มื้ออาหารของลูก มีพัฒนาการอย่างไร

April 16 / 2025

ลูกกินข้าว พัฒนาการ

 

 

 

     พัฒนาการด้านโภชนาการของเด็กเล็ก เป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงวัยแรกเริ่มของการรับประทานอาหารชนิดอื่นนอกเหนือจากนมแม่

 

อายุที่เหมาะสมในการเริ่มรับประทานข้าว

1.  ช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไป

ช่วงอายุ 6 เดือนขึ้นไปเป็นช่วงวัยที่เหมาะสม ซึ่งเด็กสามารถเริ่มรับประทานอาหารอื่นเสริมได้นอกเหนือจากนมแม่

 

  • อายุ 6 เดือน รับประทานอาหารมื้อหลักได้ 1 มื้อ โดยควรเริ่มจากข้าวต้มสุกบดละเอียดผสมกับผักและไข่แดงสุกครึ่งฟองสลับกับเนื้อสัตว์อื่น 1 ช้อนกินข้าว เช่น ปลา ตับบด และผลไม้สุกวันละ 1 ชิ้น
  • อายุ 7 เดือน ขึ้นไป สามารถเริ่มให้ไข่ต้มสุกครึ่งฟอง สลับกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ 1 ช้อนกินข้าวได้
  • อายุ 8 เดือน สามารถปรับเพิ่มอาหารเป็น 2 มื้อ
  • อายุ 9-12 เดือน เพิ่มเป็น 3 มื้อ โดยควรเพิ่มปริมาณอาหารและลักษณะอาหารให้มีเนื้อสัมผัสที่หยาบขึ้นเพื่อฝึกการเคี้ยวและการกลืน

 

 

 


นอกจากนี้ควรผสมน้ำมันพืชปริมาณครึ่งช้อนชาต่อวันในอาหาร เพื่อให้ได้กรดไขมันที่จำเป็นและได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ


 

 

 

2.  ช่วงอายุ 1 ขวบขึ้นไป

     เด็กสามารถเริ่มรับประทานข้าวสวยที่หุงนุ่มขึ้นและอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหลากหลายมากขึ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรส และอาหารที่มีความแข็งหรือเสี่ยงต่อการติดคอ

 

3.  ช่วงอายุ 2 ขวบขึ้นไป

     ช่วงอายุ 2 ขวบขึ้นไปสามารถรับประทานข้าวในลักษณะเดียวกับผู้ใหญ่ได้ แต่ยังควรควบคุมปริมาณรสชาติให้เหมาะสม และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมและน้ำตาลสูง

 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับเด็กเล็ก

  • อาหารที่มีลักษณะแข็งหรือเหนียว เช่น เมล็ดถั่วเปลือกแข็ง ลูกอม เยลลี่
  • อาหารที่มีขนาดใหญ่และเสี่ยงต่อการติดคอ เช่น องุ่นทั้งลูก ไส้กรอกทั้งชิ้น
  • อาหารที่มีรสจัด หรืออาหารที่มีการปรุงแต่งรส เช่น ขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน นมปรุงแต่งรสต่างๆ  

 

 

ข้อมูลจาก

ศศิภา กรินทรากุล

นักกำหนดอาหาร