เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้🍪
เราใช้ Cookies เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีที่สุด สรุปนโยบายความเป็นส่วนตัวและ Cookies อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
เมื่อพูดถึงโรคลิ้นหัวใจรั่ว หลายคนคงเกิดคำถามว่าจริง ๆ แล้ว เป็นโรคร้ายแค่ไหน สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ ต้องผ่าตัดวิธีใด และต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนานไหม วันนี้ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหงจึงทำหน้าที่ให้ความรู้เรื่องโรคลิ้นหัวใจรั่ว สาเหตุ อาการ การวินิจฉัยและการรักษาด้วยวิทยาการแพทย์สมัยใหม่ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้สบายยิ่งขึ้น
หัวใจของเราประกอบด้วยลิ้นหัวใจ 4 ลิ้น ซึ่งมีหน้าที่เคลื่อนไหวและรับแรงดันจากเลือดตลอดเวลา เมื่อเกิดความผิดปกติของลิ้นหัวใจขึ้น ลิ้นหัวใจจะปิดไม่สนิทและเกิดเป็น ‘โรคลิ้นหัวใจรั่ว’ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เลือดไหลย้อนกลับ หัวใจของเราจึงต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้นด้วยการบีบและการสูบฉีดเลือดเพื่อให้ร่างกายได้รับเลือดอย่างเพียงพอ บางรายที่มีอาการมากซึ่งอันตรายต่อชีวิตมากเนื่องจากมีผลให้หัวใจล้มเหลว
สาเหตุของลิ้นหัวใจรั่วส่วนใหญ่มักมาจากความผิดปกติของหัวใจที่มีความบกพร่องตั้งแต่กำเนิด ซึ่งยังสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิ
ความเสื่อมตามอายุ เมื่อเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจเกิดการเสื่อมสภาพและมีหินปูนมาเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้การเปิดหรือปิดของลิ้นหัวใจเกิดความผิดปกติ
อ่านเพิ่มเติม : การตรวจหาหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ CT Calcium Score
สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณลำคอ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และลิ้นหัวใจตามมา
โดยเฉพาะการติดเชื้อในกระแสเลือดส่งผลให้เชื้อโรคไปเกาะและเกิดการอักเสบที่บริเวณลิ้นหัวใจ
ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอาจส่งผลให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่วและกล้ามเนื้อหัวใจตายได้
โรคลิ้นหัวใจรั่วมักไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม แพทย์จึงต้องสังเกตอาการของผู้ป่วยเป็นระยะ โดยอาจแสดงออกได้หลากอาการ เช่น อาการเหนื่อยง่าย หายใจถี่ รู้สึกอ่อนเพลีย มีอาการใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก บางรายอาจมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือได้ยินเสียงฟู่บริเวณลิ้นหัวใจ รายที่มีอาการรุนแรงอาจเป็นลมหมดสติร่วมกับภาวะรุนแรงอื่น
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ทำการเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของโรค หากพบว่าความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอื่นร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณาให้รับการตรวจอื่นเพิ่ม
เทคโนโลยีในการวินิจฉัยโรคหัวใจ มีอะไรบ้าง ศูนย์หัวใจจะมาเล่าให้ฟัง การทดสอบสมรรถภาพของหัวใจมีวิธีที่หลากหลายขึ้นอยู่กับอาการของโรค ดังนี้
เครื่องอัลตราซาวนด์หัวใจ (Echocardiogram) หรือ การทำเอคโค่หัวใจ เป็นการตรวจหัวใจ เพื่อดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ แรงดันในห้องหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูงเพื่อจับภาพเคลื่อนไหวของหัวใจ ทำให้สามารถประเมินลักษณะกายภาพของหัวใจ รวมถึงการทำงานของหัวใจได้แบบเวลาจริง
เครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac Resonance Imaging หรือ MRI) เป็นวิธีการตรวจหัวใจที่ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโดยไม่ใช้รังสีเอกซเรย์ สามารถสร้างภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของหัวใจและหลอดเลือดที่มีรายละเอียดได้อย่างชัดเจนโดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใส่อุปกรณ์เข้าไปในร่างกาย