โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ภาวะซ่อนอาการที่พบได้ตั้งแต่เด็ก

April 17 / 2025

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 

 

 

 

     หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย แต่รู้หรือไม่ว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เกิดมาพร้อมกับความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของพวกเขา โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยในเด็ก โดยมีตั้งแต่ระดับที่ไม่แสดงอาการ ไปจนถึงภาวะรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด

     โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Disease - CHD) คือ ภาวะที่โครงสร้างของหัวใจมีความผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา โดยอาจมีผลต่อผนังกั้นหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดที่เชื่อมต่อกับหัวใจ เมื่อเป็นโรคจึงส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

 

สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

     สาเหตุของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดยังไม่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยง พันธุกรรมและสภาพแวดล้อมระหว่างการตั้งครรภ์ และการติดเชื้อบางชนิดในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมันในไตรมาสแรก ส่งผลต่อพัฒนาการของหัวใจทารก นอกจากนี้การได้รับยาบางชนิดขณะตั้งครรภ์ ก็อาจมีผลต่อความผิดปกติของหัวใจเด็ก

 

ชนิดของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ตามระดับออกซิเจนในเลือดและอาการที่แสดงออก ได้แก่

 

1.  โรคหัวใจชนิดเขียว

     โรคหัวใจชนิดเขียว (Cyanotic Congenital Heart Disease) เป็นภาวะที่เด็กมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ริมฝีปาก ปลายนิ้ว และเล็บเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำหรือม่วง เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดที่มีออกซิเจนต่ำไหลเวียนไปสู่ร่างกาย เด็กที่มีภาวะนี้มักมีการเจริญเติบโตช้า เหนื่อยง่าย และอาจมีอาการหายใจลำบาก โรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้ ได้แก่

 

  • Tetralogy of Fallot (TOF) – ภาวะที่หัวใจมีความผิดปกติ 4 อย่างร่วมกัน ทำให้เกิดอาการเขียวและอาจมีอาการหมดสติขณะออกแรง
  • Transposition of the Great Arteries (TGA) – ความผิดปกติที่หลอดเลือดแดงใหญ่ของหัวใจสลับตำแหน่งกัน ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

 

 

 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

 

 

 

2.  โรคหัวใจชนิดไม่มีอาการเขียว

     Acyanotic Congenital Heart Disease เป็นภาวะที่เด็กกลุ่มนี้ไม่มีอาการเขียว เนื่องจากร่างกายยังได้รับออกซิเจนเพียงพอ แต่หัวใจอาจทำงานหนักขึ้นจากความผิดปกติ เช่น รูรั่วที่ผนังกั้นหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบ โรคประเภทนี้พบได้มากกว่าชนิดเขียว โดยคิดเป็นประมาณ 85% ของโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดทั้งหมด ตัวอย่างของโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่

 

  • Ventricular Septal Defect (VSD) – ความผิดปกติที่ผนังกั้นหัวใจห้องล่างมีรูรั่ว ทำให้เลือดไหล หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
  • Patent Ductus Arteriosus (PDA) – ภาวะที่หลอดเลือดแดงที่เชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่และหลอดเลือดไปปอดไม่ปิดเองหลังคลอด ทำให้เลือดไหลเวียนผิดปกติ
  • Atrial Septal Defect (ASD) – ภาวะที่ผนังกั้นหัวใจห้องบนมีรูรั่ว ทำให้เลือดไหลเวียนผิดปกติและอาจส่งผลให้หัวใจโตขึ้น

 

การวินิจฉัยและการรักษา

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค

 

  • การเฝ้าติดตาม – กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาจติดตามอาการเป็นระยะ
  • การใช้ยา – เพื่อควบคุมอาการและลดภาระของหัวใจ
  • การสวนหัวใจ – ปิดรูรั่วหรือขยายลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัดในโรคหัวใจบางชนิด
  • การผ่าตัดหัวใจ – กรณีที่โรครุนแรงหรือซับซ้อนหรือไม่สามารถสวนหัวใจได้

 

 


โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ ถ้าตรวจพบเร็วและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ดังนั้น การฝากครรภ์และตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญ