เช็คอาการ คุณเข้าข่ายภาวะหมดไฟ (Burnout) ในการทำงานหรือยัง

January 06 / 2025

 

 

 

เช็คอาการ คุณ “เข้าข่ายภาวะหมดไฟ (Burnout)” ในการทำงานหรือยัง?

 

 

ภาวะหมดไฟ

 

 

 

     สถานการณ์ในปัจจุบัน ทำเอาหลายๆ คนที่ทำงานต้องวิตกกังวล ว่าจะมีงานทำต่อหรือไม่ หรือต้องพักงานยาวเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่าช่วงนี้หลายคนในวัยทำงานอาจมีความทุกข์หลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิต เช่น เครียด หดหู่ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ร่างกายอ่อนแรง ไม่มีสมาธิ ฯลฯ จนทำให้เกิดความกังวลว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือเปล่า!  

 

 


แต่แท้จริงแล้วอาการเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงภาวะซึมเศร้าได้ชัดเจนเสียทีเดียว แต่อาจเป็นตัวชี้วัดว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout) ในการทำงานเท่านั้น


 

 

 

ภาวะหมดไฟ

 

 

ภาวะหมดไฟในการทำงาน

     ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) คือการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจอันเนื่องจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลัก ได้แก่ ขาดความมั่นใจและแรงจูงใจในการทำงาน รู้สึกเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกด้อยค่าในความสามารถของตน และรู้สึกท้อแท้ว่าตนไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ สุดท้ายมีความคิดเชิงลบกับคนในที่ทำงาน ทำให้รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือลูกค้า

 

 

อาการของภาวะหมดไฟในการทำงาน

โดยผู้ที่มีอาการหมดไฟในการทำงานจะมีความรู้สึกในลักษณะของการทำงานในรูปแบบที่

 

  • ภาระงานหนักและปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อนต้องทำในเวลาเร่งรีบ
  • ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงานไม่เป็น
  • ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป
  • รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
  • ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกับเพื่อนร่วมงาน
  • ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตัวเอง

 

 

ภาวะหมดไฟ

สัญญาณก่อนมีภาวะหมดไฟ

ระยะเวลาก่อนหมดไฟในการทำงานนั้นจะแบ่งออกได้ 5 ระยะ ดังนี้

 

  • ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) ช่วงเริ่มงานซึ่งคนทำงานตั้งใจและเสียสละเพื่องานเต็มที่ พร้อมปรับตัวให้เข้ากับองค์กร
  • ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตัวเองอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการทั้งในแง่การได้รับค่าตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ อาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความคับข้องใจและเหนื่อยล้า
  • ระยะไฟตก (brownout) รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรังและหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเชน ผู้ป่วยแสดงพฤติกรรมเพื่อหนีความคับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน
  • ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข จะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่
  • ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากได้มีโอกาสผ่อนคลาย ได้พูดคุยกับคนที่ไว้ใจและให้กำลังใจ รวมถึงได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตัวเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย


 

     อย่างไรก็ตาม หากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลด้านต่างๆ เช่น ผลด้านร่างกายอาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ผลด้านจิตใจ บางคนอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ ส่งผลต่อการทำงาน อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรืออาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด

 

 

ภาวะหมดไฟ

 

การบำบัดหรือรักษาควรเริ่มตั้งแต่ระยะไฟตก

  • การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟมากจนเกินไป และถ้าหากเป็นไปได้ควรลาพักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อปรับสมดุลของร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ
  • การจัดระเบียบการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำงาน เช่น โฟกัสกับงานแต่ละชิ้นตามลำดับความสำคัญ กำหนดเวลาที่จะใช้ตอบอีเมลล์ในแต่ละวัน ไม่นำงานกลับมาทำต่อที่บ้าน หรือนอกเวลางาน
  • การผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมนอกเวลาทำงาน เช่น ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ท่องเที่ยว ฯลฯ นอกจากนี้การทำสมาธิ และฝึกฝนเทคนิคการผ่อนคลายก็เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ
  • การลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร และจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะการที่คุณออนไลน์ตลอดเหมือนเป็นการเปิดช่องทางให้ทุกการสื่อสารรวมทั้งเรื่องงานเข้ามาหาโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น การนั่งตอบอีเมลล์ในวันหยุด เสียเวลาพักผ่อนทั้งวันกับการเล่นเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรมก็เป็นได้
  • การปรับทัศนคติในการทำงานของคุณ จัดการความเครียดซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะ Burnout อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจ คือ ความเครียดในการทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ความเครียดในระดับสะสมบ่งบอกถึงความใส่ใจในการทำงานของคุณ อันจะนำมาซึ่งความรักในตัวเองและการเติบโตในชีวิต
  • การพัฒนาทักษะการปรับตัว การสื่อสาร การแก้ปัญหา และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและสร้างขอบเขตในการทำงาน หากคุณไม่เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ยึดถือความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป ไม่เชื่อใจให้ผู้อื่นร่วมทำงานด้วย คุณจะกลายเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ เคร่งเครียดแบกภาระงานที่มากเกินไป
  • การขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้าง พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนากับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย ใช้เวลามากขึ้นกับคนที่เข้าใจและมองเห็นคุณค่าในตัวของคุณ

 

 

อาการหมดไฟจากการทำงานอาจไม่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้นาน โรคซึมเศร้าอาจตามมา ส่งผลให้เป็นปัญหาเรื้อรังของคนวัยทำงานหากขจัดปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นวิธีที่ดีที่สุด 

 

 

แก้ไข

10/03/2565