังจากนั้นจึงเริ่มใช้แบบทดสอบเพื่อประเมินโอกาสเป็นภาวะสมองเสื่อม เช่น MMSE (Mini-Mental State Examination) หรือ MoCA (Montreal Cognitive Assessment) 


 


แบบทดสอบดังกล่าวช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความจำ การคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ ผ่านชุดคำถาม เช่น การจดจำคำ การบอกวันที่ปัจจุบัน การวาดภาพ การคำนวณ


 

 

โรคสมองเสื่อม ตรวจ

 

ตัวอย่างแบบทดสอบ MoCA (Montreal Cognitive Assessment) 

 

 

1.2.  การตรวจภาวะซึมเศร้า

     เนื่องจากภาวะซึมเศร้ามักแสดงอาการคล้ายกับภาวะสมองเสื่อม เช่น การขาดสมาธิหรือความจำที่ลดลง ดังนั้นแพทย์จึงต้องใช้แบบประเมินสำหรับตรวจดูภาวะซึมเศร้าร่วม

 

  • PHQ-9 (Patient Health Questionaire) ใช้วัดระดับของภาวะซึมเศร้าในชั้นต้นได้ด้วยแบบทดสอบ 9 ระดับ
  • GDS (Geriatric Depression Scale) เป็นแบบทดสอบวัดระดับภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ซึ่งรวมชุดคำถามสำหรับประเมินทั้งหมด 30 ข้อ

 

อ่านเพิ่มเติม: 5 สัญญาณบ่งอาการโรคสมองเสื่อม ขี้ลืมบ่อย ความจำเสื่อม

 

1.3.  การตรวจร่างกาย

     ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสอบระบบประสาท เช่น การทรงตัว การเดิน การมองเห็น และกล้ามเนื้อ ร่วมกับการตรวจสอบภาวะร่างกายอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุอย่างละเอียด เช่น ภาวะขาดน้ำ การติดเชื้อหรือภาวะขาดสารอาหาร


 


การประเมินเบื้องต้นของโรคสมองเสื่อมนั้นเน้นการคัดกรอง การซักประวัติ การตรวจภาวะซึมเศร้าและการตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อค้นหาสาเหตุและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมค่ะ



 

 

 

โรคสมองเสื่อม ตรวจ

 

 

2. การตรวจภายในห้องปฏิบัติการ

2.1  การตรวจเลือด 

     การตรวจเลือดสามารถใช้ค้นหาภาวะที่สามารถรักษาได้ เช่น การรักษาวิตามินบี 12 ความผิดปรกติของไทรอยด์ร่วมกับการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจยีนซึ่งสัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ช่วยวินิจฉัยแยกโรคอัลไซเมอร์จากโรคสมองเสื่อมชนิดอื่น โดยดูจากระดับโปรตีน Beta-amyloid (Aβ42) ในน้ำไขสันหลังและโปรตีน P-Tau (Phospho-tau) ในเลือด

 

 


โดยค่าสัดส่วน Aβ42 : Aβ40 ที่ลดลง บ่งชี้ถึงการสะสมของโปรตีนในสมอง



 

 

ตรวจโรคสมองเสื่อมตรวจโรคสมองเสื่อม ตรวจโรคสมองเสื่อม

 

 

 

3.  การตรวจด้วยภาพระบบประสาท (Neuroimaging)

3.1.  การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) 

     แพทย์จะใช้เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อใช้ตรวจความฝ่อโดยเฉพาะบริเวณฮิปโปแคมปัสหรือสมองส่วนกลีบขมับ (Temporal Lobe) ทั้งยังช่วยแยกสาเหตุอื่นที่ก่อเกิดภาวะสมองเสื่อม  เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอก หรือการบาดเจ็บของสมอง

 

3.2.  การตรวจทางรังสีวิทยา (PET Scan)

     แพทย์สามารถใช้ PET Scan โดยเริ่มจากการใช้สารติดตามเพื่อตรวจการสะสมของเบต้าอะไมลอยด์ในสมอง วิธีนี้จึงเหมาะสำหรับการวินิจฉัยในผู้ที่มีอาการเสื่อมสมองในระยะเริ่มต้น ทั้งยังช่วยคัดแยกชนิดของโรคสมองเสื่อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

3.3.  SPECT Scan 

     SPECT Scan (Single Photon Emission Computed Tomography) เป็นการตรวจการไหลเวียนของเลือดในสมอง เพื่อระบุความผิดปรกติบริเวณสมองที่เกี่ยวข้อง

 

ข้อควรปฏิบัติก่อนเข้ารับการตรวจ

  • ควรเลี่ยงอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลสูง
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เช่น กาแฟ
  • งดออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก
  • ควรแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวและต้องรับประทานยา

 

 

ตรวจโรคสมองเสื่อมตรวจโรคสมองเสื่อม

 

 

4.  การตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น

  • การตรวจพันธุกรรม (Genetic Testing) ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการตั้งแต่อายุยังน้อยหรือมีประวัติครอบครัว เช่น มีการกลายพันธุ์ของยีนส์ PSEN1, PSEN2 หรือ APP
  • การตรวจหายีน APOE ε4 เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์


 

ให้ศูนย์สมองได้อยู่ดูแลคุณและบุคคลใกล้ชิด

     ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลรามคำแหงพร้อมมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถก้าวผ่านความยากลำบากจากโรคและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุขด้วยวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ พร้อมการดูแลของเหล่าแพทย์เฉพาะทาง เพื่อคุณรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยตลอดเวลาที่อยู่กับเรา


 

อ่านเพิ่มเติม: 7 สิ่งช่วยชะลอและป้องกันตัวเราให้ห่างไกลโรคสมองเสื่อม