โรคภูมิแพ้ (Allergy) เป็นหวัดบ่อยๆ เป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่

January 08 / 2024

 

 

โรคภูมิแพ้ (Allergy) 

 

 

 

โรคทางภูมิแพ้เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากร่างกายได้รับสารที่แพ้เข้าไปและเกิดปฏิกิริยาของสารแพ้กับภูมิคุ้มกัน อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะหนึ่งหรือหลายอวัยวะร่วมกันได้ อาการของผู้ป่วยมีได้ทั้งทาง ตา หู คอ จมูก ทางเดินหายใจส่วนล่าง ทางเดินอาหารหรือทางผิวหนัง สารแพ้มีอยู่มากมายหลายชนิด คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ก็อาจแพ้สารคนละชนิดกับอีกคนได้ อีกทั้งสารก่อภูมิแพ้มีความแตกต่างมากน้อยในแต่ละที่ด้วย

 

 

โรคภูมิแพ้ติดต่อหรือไม่ 

 

แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ก็สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ พบว่า ถ้าพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นประมาณ 60% แต่ถ้าพ่อหรือแม่ เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกมีโอกาสเป็นประมาณ 30%
 

 

เป็นหวัดบ่อยๆ เป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ 

 

 

คำว่า "โรคหวัด" เป็นคำรวม ๆ มักหมายถึงอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล, จาม, คันหรือแสบจมูก, เจ็บคอ เป็นต้น โรคภูมิแพ้ทางจมูกก็มีอาการเหล่านี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นในกรณีที่เป็นหวัดบ่อยๆ ก็อาจมีสาเหตุมาจากโรคภูมิแพ้ได้ แพทย์สามารถวินิจฉัยได้โดยร่วมกับการตรวจและทดสอบภูมิแพ้
 


โรคภูมิแพ้อันตรายหรือไม่

 

โรคภูมิแพ้ส่วนใหญ่เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกรำคาญ อึดอัด ส่วนอันตรายที่อาจเกิดได้ ได้แก่

  1. การแพ้โดยตรง เช่น แพ้อาหาร แพ้แมลงกัดต่อยบางชนิด เป็นต้น อาการที่เกิดค่อนข้างมาก และเป็นในระยะเวลาสั้นๆ เช่น บวม, ผื่นคัน, หอบ หรือ ช็อค เสียชีวิตได้

                                         

     
  2. ผลกระทบข้างเคียงต่ออวัยวะต่างๆ เช่น ไซนัสอักเสบ, หูน้ำหนวก, คออักเสบ เป็นต้น

 

 

โรคภูมิแพ้ใช่ภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือไม่ 

 

โรคทั้งสองเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันเหมือนกัน แต่กลไกการเกิดต่างกัน เพราะฉะนั้น โรคทั้งสองจึงไม่เกี่ยวข้องกันเลย
 


โรคภูมิแพ้รักษาอย่างไรและหายขาดหรือไม่ 

 


สิ่งที่สำคัญที่สุด ในการรักษาโรคภูมิแพ้ คือ การหลีกเลี่ยงสารที่แพ้ เพราะถ้าไม่พบสารที่แพ้ ก็จะไม่เกิดปฏิกิริยาทางภูมิแพ้ขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ว่าแพ้อะไรและหลีกเลี่ยงอย่างไรจึงสำคัญมาก วิธีการรักษาอื่น ๆ ได้แก่

  1. การกินยา, พ่นยา, ฉีดยา เนื่องจากในปฏิกิริยาภูมิแพ้ จะมีสารเคมีหลายชนิดเกิดขึ้นในร่างกาย ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ จะไปมีผลต่ออวัยวะต่าง ๆ จนเกิดอาการขึ้นมาได้ การใช้ยาจึงเป็นตัวแก้ไขของสารเคมีเหล่านี้ ที่สำคัญได้แก่ ยากลุ่ม Antihistamine, Steroid แต่เนื่องจากยากลุ่ม Steroid ชนิดกินหรือฉีดแม้ว่าจะทำให้อาการทางภูมิแพ้ลดลงอย่างมาก และรวดเร็ว แต่อันตรายก็สูงมากเช่นกัน เพราะฉะนั้น การใช้ยาชนิดนี้ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์อย่างถูกต้อง
  2. การกระตุ้นภูมิแพ้ต่อสารภูมิแพ้ วิธีนี้เป็นการนำสารที่แพ้ (ผู้ป่วยต้องถูกทดสอบก่อนว่าแพ้อะไร) มากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อสารนั้น ๆ ในระดับที่เหมาะสม แต่วิธีนี้ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมืออย่างมาก เพราะการรักษาต้องใช้เวลานาน และต่อเนื่องจึงจะได้ผลดี การรักษาภูมิไม่ว่าวิธีใด ก็ไม่สามารถทำให้หายขาดได้ เพียงแต่การรักษาจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นในระยะยาว และช่วยป้องกันโรคที่อาจเป็นผลข้างเคียงจากภูมิแพ้ได้

 

 

ไรฝุ่นในบ้าน (House Dust Mite) 

 

ไรฝุ่นบ้านเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กมาก ประมาณ0.2-0.5 มม. มี 8 ขา ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เล็กน้อย เจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสม อาหารของไรฝุ่นบ้านได้แก่สะเก็ดผิวหนัง, รังแค เป็นต้น ตัวเมียหนึ่งตัวสามารถวางไข่ได้ถึง 300 ฟองและใช้เวลาในการเจริญเติบโตเป็นตัวเต็ม วัยนานประมาณ 14-20 วัน ช่วงชีวิตของไรฝุ่นบ้านแตกต่างกันระหว่างตัวผู้และตัวเมีย ในตัวผู้มีช่วงชีวิตประมาณ 60-80 วัน   ส่วนตัวเมียประมาณ100-150 วัน ชนิดของไรฝุ่นบ้านมีอยู่มากมายหลายชนิดซึ่งในแต่ละ ประเทศจะพบมากน้อยต่างชนิดกัน สำหรับในประเทศไทยจะพบชนิด D. pteronyssinus และ D. farinaeได้บ่อย โดยเฉพาะชนิด D. pteronyssinus จะพบได้มากที่สุด

 

 

ปัญหาการแพ้จากไรฝุ่นบ้านเกิดได้ 2 ทาง 

 

  1. อุจจาระของไรฝุ่นบ้าน
  2. ตัวไรของไรฝุ่นบ้าน

 

 

การควบคุมไรฝุ่นในบ้าน 

 

เนื่องจากแหล่งที่อยู่ของไรฝุ่นบ้านที่สำคัญที่สุดคือ ห้องนอน เพราะฉะนั้น การดูแลห้องนอนอย่างถูกต้อง จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องไรฝุ่นบ้านอย่างมาก

 

 

วิธีการดูแลทำได้ดังนี้ 

 

  1. ควรหลีกเลี่ยงหมอน, ที่นอน และ อุปกรณ์ที่ทำจากนุ่น
  2. คลุมที่นอน, หมอน ด้วยผ้าพลาสติก
  3. ควรต้มผ้าปูที่นอน, หมอน ทุกอาทิตย์
  4. ไม่ปูพรมในห้องนอน
  5. ลดอุปกรณ์ตกแต่งในห้องนอน ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมฝุ่นละออง

 

 

 

 

โรคภูมิแพ้ ไม่ใช้โรคติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

การรักษาคือ หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ เพราะจะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้

หรือปฏิกิริยาขึ้น