บทความสุขภาพโรงพยาบาลรามคำแหง งูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

February 22 / 2024

 

งูสวัด ภัยเงียบในผู้สูงอายุ

 

งูสวัด คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดอีสุกอีใส พบมากในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แสดงอาการออกมาในลักษณะของผื่นตุ่มน้ำพองอยู่รวมเป็นกลุ่มตามแนวเส้นประสาท สามารถขึ้นที่ผิวหนังได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่จะขึ้นเพียงซีกใดซีกหนึ่งเท่านั้น

 

งูสวัดไม่มีอันตรายร้ายแรง และหายเองได้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางคนหลังจากแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาท หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ สำหรับในรายที่เสียชีวิตเกิดจากร่างกายอยู่ในช่วงอ่อนแอ และขาดภูมิต้านทาน โรคเชื้อไวรัสที่อยู่ในผื่นสามารถติดต่อโดยการสัมผัส สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้สุกใสมาก่อนก็อาจจะกลายเป็นไข้สุกใสได้ หรือคนที่เป็นไข้สุกใสมาแล้วก็จะมีโอกาสเป็นงูสวัดเพิ่มมากขึ้น

 

โรคงูสวัด เกิดจากอะไร?

 

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส คือ varicella zoster virus (VZV) เชื่อว่าเมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อจะค่อยๆ เคลื่อนตัวตามแนวเส้นประสาทเข้าไปซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายโดยไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อใดที่ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลงไม่ว่าจะจากวัยที่เพิ่มขึ้น หรือจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต โรคที่ทำให้ภูมิต้านทานลดลงอย่างโรคเอชไอวี โรคเอสแอลอี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เชื้อไวรัสก็สามารถกำเริบและก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นมาได้

 

 

อาการของโรคงูสวัด

 

  • อาจมีอาการปวดจี๊ดๆแปล๊บๆ หรือเหมือนปวดกล้ามเนื้อลึกๆ บริเวณผิวหนังที่จะเกิดผื่นมาก่อน
  • มักจะไม่มีไข้ หรืออาจมีไข้ต่ำๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดศีรษะ
  • สำหรับคนที่เป็นบริเวณใบหน้าจะมีอาการปวดศีรษะ เห็นแสงจ้าไม่ได้
  • เมื่อผ่านไปประมาณ 1 - 5 วันจะมีผื่นแดงอยู่เป็นกลุ่ม ต่อมาเป็นตุ่มน้ำใส มักจะขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายตามเส้นประสาทที่เป็นโรค ตุ่มน้ำใสจะคงอยู่ประมาณ 7-10 วัน ต่อมาผื่นจะตกสะเก็ดและหายไปใน 2 - 3 สัปดาห์ ซึ่งอาจจะทิ้งรอยแผลเป็นไว้

 

 

การดูแลรักษาโรคงูสวัด


แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวด หรือลดไข้ ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็จะให้ยาปฏิชีวนะ

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสภายใน 2 - 3 วัน หลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยลดอาการปวดแสบ ปวดร้อนในภายหลังได้
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ต้องรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ ซึ่งจะได้รับยาต้านไวรัสชนิดทาน และหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา

 

การป้องกันโรคงูสวัด


1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็น
2. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น และตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

 

 

นัดพบแพทย์

นพ.พรชัย โพธินามทอง

แพทย์ผิวหนัง (ตจวิทยา)

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด สำหรับคนอายุมากกว่า 50 ปี

โรคงูสวัด อันตรายกว่าที่คิด ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน

ราคา 6,300 บาท