กิจกรรมบำบัด กับการพัฒนาการเด็กพิเศษ

April 29 / 2022

 

กิจกรรมบำบัด กับการพัฒนาการเด็กพิเศษ

 

 

กิจกรรมบำบัด รักษา-กระตุ้น-ฝึกสมาธิ “เด็กพิเศษ”

 

เด็กพิเศษ คือ เด็กที่ต้องการความดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งจุดมุ่งหมาย หลักของนักกิจกรรมบำบัดคือให้ “กลุ่มเด็กพิเศษ” สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติสุข ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างของสมองหรือจากพันธุกรรม โดยมิได้มีเหตุจากการเลี้ยงดูของผู้ปกครองแต่อย่างใด ทำให้เด็กเกิดความบกพร่องด้านการพูดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับมีพฤติกรรมและความสนใจที่ค่อนข้างจำกัด และเป็นแบบแผนซ้ำ ๆ โดยมีอาการที่สังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • อายุ 2 ขวบแล้วแต่ยังไม่เริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมายไม่ตอบสนองเมื่อเรียกชื่อ
  • ไม่ทำตามคำสั่ง ไม่ค่อยสบตา
  • มีภาษาเฉพาะตัว หรือจะเรียก “ภาษาต่างดาว”
  • สื่อสารโดยการดึงมือผู้ปกครองให้ทำในสิ่งที่ต้องการ
  • เด็กบางคนอาจเคยพูดเป็นคำได้แล้ว แต่พัฒนาการด้านการพูดมาหยุดชะงักหรือถดถอยในช่วงอายุ 1 ปีครึ่งถึง 2 ปี

อีกทั้งยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่คุณพ่อ-คุณแม่รวมถึงผู้ปกครองยังอาจไม่มีความกระจ่างแจ้งพอ จึงอาจส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรมของบุตร-หลานที่เป็นเด็กกลุ่มนี้

 

 

กลุ่มอาการที่พบบ่อยในเด็กพิเศษ

 

  1. กลุ่มออทิสติก

ความสามารถของตัวรับความรู้สึกและกระบวนการนำความรู้สึกไปที่สมอง อาจมีความผิดปกติมากหรือน้อยเกินไปก็ได้โดยเฉพาะในด้านระบบการทรงตัว การรับสัมผัส การรับความรู้สึกจากเอ็นและข้อ ซึ่งเมื่อมีการรับข้อมูลมากเกินไปก็จะเกิดภาวะไวต่อการรับความรู้สึกมากเกินไป จึงแสดงออกในลักษณะ “หลีกหนีต่อสิ่งเร้า” แต่ถ้ามีการรับข้อมูลน้อยเกินไปก็จะเกิดภาวะไวต่อการรับความรู้สึกน้อยเกินไป จึงแสดงออกในลักษณะ “ค้นหาสิ่งเร้ามากขึ้น” ดังนั้น เมื่อเด็กรับความรู้สึกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเข้ามาซึ่งถือเป็นสิ่งเร้าแล้วพวกเขาไม่สามารถจัดระเบียบของสิ่งเร้านั้นได้ ก็จะส่งผลให้ไม่สามารถตอบสนองออกมาเป็นพฤติกรรมที่ถูกต้องเหมาะสม

 

 

วิธีการดูแลเด็กออทิสติกแบบง่าย ๆ ดังนี้

 

  • การกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของร่างกาย
  • การกอดลูก ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและช่วยให้เด็กสงบนิ่งขึ้น และได้รับความอบอุ่นไปพร้อมกัน
  • การฝึกให้เด็กมองสบตาเวลาคุยกันซึ่งควรทำบ่อย ๆ
  • การพูดและเปล่งเสียง สามารถทำได้ด้วยการจัดหาของเล่นแบบที่มีเสียง ทั้งเสียงเบา-เสียงดัง
  • การดมกลิ่น โดยให้รับรู้กลิ่นอาหารและสิ่งต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นเหม็นหรือหอม
  • การรับรสชาติด้วยลิ้น โดยจัดให้เด็กได้ลิ้มลองรสชาติที่หลากหลาย โดยไม่ให้ทานอาหารแบบเดิม ๆ ซ้ำซาก

 

 

  • การฝึกให้ช่วยเหลือตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร ตลอดไปจนถึงการเข้าห้องน้ำด้วยตนเอง โดยสอนให้น้องรู้จักบอก “อึ-ฉี่” เมื่อปวดและอีกอย่างคือ การแต่งกาย โดยฝึกให้เริ่มจากนุ่งกางเกง ใส่เสื้อยืด แล้วจึงสอนให้กลัดกระดุมหรือตะขอต่อไป
  • การฝึกด้านสังคม เพราะเด็กออทิสติกจะมีปัญหาเรื่องการแยกแยะความแตกต่างระหว่างบุคคล ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องค่อย ๆ สอนว่าแต่ละครอบครัวเป็นใคร ต้องเรียกอย่างไร เพื่อให้เด็กเข้าใจบทบาทของคนในครอบครัว
  • การพูดและเปล่งเสียง เด็กออทิสติกจะมีปัญหาการพูดสื่อสารและการออกเสียง คุณพ่อคุณแม่อาจต้องพาไปพบผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกเสียงจากนั้นค่อยมาฝึกต่อที่บ้าน ฝึกให้น้องเลียนแบบการขยับปากตาม ฝึกดนตรี ศิลปะ หรืออาชาบำบัดก็ได้

 

 

 

  1. กลุ่มสมาธิสั้น

อาการของเด็กในกลุ่มสมาธิสั้นจะเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กอายุก่อน 7 ปี ซึ่งหากเป็นแล้วจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ โดยที่เด็กในกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเรียน การเล่น ขาดสมาธิ ทำให้วอกแวก อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น วู่วาม หรือทำอะไรโดยไม่ทันได้คิด

 

 

วิธีการดูแลเมื่อลูกสมาธิสั้น

 

การดูแลลูกสมาธิสั้นสำคัญที่สุดซึ่งพ่อแม่ต้องมีทัศนคติต่อเด็กในทางบวก โดยเด็กสมาธิสั้นสามารถรักษาได้ด้วยการผสมผสาน อาทิ

  • การรักษาทางยา จะช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมีสมาธิดีขึ้น ดูสงบมากขึ้น ซนน้อยลง และควบคุมตัวเองได้มากขึ้น
  • การรักษาทางการศึกษาและการรักษาด้วยกิจกรรมบำบัด พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถช่วยรักษาเด็กสมาธิสั้นได้มาก โดยจะต้องเรียนรู้วิธีจัดการพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก โดยไม่ควรใช้การลงโทษ เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังจะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น

 

 

 

“ซน” กับ “สมาธิสั้น” ต่างกันอย่างไร?

วิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างเด็กซนกับเด็กสมาธิสั้น ดังนี้

 

 

 

แนวทางการรักษาเมื่อลูกสมาธิสั้น

 

การรักษาทางกิจกรรมบำบัดในเด็กสมาธิสั้น คือการใช้กิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายในการรักษา เพื่อแก้ไขความบกพร่องของเด็ก

  1. การบูรณาการผสมผสาน การรับความรู้สึก (Sensory Integration) เช่น การกลิ้ง กระโดด กระตุ้นระบบสัมผัส การรับฟัง การมองเห็น
  2. การฝึกควบคุมตัวเอง เช่น การร้อยลูกปัด การเดินทรงตัวบนสะพาน
  3. การฝึกเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียน เช่น การแก้ไขการรับรู้ทางสายตา ฝึกการเขียน การอ่าน การคำนวณ
  4. การฝึกการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันให้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าเด็กปกติ
  5. การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็ก

 

 

 

เสริมสร้างสมาธิให้เด็กด้วยกิจกรรมที่เหมาะสม

 

  • การเสริมสร้างสมาธิให้กับเด็กในเบื้องต้นนั้น คุณพ่อ-คุณแม่ควรเริ่มต้นจากการฝึกฝนให้ลูกทำกิจกรรมง่าย ๆ ให้ลูกได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร อาบน้ำ-ทาแป้ง หยิบของ หรือการติดกระดุมเสื้อผ้า

 

 

 

  • ฝึกสมาธิลูกๆ ด้วยกิจกรรรมต่างๆ  
  • อ่านหนังสือน่ารู้และนิทานแสนสนุก เพราะในขณะที่เด็กกำลังอ่านหนังสือ หรือนิทาน จะเป็นการฝึกการออกเสียงพูด สะกดคำ ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือหรือตัวละคร
  • การจัดให้ลูกฟังหรือเล่นดนตรี จะส่งผลดีต่อสมาธิ  เพราะดนตรีจะมีส่วนช่วยให้จิตใจของลูกสงบ ลดความตึงเครียดก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน อาจเปิดเพลงที่ทำนองเบาๆ สบายๆ จะช่วยเสริมสร้างความจำและการเรียนรู้ของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

 เด็กพิเศษ คือ เด็กที่ต้องการความดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษ เป็นกลุ่มโรคที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างของสมองหรือจากพันธุกรรม ทำให้เด็กเกิดความบกพร่องด้านการพูดสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การดูแลลูกสมาธิสั้น สำคัญที่สุดซึ่งพ่อแม่ต้องมีทัศนคติต่อเด็กในทางบวก

 

 

แก้ไข

27/4/2565