ในบทความที่แล้ว เราได้พูดคุยกันถึงแผลที่เกิดจากโรคเบาหวาน ว่าสิ่งนี้คืออะไรและอันตรายอย่างไร ทำให้เราได้รู้ว่าภาวะแทรกซ้อนนี้ อาจสร้างผลกระทบรุนแรงต่อผู้ป่วยเบาหวานไม่น้อยเลย ยิ่งถ้าไม่ใส่ใจดูแลรักษาให้ดี อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียอวัยวะ จากความจำเป็นที่จะต้องตัดขาเพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามได้ เพื่อป้องกันผลกระทบเหล่านั้นอย่างทันท่วงที ในบทความนี้เราจะมาเผยวิธีสังเกตอาการ รวมถึงแนวทางการป้องกันและสถานที่ที่พร้อมให้การรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ทุกท่านได้เบาใจและคลายกังวล
วิธีสังเกตแผลเบาหวานนั้นไม่ยาก แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยเบาหวานมักไม่รู้ตัวเมื่อเกิดแผลแบบนี้ขึ้น โดยเฉพาะบริเวณเท้า กว่าจะรู้ตัว แผลก็เกิดการอักเสบหรือมีหนองไหลออกมาจากแผล ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงควรหมั่นสังเกตร่างกาย และอาการผิดปกติต่าง ๆ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจนำมาซึ่งการสูญเสียอวัยวะ โดยสามารถสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ อาทิ
สีผิวเปลี่ยนไปโดยเฉพาะบริเวณนิ้วเท้า หรือปลายเท้า อาจมีสีคล้ำขึ้น เนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือด
ขนน้อยลง โดยสามารถสังเกตได้จากขนที่แขน นิ้วเท้า หรือหน้าแข้ง โดยสาเหตุของขนที่ขึ้นน้อยลงนี้ เนื่องมาจากไม่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงให้เส้นขนเจริญเติบโต
มีอาการคันโดยที่ไม่มีรอยโรค ซึ่งสืบเนื่องมาจากผู้ป่วยเบาหวานมักมีผิวแห้ง ในบางรายอาจพบว่าเล็บหนาขึ้นและแตก ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดบาดแผลจากการกดทับ หรือเล็บขบได้
รู้สึกชา หรือแสบร้อนบริเวณปลายมือหรือปลายเท้า บางครั้งอาจจะพบว่ามีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ อาจรู้สึกปวดร้อน หรือมีอาการบวม เนื่องจากการคั่งของของเหลวซึ่งเกิดจากการที่ระบบไหลเวียนเลือดทำหน้าที่ได้ลดลง
มีน้ำหนองไหลออกมาจากแผล ในช่วงแรกผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่าแผลเริ่มมีหนอง แต่สามารถสังเกตได้จากของเหลวที่มีกลิ่นผิดปกติไหลออกมาจากผิวหนัง ซึ่งหากผู้ป่วยพบว่าเริ่มมีน้ำหนองไหล ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้อตายหรือการสูญเสียอวัยวะ
รับประทานอะไร ช่วยไม่ให้แผลจากโรคเบาหวานลุกลาม ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลายทางโภชนาการ โดยเน้นรับประทานผักผลไม้ที่มีแป้งต่ำ และเลือกรับประทานโปรตีน และคาร์โบไฮเดรตชนิดที่มีใยอาหารสูง เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ อาหารที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเลือกรับประทาน ได้แก่
ผักใบเขียวมีประโยชน์ในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้คงที่ และชะลอการดูดซึมกลูโคสให้ช้าลง และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่ผู้ป่วยเบาหวานมักมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ได้แก่ โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูงและมะเร็งบางชนิด
เนื้อปลาเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 มื้อ สามารถรับประทานได้ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล เนื่องจากเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ ย่อยง่าย ถือเป็นโปรตีนคุณภาพดี และเป็นแหล่งของโอเมก้า 3 ซึ่งมีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพหัวใจของผู้ป่วย
ธัญพืชเต็มเมล็ด รวมถึงธัญพืชไม่ขัดสี ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้อง ควินัว และข้าวโอ๊ต ซึ่งมีเส้นใยอาหาร สารอาหารต่าง ๆ และสารพฤกษเคมีที่สามารถช่วยในการชะลอการดูดซึมอาหาร ส่งเสริมให้ร่างกายมีความไวต่ออินซูลิน และมีกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลที่มากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้อีกด้วย
ผลไม้ตระกูลเบอร์รีเป็นผลไม้ที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ ใยอาหารสูง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาพบว่าผลไม้ตระกูลเบอร์รี่นั้นไม่เพียงแต่จะสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ยังมีส่วนช่วยจำกัดกลูโคสเช่นกัน
อะโวคาโดเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานต่ำแม้จะอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งนอกจากจะอัดแน่นด้วยคุณค่าสารอาหารอื่น ๆ แล้ว เมื่อผู้ป่วยเบาหวานรับประทานไปจะทำให้รู้สึกอิ่มนาน และสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี โดยปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ป่วยเบาหวานคือควรทานวันละครึ่งลูก
ชาเขียวมีส่วนช่วยในการลดการดูดซึมกลูโคสระหว่างการย่อยอาหารในลำไส้เล็ก และยังมีส่วนช่วยควบคุมไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นมากเกินไปหลังมื้ออาหาร การดื่มชาเชียวในผู้ป่วยเบาหวาน นับเป็นตัวเลือกที่ดี เนื่องจากชาเขียวไม่มีแคลอรีและน้ำตาล แต่ควรระมัดระวังปริมาณคาเฟอีนจากการดื่มมากเกินไป
ข้าวกล้องเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน มีใยอาหารสูง และจัดเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำกว่าข้าวขาว เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากสามารถช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้
รักษาแผลจากโรคเบาหวาน ที่โรงพยาบาลรามคำแหง หากพบว่ามีแผลอักเสบเรื้อรังที่เท้า อย่าได้นิ่งนอนใจเพราะนั่นอาจนำมาซึ่งความสูญเสีย รีบเข้าพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาโดยละเอียด โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ที่ศูนย์รักษาแผลเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง
การหมั่นสังเกตตัวเองและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คือ กุญแจสำคัญที่จะช่วยป้องกันผู้ป่วยเบาหวานจากภาวะแทรกซ้อนแสนน่ากลัว แต่อย่างไรก็ดี อย่าลืมตรวจเช็กสุขภาพและอาการของโรคอย่างต่อเนื่องกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คิดไม่ฝันอย่างแน่นอน