ภาวะหัวใจล้มเหลว รู้ต้นเหตุ เข้าใจอาการพร้อมป้องกันสัญญาณเสี่ยง

December 23 / 2024

 

หัวใจล้มเหลว

 

 

     เมื่อหัวใจเกิดล้มเหลว เพียงเสี้ยวนาทีก็เปลี่ยนหนึ่งชีวิตพร้อมหนึ่งหัวใจให้แน่นิ่งไปชั่วขณะ เสมือนเส้นแบ่งระหว่างความเป็นและตายนั้นทับซ้อนกัน ทั้งเฉียบพลันและเรื้อรังไม่รู้ได้แม้อายุน้อย ล่วงรู้ถึงสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว พร้อมเข้าใจสัญญาณเสี่ยงและป้องกันได้ทันกาลแม้ยามคับขัน 

 

ภาวะหัวใจล้มเหลว

     ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive Heart Failure) เป็นกลุ่มอาการจากความผิดปรกติของหัวใจที่ไม่สามารถสูบฉีดเลือดสู่ร่างกายได้มากเพียงพอ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักจนอ่อนล้า เกิดอาการเจ็บแน่นตามอก  โดยทั่วไปสาเหตุเกิดจากเยื่อหุ้ม-ลิ้นหัวใจผิดปรกติ การใช้สารเสพติด การติดเชื้อไวรัส การได้รับเคมีบำบัดบางชนิดหรือเป็นผลสืบเนื่องจากโรคเดิม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ความดันเลือดสูง โรคลิ้นหัวใจรูมาร์ติก โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจพิการแต่กำเนิด

 

4 ระยะของภาวะหัวใจล้มเหลว

  • Stage A ยังไม่แสดงอาการเด่น แต่มักแสดงให้เห็นเป็นสัญญาณเสี่ยงจากโรคที่เกิดก่อนหน้า เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะความดันโลหิตสูง
  • Stage B เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า หายใจหอบ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในรายที่ไม่เคยแสดงอาการมาก่อน
  • Stage C แสดงอาการเด่นชัด เช่น แน่นอก ใจสั่น หมดแรง หายใจสั้น ซึ่งส่งผลให้ทำกิจวัตรประจำวันได้ลำบาก
  • Stage D อาการทวีรุนแรง แน่นอก หายใจลำบาก ไร้เรี่ยวแรงขยับร่างกาย

 

 

หัวใจล้มเหลว

 

 

ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว

แม้ว่า American Heart Association ได้จำแนกชนิดของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวแบบแยกส่วนซีกซ้าย-ขวา เนื่องจากปริมาณสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ น้อยกว่า 40% ทว่ายังสามารถแบ่งตามช่วงเวลาที่แสดงอาการ

 

  • หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Heart Failure) เกิดขึ้นรวดเร็วและอาการค่อยแย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งตามแต่สภาพหัวใจของบุคคลนั้น เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มักพบบ่อยในกลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • หัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (CHF: Chronic Heart Failure) ไม่แสดงอาการในทันทีและอาการไม่จำเพาะจึงต้องตรวจเพิ่มเพื่อประกอบการวินิจฉัย บางรายมีผลสืบเนื่องจากโรคเรื้อรังอื่น เช่น โรคเบาหวาน


สัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลว

  • เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง เมื่ออาการหนักขึ้นอาจรู้สึกเหนื่อยแม้หยุดพัก
  • หน้าชา ขาบวม หากใช้นิ้วกดจะเกิดบุ๋มบริเวณหลังเท้าและหน้าขา
  • คลื่นไส้ สูญเสียความอยากอาหาร
  • ท้องโต เนื่องจากมีภาวะคั่งของน้ำและเลือด
  • หน้ามืด อ่อนเพลีย หายใจลำบากหากนอนราบ บางรายเกิดไตวายร่วม

 

 

หัวใจล้มเหลว

 

 

 

การวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลว

     เมื่อเกิดอาการ แพทย์จะเริ่มตรวจเลือดร่วมกับอัลตราซาวด์เพื่อสืบโรค โดยดูจากการทำงานของหัวใจล่างซ้าย (LVEF: Left Vetricular Ejection Fraction) หากค่าลดลงแสดงว่าหัวใจเกิดความเสียหาย ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยออกแรงได้น้อยและใช้ชีวิตลำบาก

 

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว

1.  การรักษาด้วยยา

     แพทย์เริ่มประเมินสภาพก่อนเลือกใช้ยาให้เหมาะสมตามกลุ่มอาการ เช่น กลุ่มยาขับปัสสาวะ กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์แองจิโอเทนซิน กลุ่มยาปิดกั้นเบต้า กลุ่มยาดิจิทาลิสหรือกลุ่มยาไนเตรท ซึ่งสามารถใช้เพื่อชะลอความเสื่อมของอวัยวะร่วมกับป้องกันภาวะเสี่ยงอื่นที่ตามมา (อ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาลปิยการุณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล)

 

2.  การรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ

     แพทย์สามารถใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเพื่อใช้ควบคุมจังหวะการเต้น ตรวจจับความผิดปรกติและป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยมากใช้รักษาหัวใจช่องล่างบีบไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งอาจใช้คู่กับเครื่องกระตุกไฟฟ้า

 

3.  การใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ

     การใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจจัดเป็นวิธีคงสภาพให้หัวใจสูบฉีดสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ใกล้เคียงกับภาวะปรกติ ซึ่งใช้สำหรับคนที่รอการผ่าตัดและใช้รักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้

 

4.  การทำบายพาส

     เนื่องด้วยหัวใจล้มเหลวเกิดจากสภาวะขาดเลือดมาหล่อเลี้ยง ทำให้การผ่าตัดเบี่ยงเส้นทางหัวใจเป็นหนึ่งการรักษาที่ช่วยให้เลือดไหลสู่หัวใจได้สะดวก ซึ่งมักใช้กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือภาวะอื่นตามแต่ดุลยพินิจของแพทย์

 

5.  การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ

     ในรายที่อาการรุนแรงจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจากผู้บริจาค ซึ่งอาจเปรียบเทียบเห็นจากข้อดีที่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยให้น้อยที่สุด

 

การดูแลตัวเองจากภาวะหัวใจล้มเหลว

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมผาดโผนซึ่งสุ่มเสี่ยงให้หัวใจทำงานหนัก เช่น การนั่งรถไฟเหาะ
  • ลดการรับประทานเกลือซึ่งอุดมด้วยโซเดียม ส่งผลให้ความดันสูงจนเกิดหัวใจล้มเหลว
  • ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ละการสูบบุหรี่ เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • คลายความเครียดและนอนหลับให้เพียงพอ

 

 

 

ดูแลหัวใจให้ห่างไกลโรคกับโรงพยาบาลรามคำแหง

     อุ่นกายสบายใจเมื่อใกล้หมอ ห่างไกลจากภาวะหัวใจล้มเหลวกับศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง มอบความหวังใหม่สู่ชีวิตอีกครั้งให้ก้าวเดินต่อไปอย่างเป็นสุข ภายใต้การรับรองมาตรฐานโลก AACI จากประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมเทคโนโลยีการรักษาสมัยใหม่จากเหล่าแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางและหลักการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอดและออกกำลังกายที่เริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้