s แผลเบาหวานที่เท้า ถ้าหากรักษาถูกวิธีก็ไม่จำเป็นต้องตัดขา

แผลเบาหวานที่เท้า ถ้าหากรักษาถูกวิธีก็ไม่จำเป็นต้องตัดขา

February 08 / 2024

แผลเบาหวาน

แผลเบาหวานที่เท้า รักษาถูกวิธีก็ไม่จำเป็นต้องตัดขา

 

 

โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย และเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงบาดแผลที่เท้า แผลเหล่านี้ มักเกิดจากการบาดเจ็บ การติดเชื้อ หรือการไหลเวียนของเลือดที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง ดังนั้น นอกจากการดูแลตัวเองและควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตตัวเองด้วยว่ามีแผลหรือไม่ เพราะหากรีบเข้าพบแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็สามารถหายขาด และลดความเสี่ยงในการตัดอวัยวะลงได้

 

สารบัญ

 

แผลเบาหวาน คือ

 

แผลเบาหวาน คืออะไร

แผลเบาหวาน คือ แผลเรื้อรังที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเส้นเลือดตีบ และมีอาการเสื่อมของระบบประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย โดยผู้ป่วยมักเกิดอาการชา และไม่ทราบว่ามีบาดแผลบริเวณเท้า หรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายเช่น ขา และนิ้วมือ เมื่อประกอบกับการไหลเวียนของเลือดที่ไม่มีประสิทธิภาพ บาดแผลจึงติดเชื้อลุกลามและมีการอักเสบรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

แผลเบาหวาน เกิดจาก

 

แผลเบาหวาน เกิดจากอะไร

ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะเวลานานมักส่งผลให้เส้นประสาททำงานผิดปกติ รวมไปถึงเกิดการตีบแข็งและอุดตันของหลอดเลือดบริเวณเท้าและขา ผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่จึงมักเกิดบาดแผลได้ง่าย และไม่รู้ตัวว่ากำลังมีบาดแผลอยู่เนื่องจากเท้าและขาสูญเสียการรับรู้ความเจ็บปวด บาดแผลจึงมักหายช้า และเกิดการอักเสบและลุกลาม และภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง ทำให้แผลที่เกิดขึ้นมีโอกาสติดเชื้อลุกลามได้รวดเร็ว นอกจากนี้ผลแทรกซ้อนของเบาหวานในระยะยาวทำให้หลอดเลือดมีการตีบตัน ส่งผลให้เกิดการขาดเลือดบริเวณแผล ทำให้แผลไม่หายและลุกลามมากขึ้น

 

แผลเบาหวาน อันตราย

 

อันตรายของแผลเบาหวาน

แม้ในระยะเริ่มต้น อาจไม่มีอาการบ่งชี้ถึงการเกิดแผลเบาหวาน โดยสัญญาณแรกของแผลเบาหวานมักปรากฏให้เห็นเมื่อเส้นเลือดเกิดการตีบตันมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดขาเมื่อเดินได้สักระยะหนึ่ง จนทำให้ต้องหยุดพัก

 

ในระยะต่อมาเมื่อมีการตีบตันอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะสามารถเดินได้น้อยลง รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งในระยะนี้ มักสังเกตพบแผลเบาหวาน หรือนิ้วเท้าดำเกิดขึ้น ซึ่งแผลเหล่านี้ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการปกติ และอาจทำให้สูญเสียขาได้ในที่สุด ทั้งนี้ มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่มีอาการปวดขาใด ๆ แต่มาพบว่ามีบาดแผลและรักษาไม่หายก็เป็นได้

 

ลักษณะของแผลเบาหวาน มีดังนี้

แผลหายช้า

แผลหายช้า เนื่องจากแผลเบาหวานมักเกิดจากหลอดเลือดแดงตีบ ทำให้เลือดนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้ไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อแผลขาดเลือดไปเลี้ยง จึงทำให้แผลหายยากกว่าปกติและลุกลามได้

แผลเรื้อรัง รักษายาก

แผลเรื้อรัง รักษายาก เนื่องจากน้ำตาลในเลือดส่งผลให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ เกิดเป็นภาวะเส้นประสาทเสื่อม ผู้ป่วยจึงมักมีอาการชาหรือไร้ความรู้สึกบริเวณเท้า เมื่อเกิดบาดแผล จึงมักไม่รู้ตัวทำให้บาดแผลลุกลามเรื้อรัง การควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี จะส่งผลทำให้แผลหายยากขึ้น

ประสาทอัตโนมัติเสื่อม

ประสาทอัตโนมัติเสื่อมลงเมื่อเส้นประสาททำงานได้ไม่ดี ต่อมไขมันและต่อมเหงื่อจึงหลั่งไขมันลดลง มีผลทำให้ผิวแห้ง แตก และเกิดบาดแผลได้ง่าย

เท้าผิดรูป

เท้าผิดรูปเมื่อระบบประสาทสั่งการผิดปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติและเกิดเท้าผิดรูป เมื่อประกอบกับผิวหนังแห้งเป็นหนังหนา หรือ ‘ตาปลา’ (Callus) นูนออกมากดทับเนื้อเยื่อข้างใต้ ก็ทำให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นได้รับการเสียดสีหรือแรงกดทับซ้ำ ๆ เป็นระยะนาน เป็นเหตุให้เนื้อเยื่อตายลง

ปลายประสาทรับความรู้สึกเสื่อม

ปลายประสาทรับความรู้สึกเสื่อมเมื่อรับรู้ความรู้สึกได้น้อยลง จึงทำให้ไม่รู้สึกเจ็บ และไม่รู้ว่าเกิดบาดแผล จึงทำให้แผลเกิดการอักเสบเรื้อรัง

 

แผลเบาหวาน มีกี่ระดับ

ระดับความรุนแรงของแผลเบาหวาน มีกี่ระดับ อะไรบ้าง

ระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้


  • ระดับ 0 ไม่มีอาการของแผลเปื่อย
  • ระดับ 1 มีแผลเกิดขึ้น แต่ยังไม่พบการอักเสบ
  • ระดับ 2 แผลลึกจนสามารถมองเห็นเส้นเอ็นและกระดูก
  • ระดับ 3 แผลเกิดการอักเสบและลุกลามเป็นบริเวณกว้าง และอาจมีฝีเกิดขึ้น

 

สัญญาณ แผลเบาหวาน

 

สัญญาณเตือนโรคแผลเบาหวานที่เท้า

มาดูกันว่าสัญญาณเตือนโรคแผลเบาหวานที่เท้ามีอะไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

ขนน้อยลง

ขนน้อยลงเมื่อเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงและส่งสารอาหารไปยังบริเวณแขน ขา หรือนิ้วเท้าได้ตามปกติ มีผลทำให้ขนขึ้นน้อย และอาจมีอาการซีดร่วมด้วย

สีผิวคล้ำขึ้น

สีผิวคล้ำขึ้นเมื่อเลือดไหลเวียนได้ไม่ดีและเกิดการอุดตัน จึงส่งผลให้สีผิวบริเวณเท้า หรือปลายนิ้วมื้อมีลักษณะคล้ำกว่าปกติ

คลำชีพจรหลังเท้าไม่เจอ

คลำชีพจรหลังเท้าไม่เจอ เนื่องจากผิวหนังมีลักษณะหนาขึ้น จึงไม่สามารถตรวจจับชีพจรได้ตามปกติ

อุณหภูมิเท้าทั้งสองข้างไม่เท่ากัน

อุณหภูมิเท้าทั้งสองข้างไม่เท่ากัน เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไม่สม่ำเสมอ จึงส่งผลให้เท้าเย็นกว่าปกติ

มีแผลเรื้อรัง

มีแผลเรื้อรังลักษณะบาดแผลมีการอักเสบ รักษาตามปกติไม่หายหรือมีอาการแย่ลง

ผิวหนังแห้งคัน เล็บหนาขึ้น

ผิวหนังบริเวณนี้มักแห้งคัน และพบว่าเล็บหนาขึ้นหรือแตกร่อน ซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดแผลจากการกดทับหรือเล็บขบได้

น้ำเหลืองไหล มีกลิ่นเหม็น

น้ำเหลืองไหล มีกลิ่นเหม็นในผู้ป่วยที่เป็นแผลเรื้อรังมักพบว่าแผลเป็นหนอง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของอาการเนื้อตาย โดยหากพบว่ามีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากผิวหนัง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและลดความเสี่ยงในการตัดอวัยวะออก

 

แผลเบาหวาน รักษา

 

แผลเบาหวาน รักษาได้ ไม่ต้องตัดเท้า

การรักษาแผลเบาหวานที่เท้า ที่มีสาเหตุจากหลอดเลือดตีบตันเพียงเล็กน้อย อาจเริ่มต้นด้วยการใช้ยารักษา ส่วนในกรณีที่โรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการสอดสายสวนขยายหลอดเลือด หรือการผ่าตัดต่อบายพาส เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงที่ขาได้ตามปกติ

 

ในปัจจุบัน เทคนิคการสอดสายสวนขยายหลอดเลือดได้มีความก้าวหน้าไปมาก ทำให้สามารถสอดสายสวนระยะยาวได้มากกว่าในอดีต ส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีการอุดตันของหลอดเลือดอย่างรุนแรงสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด

 

 

แผลเบาหวาน ป้องกัน

 

วิธีดูแลรักษาแผลเบาหวาน

แนวทางการดูแลรักษาแผลเบาหวาน สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

การรักษาแผลเบื้องต้นด้วยตนเอง

การรักษาแผลเบื้องต้นด้วยตนเองหากผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดแผลจากของมีคมหรือรอยขีดข่วน ควรรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่อ่อน เช็ดให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ และปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่แห้งและสะอาด ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดเพราะแอลกอฮอล์จะทำลายเนื้อเยื่อที่แผล แต่สามารถเช็ดทำความสะอาดรอบ ๆ บริเวณปากแผลได้

การรักษาโดยแพทย์

หากแผลมีอาการบวมแดงหรือมีน้ำหนอง แม้ไม่มีอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการรักษาโดยพิจารณาจากความรุนแรงของบาดแผลตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

การทำแผล

กรณีมีหนองหรือการติดเชื้อรุนแรง แพทย์จะทำการเปิดแผลให้กว้าง เพื่อกรีดระบายหนองและตัดเนื้อที่ตายออก โดยต้องทำแผล 1-2 ครั้งต่อวัน และรักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น และลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในแผล

การใช้ยาปฏิชีวนะ

ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาจากลักษณะและความรุนแรงของบาดแผล

การหลีกเลี่ยงการใช้อวัยวะที่เป็นแผล

ผู้ป่วยควรพยายามเดินเท่าที่จำเป็น โดยแพทย์อาจพิจารณาสั่งทำแผ่นรองเท้าหรือรองเท้าพิเศษขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการลงน้ำหนักบริเวณบาดแผล

การสอดสายสวนขยายหลอดเลือดหรือผ่าตัดหลอดเลือด

จะทำในกรณีที่แผลนั้นมีการขาดเลือด ซึ่งการพิจารณารักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดเลือดและภาวะหลอดเลือดอุดตัน

 

วิธีรักษา แผลเบาหวาน

 

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดแผลเบาหวาน

แผลเบาหวานจริง ๆ แล้วสามารถป้องกันได้ หากทำตามวิธีดังนี้

รักษาความสะอาดของเท้า

ควรล้างทำความสะอาดเท้า โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วด้วยสบู่เป็นประจำ หลังจากนั้นควรเช็ดหรือเป่าให้แห้ง โดยสามารถบำรุงผิวด้วยโลชั่นเพื่อให้ผิวอ่อนนุ่ม แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้วเท้าเพื่อป้องกันการอับชื้น

ตัดเล็บเท้าอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรดูแลเล็บไม่ให้ยาวหรือสั้นจนเกินไป และควรตัดอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เกิดบาดแผล

สวมรองเท้าให้พอดีกับเท้า

เลือกสวมรองเท้าที่ขนาดพอดี สวมใส่สบาย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงควรตรวจสอบรองเท้าทุกครั้งก่อนสวมใส่ว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรองเท้าและควรสวมถุงเท้าด้วยทุกครั้ง เพื่อลดการเสียดสีกับรองเท้า

สำรวจเท้าอย่างสม่ำเสมอ

หมั่นตรวจสอบว่ามีความผิดปกติเช่น รอยบวมแดง ผื่นคัน ตุ่มน้ำใส ขุยขาวที่ซอกนิ้ว ตาปลา รวมถึงสีเล็บที่เปลี่ยนไปหรือไม่ หรือมีแผลเกิดขึ้น กรณีแผลที่ไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หรือมีอาการอักเสบบวมแดงหรือลุกลาม ควรรีบมาพบแพทย์ผู้ชำนาญโดยด่วน

 

แผลเบาหวาน ดูแล

 

สรุป

การดูแลรักษาแผลเบาหวานทั้งที่เท้าและบริเวณอื่น ๆ ในร่างกายเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วน ดังนั้น จึงไม่ควรนิ่งนอนใจหากพบว่ามีบาดแผลหายช้า หรืออักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะสามารถช่วยลดโอกาสในการสูญเสียอวัยวะ และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้อย่างราบรื่น

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวาน

ที่โรงพยาบาลรามคำแหงเรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวาน ที่คอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ตลอดจนการดูแลรักษาให้แก้ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หลายท่าน อาทิ

  • นพ. สุทัศน์ ฮ้อศิริมานนท์
  • พญ.ศรีกร จินะดิษฐ์
  • นพ. พูนศักดิ์ เลาหชวลิต

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โรงพยาบาลรามคำแหง
โทร. 0 2743 9999 , 0 2374 0200-16 แฟกซ์ 0 2374 0804

อ้างอิงจาก

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK499887/