โรคระบาดอันตราย อะไรบ้าง ที่มาพร้อม “ฝน” พร้อมวิธีป้องกัน

February 17 / 2025

โรคระบาดหน้าฝน

 

 

     ช่วงนี้ฝนก็ยังคงตกลงมาอย่างต่อเนื่องแทบทุกวัน ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการป่วยได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ไข้หวัดเท่านั้นที่ทำให้หลายคนป่วยไม่สบายเอาได้ง่ายในช่วงนี้ แต่ยังมีโรคอื่น ๆ อีก ที่มาพร้อมกับฝนและทำให้ป่วยได้หรือจะเรียกว่าโรคระบาดช่วงฤดูฝนก็ได้ แต่จะมีโรคใดบ้างนั้นมาดูกันค่ะ

 

 

โรคระบาดหน้าฝน

 

 

4 โรคระบาดในช่วงฤดูฝน

1. ไข้หวัดใหญ่

     ไข้หวัดใหญ่เป็นกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่ค่อนข้างพบบ่อย อาการของโรคพบได้ตั้งแต่การมีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอและมีน้ำมูก รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างภาวะปอดอักเสบและอื่น ๆ คำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดโรคง่าย คือ ล้างมือให้บ่อย สวมหน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ป่วย

 

 

โรคระบาดหน้าฝน

 

2. ไข้เลือดออก 

     ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงจะวางไข่ในน้ำที่ขังอยู่ตามที่ต่าง ๆ ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก มีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน จากนั้นไข้จะลดลงและมีจุดเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็นจนนำไปสู่อาการช็อกได้ คำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดโรคคือการทายากันยุง การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกและอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์และนักสาธารณสุข

 

 

โรคระบาดหน้าฝน

 

 

3. ภาวะอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

     ภาวะอุจจาระร่วงเฉียบพลันเป็นกลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย ภาวะนี้สามารถเกิดจากการทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ โรคบิด อาหารเป็นพิษ ผู้ป่วยจากภาวะนี้จะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว มีไข้ ปวดบิดในท้อง หากได้รับการติดเชื้อก็อาจมีอุจจาระปนมากับเลือดได้ คำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดโรคคือ ทานร้อน ช้อนกลางและล้างมือให้สะอาด

 

 

โรคระบาดหน้าฝน

 

 

4. โรคฉี่หนู

     โรคฉี่หนูเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อที่ผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ส่วนใหญ่โรคนี้จะพบการติดเชื้อในสุนัข หนู สุกร โค กระบือ ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเกษตรกร คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ หรือคนที่ย่ำอยู่ในน้ำท่วมขังนาน ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขา ตาแดง ยิ่งไปกว่านั้นคือประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย ช็อก คำแนะนำเพื่อป้องกันการเกิดโรคคือการไม่ลุยน้ำขังและการสวมใส่รองเท้าเพื่อป้องกัน

 

 

โรคระบาดหน้าฝน

 

 

 


หากใครที่มีอาการของโรคเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมโดยเร็วนะครับ ก่อนที่จะเป็นมากขึ้นและเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเพิ่มความเสี่ยง


 

 

แก้ไข

08/09/2566