เด็กไข้สูงเกิน 5 วัน อาจเสี่ยงเป็นโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease)

April 11 / 2025

โรคคาวาซากิ

 

 

 

     หากเด็กเล็กมีไข้สูงนานเกิน 5 วัน ร่วมกับอาการผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต มีแผลในปาก มือและเท้าบวม หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่ไข้หวัดหรือโรคติดเชื้อทั่วไป เด็กก็อาจเข้าข่ายเป็น "โรคคาวาซากิ" ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

ทำความรู้จักกับ “โรคคาวาซากิ”

     โรคคาวาซากิเป็นโรคที่พบได้ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะช่วงอายุ 6 เดือน - 5 ปี สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่แน่ชัด แต่นักวิจัยเชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับโรคนี้คือผลกระทบต่อหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดโป่งพอง (Coronary Aneurysm) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจในอนาคต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ และวัคซีนป้องกันไม่ได้

     แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคคาวาซากิยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ เช่น ไวรัสหรือแบคทีเรียบางชนิดที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติจนเกิดการอักเสบของหลอดเลือดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เนื่องจากโรคนี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ และอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคคาวาซากิ ทางที่ดีที่สุดคือการเฝ้าสังเกตอาการและรีบพาเด็กไปพบแพทย์ หากสงสัยว่าเข้าข่ายเป็นโรคนี้

 

หลังได้การรักษา “ไม่ควรรับวัคซีนเชื้อเป็น” เพราะไม่ได้ผล !

     หลังจากได้รับยาภูมิคุ้มกัน Immunoglobulin ในปริมาณสูง ไม่ควรรับวัคซีนชนิดเชื้อเป็น เป็นระยะเวลา 11 เดือน หลังจากนั้นจึงสามารถรับได้ตามปกติ สาเหตุคือฤทธิ์ของยาภูมิคุ้มกันยังคงอยู่ในร่างกาย ซึ่งอาจไปทำลายเชื้อที่อยู่ในวัคซีนชนิดเชื้อเป็นและส่งผลให้วัคซีนไม่ได้ผลตามที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิดเชื้อตายสามารถรับได้ตามปกติ เนื่องจากไม่มีผลกระทบจากยา Immunoglobulin

 

การวินิจฉัยและการรักษา

     แนวทางการรักษาหลักคือการให้ยาภูมิคุ้มกัน Immunoglobulin และยาแอสไพริน เพื่อลดการอักเสบและป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ เด็กที่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีมักฟื้นตัวได้ดี

 

 

 


โรคนี้แม้จะหายได้เองในบางกรณี แต่ไม่ควรรอให้หายเอง เพราะอาจทิ้งผลกระทบต่อหัวใจในระยะยาว ดังนั้นหากเด็กมีอาการเข้าข่าย ควรรีบพบแพทย์ทันที