เมื่ออาการปวดหัวในเด็ก อาจไม่ใช่เรื่องเด็กๆ อย่างที่คุณคิด

January 25 / 2024

 

 

 เมื่ออาการปวดหัวในเด็ก อาจไม่ใช่เรื่องเด็กๆ อย่างที่คิด

 

 

 

 

นพ. พีรธัช โชคมั่งมีพิศาล

กุมารเวชศาสตร์ ระบบประสาทวิทยา

 

 

 


 

 

 

อาการปวดหัวในเด็ก เป็นหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย โดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น มีภาวะไข้, ไซนัสอักเสบ, จากความเครียด (Tension headache) แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะปวดหัวในเด็ก อาจเกิดจากสาเหตุที่อันตรายได้ ดังนั้น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จึงควรใส่ใจและไม่เพิกเฉยต่ออาการปวดหัวของลูก

 

 

อาการปวดหัวในเด็กเกิดจากอะไร?

 

อาการปวดหัวในเด็ก สามารถแบ่งได้ เป็น 2 แบบ

 

1. อาการปวดหัวแบบปฐมภูมิ (Primary headache) เป็นอาการปวดหัวที่ไม่มีสาเหตุหรือพยาธิสภาพที่ชัดเจน เช่น อาการปวดหัวไมเกรน (Migraine headache), อาการปวดหัวจากความเครียด (Tension typed headache)

 

 

 

 

2. อาการปวดหัวแบบทุติยภูมิ (Secondary headache) เป็นอาการปวดหัวที่มีสาเหตุหรือพยาธิสภาพ โดยอาจจะมีสาเหตุที่ไม่อันตราย เช่น มีไข้ หรือ การติดเชื้อบริเวณไซนัส แล้วปวดหัว หรือ มีสาเหตุที่อันตราย อย่างเช่น มีภาวะติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง (CNS infection), มีก้อนเนื้องอกในระบบประสาท, มีเลือดออกในสมอง หรือ มีภาวะความดันในสมองสูง (Increased intracranial pressure) ซึ่งหากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษา อาจจะส่งผลถึงแก่ชีวิตได้

 

 

 

 

 

อาการปวดหัวในเด็กอย่างไร ที่พ่อแม่ไม่ควรเพิกเฉย ควรรีบมาพบแพทย์

 

หากลูกของท่านมีอาการปวดหัวลักษณะแบบนี้

 

  • อาการปวดหัวรุนแรงฉับพลันทันที อาจจะเกิดจาก ภาวะเลือดออกในสมองได้
  • มีอาการอื่นทางระบบประสาทร่วมด้วย ชัก อ่อนแรง ซึม เดินเซ เห็นภาพซ้อน หรือ จะจำง่ายๆ ว่า “ชัก อ่อน ซึม เซ ซ้อน”
  • อาการปวดหัวเรื้อรังที่ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ  ปวดมากจนอาเจียน
  • มีอาการปวดหัวมากจนต้องตื่นมาตอนกลางคืน (awakening pain) หรือ ตื่นมาแล้วปวดหัวมาก
  • มีอาการปวดหัวมากขึ้น เมื่อ ไอ จาม เบ่ง

 

 

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าอาการปวดหัวอันตรายหรือไม่?

 

โดยปกติ มักวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย การตรวจค้นเพิ่มเติม จะทำในกรณีที่ประวัติและการตรวจร่างกาย สงสัยว่าอาจจะมีสาเหตุที่อันตรายในสมอง

 

  • การตรวจภาพสมอง (CT scan หรือ MRI) พิจารณาทำ ในกรณีที่จากประวัติและการตรวจร่างกาย ชวนให้สงสัยว่าอาจจะมีพยาธิสภาพในสมอง เช่น มีเนื้องอกในสมอง มีน้ำคั่งในโพรงสมอง

 

  • การเจาะน้ำไขสันหลัง จะพิจารณาในกรณีที่สงสัยภาวะติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง หรือ ความดันในสมองสูงแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Intracranial Hypertension)

 

อาการปวดหัวในเด็กแต่ละแบบ รักษาอย่างไร?

 

  • หากปวดหัวฉับพลันแต่ไม่รุนแรงมาก ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน และ มีสาเหตุที่พออธิบายได้ เช่น มีไข้ อากาศร้อน นอนไม่พอ หลังได้ยินเสียงดัง อาจจะพิจารณาให้ยาพาราเซตามอลร่วมกับให้นอนพัก และ สังเกตอาการ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์

 

  • หากปวดหัวฉับพลันอย่างรุนแรง หรือ ปวดหัวฉับพลันร่วมกับมีสัญญาณเตือนอย่างที่อธิบายไว้ข้างต้น ควรรีบไปพบแพทย์

 

  • หากปวดหัวเรื้อรัง (ปวดหัว นานเกินกว่า 15 วัน) ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาตามการวินิจฉัย

 

อาการปวดหัวเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลทำให้เกิดโรคร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

 

นัดพบแพทย์

นพ. พีรธัช โชคมั่งมีพิศาล

กุมารเวชศาสตร์ ระบบประสาทวิทยา