เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้🍪
เราใช้ Cookies เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีที่สุด สรุปนโยบายความเป็นส่วนตัวและ Cookies อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ‘ไต’ ไม่ได้มีหน้าที่แค่เพียงขับของเสียออกจากร่างกาย แต่ไตยังมีหน้าที่ในการปรับสมดุลเกลือแร่ และควบคุมการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ เมื่อไตเกิดความผิดปกติ ก็มักส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายเกือบทุกส่วน ดังนั้น การดูแลไตให้มีสุขภาพแข็งแรง จึงมีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่น ๆ และหมอเฉพาะทางโรคไต เคยบอกว่า เราทุกคนสามารถเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการศึกษาและทำความเข้าใจถึงแนวทางการเกิดโรคไต รวมถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม เพียงเท่านี้ ก็เพียงพอที่จะทำให้เรามีสุขภาพไตที่ดี และยืดอายุอวัยวะส่วนนี้ให้สมบูรณ์อยู่กับเราไปนาน ๆ
ทำความรู้จักกับ ‘โรคไต’ โดยปกติ ไตจะทำหน้าที่กำจัดของเสียและสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกาย รวมไปถึงดูแลการหลั่งฮอร์โมน ควบคุมน้ำและแร่ธาตุในร่างกายให้สมดุล แต่เมื่อการทำงานของไตเกิดความผิดปกติ เกิดความเสียหาย หรือทำงานได้น้อยลง ก็ย่อมส่งผลให้ของเสียตกค้างอยู่ในร่างกาย จนก่อให้เกิดโรคไต ภาวะไตเสื่อม และหากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ก็อาจก่อให้เกิดภาวะไตวายได้ ซึ่งโรคไตแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
ภาวะไตวายเฉียบพลัน คือ ภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยจะมีอาการในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาวันหรือสัปดาห์ และมีอาการรุนแรงกว่าภาวะไตวายเรื้อรัง ในเบื้องต้น สามารถสังเกตอาการผิดปกติของผู้ป่วยได้จากอาการตัวบวม ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะเป็นสีน้ำล้างเนื้อ เมื่อตรวจปัสสาวะมักพบเม็ดเลือดแดงหรือโปรตีนปนออกมาด้วย
โดยส่วนใหญ่ อาการไตวายเฉียบพลันมักเกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย อาทิ การได้รับสารพิษ ผลข้างเคียงจากยา การรับประทานยาเกินขนาด หรือภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัวต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าภาวะไตวายเฉียบพลันจะมีอันตรายถึงชีวิต แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถมีโอกาสที่ไตจะฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้
ภาวะไตวายเรื้อรัง คือ ภาวะที่ไตเริ่มสูญเสียความสามารถในการทำงานทีละน้อยอย่างต่อเนื่องโดยใช้ระยะเวลาหลายปี สาเหตุส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน รวมถึงภาวะอื่น ๆ เช่น ไตอักเสบ หรือโรคถุงน้ำในไต
โดยส่วนใหญ่ ผู้ป่วยภาวะไตวายเฉียบพลันมักไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นในระยะแรก แต่จะสามารถสังเกตพบความผิดปกติจากการตรวจปัสสาวะแล้วพบว่ามีเม็ดเลือดแดงและโปรตีนปนออกมาด้วย ในระยะต่อมา จะค่อย ๆ แสดงความผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ น้ำหนักลด บวม โลหิตจาง ระบบประสาทผิดปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเพิ่มความรุนแรงและสามารถสังเกตอาการได้ชัดเจนขึ้นเมื่อการทำงานของไตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 25
5 กลุ่มเสี่ยงไม่ควรเลี่ยงตรวจสุขภาพไต โรคไตไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้ที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด อย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่ยังสามารถเกิดขึ้นในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
ผู้ที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) และโรคนิ่ว
ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไต รวมถึงโรคถุงน้ำในไต และโรคนิ่วในไต ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคไตมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 4 เท่า รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะไตวายสูงถึงร้อยละ 60
ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ การรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นประจำสามารถกระตุ้นให้การทำงานของไตเกิดความผิดปกติได้โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
ผู้ที่ดื่มน้ำน้อยหรือมากเกินไป เนื่องจากไตต้องใช้น้ำในการฟอกของเสียในร่างกายออกมาเป็นปัสสาวะ หากร่างกายขาดน้ำ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตและระบบทางเดินปัสสาวะ
9 สัญญาณอันตรายของผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการให้เห็นในระยะเริ่มแรก แต่เมื่อไตได้รับความเสียหายไปมากระดับหนึ่ง อาจเริ่มสังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ได้ดังนี้
อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผู้ป่วยมักรู้สึกไม่มีแรง น้ำหนักลด ผิวหนังแห้งแตก แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการตัวบวม และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น
คลื่นไส้ อาเจียน มีรสขมในปาก เบื่ออาหาร ไม่สามารถรับรสอาหารได้ตามปกติ
หายใจลำบาก เมื่อไตไม่สามารถขับปัสสาวะหรือเกลือแร่ได้ตามปกติ ผู้ป่วยมักมีอาการตัวบวม ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก เกิดเป็นภาวะหัวใจโต หรือภาวะน้ำคั่งในเยื่อหุ้มหัวใจหรือปอด ในบางรายอาจมีอาการปอดบวม หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตสูง
ตัวซีด เมื่อไตเสื่อม ร่างกายจึงไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ ผู้ป่วยจึงมักมีภาวะโลหิตจาง ในบางรายอาจเกิดความผิดปกติของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดออกง่าย เกิดจ้ำเลือดตามตัว
ชาปลายมือ ปลายเท้า อาการปลายประสาทเสื่อมส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการชา ปวดบริเวณบั้นเอว กล้ามเนื้อกระตุก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ปัสสาวะมักมีสีจาง โดยผู้ป่วยมักปัสสาวะได้น้อยลงเมื่อไตเสื่อมสภาพมากขึ้น
กระดูกเสื่อม เปราะบาง เนื่องจากไตมีส่วนในการสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งมีผลต่อระดับแคลเซียมในเลือด ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไตมักเกิดภาวะกระดูกพรุน ส่วนในผู้ป่วยเด็กจะหยุดเจริญเติบโตและมีร่างกายแคระแกร็น
ติดเชื้อง่าย ผู้ป่วยโรคไตมักมีภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ง่าย
ฮอร์โมนทางเพศเกิดความผิดปกติ ในผู้หญิง มักทำให้ประจำเดือนผิดปกติ ส่วนในผู้ชายมักพบว่าเป็นหมันหรือเกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
การดูแลร่างกายเพื่อป้องกันโรคไต สามารถเริ่มต้นด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
รักษาโรคไตกับหมอเฉพาะทางโรคไตที่คลินิกอายุรกรรมโรคไต โรงพยาบาลรามคำแหง พร้อมให้บริการตรวจวินิจฉัย ดูแลให้คำปรึกษาผู้ที่มีความเสี่ยง และรักษาผู้ป่วยโรคไตทุกชนิด ทั้งผู้ป่วยภาวะไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง โดยมุ่งเน้นการป้องกันและชะลอการเสื่อมของไต เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหัวใจหลัก