เมื่อลูก “ร้องกลั้น” จนหน้าเขียว พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร ?

April 18 / 2025

ร้องกลั้น

 

 

 

     เมื่อลูกร้องกลั้นจนหน้าเขียว สถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้พ่อแม่หลายท่านตกใจไม่น้อย แม้ว่าภาวะนี้อาจดูน่ากลัวและน่าเป็นห่วง แต่ในความเป็นจริง เด็กจะกลับมาหายใจได้เองตามปกติ อีกทั้งไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อสมองหรือมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก และภาวะนี้จะค่อย ๆ หายไปเมื่อเด็กโตขึ้น

 

ภาวะร้องกลั้น

     ภาวะร้องกลั้น (Breath-Holding Spells) เป็นอาการที่พบบ่อยในเด็ก โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์หงุดหงิด โกรธจัด โมโห เจ็บ หรือรู้สึกไม่พอใจ จนทำให้เด็กร้องไห้จนกลั้นหายใจซึ่งภาวะดังกล่าวสามารถนำไปสู่อาการเขียว (cyanosis) หรือหมดสติได้ ส่วนมากเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 4 ปี และหลังจากอายุเกิน 4 ปี ผู้ป่วยประมาณครึ่งอาการจะหายไป

 

ภาวะร้องกลั้นในเด็กแบ่งตามอาการได้ 3 แบบ

  • แบบเขียว (Cyanotic Breath Holding Spell) เกิดจากการที่เด็กร้องไห้หนักจนเกิดภาวะการกลั้นหายใจ ส่งผลให้ปากและใบหน้ามีสีเขียว เนื่องจากร่างกายการขาดออกซิเจน
  • แบบซีด (Pallid Breath Holding Spell) อาการของเด็กกลุ่มนี้เกิดจากการตอบสนองของปฏิกิริยาระบบประสาทอัตโนมัติมากเกินไป ทำให้หัวใจเต้นช้าและเด็กจะมีอาการคล้ายเป็นลมในเด็กโต
  • อาการแบบผสมทั้งแบบเขียวและแบบซีด (Mixed Episode)

 

สาเหตุของการร้องกลั้น

ในเด็กมีปัจจัยหลายอย่างที่กระตุ้นให้เกิดภาวะร้องกลั้น ดังนี้

 

1.  แสดงออกถึงความต้องการ

     โดยส่วนมาก เด็กจะร้องกลั้นจากสาเหตุนี้บ่อย เช่น ถูกขัดใจ ไม่ได้ดั่งใจ ทำให้เด็กเกิดสภาวะเครียดทางอารมณ์ “หงุดหงิด โกรธจัด โมโห” เด็กเล็กจึงมีอาการงอแง ร้องไห้หนัก จนถึงขั้นร้องกลั้น ในบางรายอาจมีอาการหมดสติ หรืออาการเกร็งกระตุกสั้น ๆ ร่วมด้วยได้

 

2.  ระบบประสาทยังพัฒนาไม่เต็มที่

     บางการศึกษาระบุว่า อาจมีสาเหตุมาจากปฏิกิริยาของระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติ ซึ่งระบบประสาทส่วนนี้มีหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะบางอย่าง เช่น การเต้นของหัวใจ และความดันโลหิตที่พาเลือดไปเลี้ยงสมอง การที่ระบบส่วนนี้มีความผิดปกติ จึงทำให้เกิดภาวะร้องกลั้นแบบซีดได้

 

3.  พันธุกรรมในครอบครัว

     ในผู้ป่วยร้องกลั้นหลายรายพบว่ามีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่หรือพี่น้องมีประวัติการร้องกลั้นเช่นกันในวัยเด็ก

 

4.  ภาวะขาดธาตุเหล็ก

     เกือบ 50% ของผู้ป่วยเด็กที่ร้องกลั้นมีภาวะขาดธาตุเหล็กแอบแฝงอยู่ เพราะการขาดธาตุเหล็กจะทำให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมองลดลง ซึ่งจะทำให้เด็กร้องกลั้นแล้วเขียวง่ายขึ้น

 

วิธีป้องกันการเกิดการร้องกลั้น

  • พ่อแม่ควรพยายามให้ทางเลือกกับลูกเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อต้านที่รุนแรงยิ่งขึ้น ให้เด็กได้เลือกสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างอื่นแทน ซึ่งอาจจะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจได้
  • หากผู้ป่วยเริ่มร้องไห้ขัดใจ พ่อแม่อาจต้องพาเข้ามุมหรือ Time-out วางลูกในสถานที่ที่ปลอดภัย เช่น วางให้นอนราบบนฟูกหรือเตียง อย่าอุ้มเขย่า หรือยกลอย

 

 


สิ่งสำคัญคือผู้ปกครองควรปฏิบัติตาม 2 ข้อ ดังกล่าว ตั้งแต่ช่วงแรกที่เริ่มร้องก่อนที่จะร้องรุนแรงจนกลั้นเขียว


 

 

 

 

  • หลังจากเด็กสงบลงแล้ว ค่อยพูดคุยอธิบายเหตุผลว่าอารมณ์โกรธเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่การร้องไห้ต่อต้านหรือดิ้นร้องเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
  • หากแพทย์มีธาตุเหล็กมาให้ทาน ควรทานตามคำสั่งแพทย์อย่างสม่ำเสมอ แต่หากผู้ปกครองปฏิบัติตามแล้ว ยังไม่สำเร็จหรือผู้ป่วยมีอาการหมดสติ, เกร็งกระตุกนานเป็นนาที ควรรีบพามาพบแพทย์