ลิ้นหัวใจรั่ว ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด พร้อมแนวทางการรักษา

May 07 / 2024

โรคลิ้นหัวใจรั่วมักมีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด โดยภาวะที่พบบ่อยในคนไทย คือความผิดปกติของ ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนและห้องล่างด้านซ้าย ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป มีผลทำให้ผู้ป่วยมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากทำกิจกรรมใด ก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้จากภาวะหัวใจล้มเหลว
โรคนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่น่ากลัวสำหรับคนไทย เพราะเป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น และแม้ว่าอาการจะเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อผู้ป่วยเข้าสู่วัยรุ่น แต่ก็ยังถือว่าน้อยมาก โดยอาการที่สังเกตได้อย่างชัดเจนอย่างเช่น อาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย จะค่อย ๆ แสดงออกเมื่อผู้ป่วยอายุ 40-50 ปี

 

สารบัญ

 

ลิ้นหัวใจรั่ว คือ

 

ลิ้นหัวใจรั่ว คืออะไร

โรคลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) คือ ภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ปิดไม่สนิท มีรูรั่ว หรือขาด ทำให้เลือดสามารถไหลย้อนกลับ จนเป็นสาเหตุให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นกว่าปกติเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ มักมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไม่เต็มที่ หากปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการรุนแรง ก็อาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้

 

ลิ้นหัวใจรั่ว อันตราย

 

โรคลิ้นหัวใจรั่ว อันตรายไหม

เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ลิ้นหัวใจย่อมส่งผลต่อวงจรการไหลเวียนของเลือดซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต โรคลิ้นหัวใจรั่วถือเป็นภัยเงียบอีกโรคหนึ่ง เนื่องจากไม่แสดงอาการจนกว่าลิ้นหัวใจจะเกิดการชำรุดเสียหาย ส่งผลให้มีเลือดคั่งเพิ่มสูงในหัวใจ นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตเฉียบพลันตามมา

 

ลิ้นหัวใจรั่ว เกิดจาก

 

โรคลิ้นหัวใจรั่ว เกิดจากอะไรได้บ้าง

โรคลิ้นหัวใจรั่ว พบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิงตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยส่วนใหญ่ โรคลิ้นหัวใจรั่วมักมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจตั้งแต่กำเนิด ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป โดยผู้ป่วยมักไม่มีอาการในวัยเด็ก แต่อาจเริ่มมีอาการเหนื่อยง่าย ใจสั่นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ

ลิ้นหัวใจเสื่อมตามอายุ เมื่อร่างกายเกิดความเสื่อมตามธรรมชาติเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ อาจเป็นสาเหตุให้มีหินปูนมาเกาะบริเวณลิ้นหัวใจ และทำให้การเปิดและปิดของลิ้นหัวใจเกิดความผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่โรคลิ้นหัวใจรั่ว และ/หรือ โรคลิ้นหัวใจตีบ

โรคหัวใจรูมาติก (Rheumatic Heart Disease)

โรคหัวใจรูมาติกเกิดจากการติดเชื้อที่บริเวณคอ แล้วเกิดการอักเสบลามไปที่กล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ และลิ้นหัวใจ ส่งผลให้ลิ้นหัวใจรั่ว หากเป็นเรื้อรังจะสามารถทำให้เกิดภาวะลิ้นหัวใจตีบร่วมด้วยได้ มักพบในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป แต่มักเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุมากขึ้น

โรคลิ้นหัวใจรั่วจากการติดเชื้อ

โรคลิ้นหัวใจรั่วจากการติดเชื้อ มักเกิดจากการติดเชื้อในกระแสเลือด และตัวเชื้อเกิดการอักเสบลามสู่ลิ้นหัวใจ

ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ

เมื่อหลอดเลือดหัวใจตีบ มักส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และเกิดปัญหาลิ้นหัวใจรั่วตามมา มักพบในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีหรือวัยหมดประจำเดือน ซึ่งภาวะนี้อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคประจำตัวและพฤติกรรมเสี่ยงอื่น ๆ ด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือกรรมพันธุ์ เป็นต้น

 

ลิ้นหัวใจรั่ว อาการ

 

อาการของโรคลิ้นหัวใจรั่ว

หัวใจถือเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญและมีความแข็งแรงลำดับต้น ๆ ของร่างกาย ดังนั้น เมื่อมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย จึงมักไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง โดยส่วนใหญ่ อาการของโรคจึงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังสามารถสังเกตจากอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

เหนื่อยง่าย หายใจหอบ นอนราบไม่ได้

ผู้ป่วยมักทำกิจกรรมได้ไม่นาน รู้สึกเหนื่อย และหายใจลำบากเมื่อออกแรง เมื่อแพทย์ทำการตรวจจะพบ ‘เสียงฟู่’ ซึ่งเป็นเสียงหัวใจผิดปกติที่พบได้บ่อยเมื่อภายในหัวใจมีเลือดไหลสวนทาง

ขาและเท้าบวม

โดยเฉพาะอาการบวมที่เท้าและข้อเท้า มักเกิดจากลิ้นหัวใจด้านขวาเกิดความผิดปกติ ทำให้เลือดจากขาไม่สามารถไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจด้านขวาได้สะดวก

ไอ มีเสมหะปนเลือด

โดยผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจมีภาวะน้ำท่วมปอด ทำให้ไม่สามารถนอนราบได้

วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หมดสติ

วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หมดสติ เนื่องจากระบบไหลเวียนของเลือด และระบบสูบฉีดของหัวใจเกิดความผิดปกติ ทำให้มีอาการวูบ ไม่รู้สึกตัวกะทันหัน

ใจสั่น เจ็บหน้าอก

ใจสั่น เจ็บหน้าอกอาจมีอาการนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน โดยอาการจะแสดงมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า ขยับตัว หรือหายใจเข้าลึก ๆ

โดยหากสังเกตพบความผิดปกติเกิดขึ้น ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคกลุ่มหัวใจ หรือโรคลิ้นหัวใจรั่วโดยทันที

 

ลิ้นหัวใจรั่ว ห้ามกิน

 

ลิ้นหัวใจรั่ว ห้ามกินอะไรบ้าง

อาหารที่คนเป็นลิ้นหัวใจรั่ว ห้ามรับประทาน มีดังนี้

  • อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล
  • อาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน และน้ำหวาน
  • อาหารที่ใช้น้ำมันปรุงอาหารมาก ๆ อย่างอาหารผัด หรือทอด
  • อาหารที่มีรสจัด และอาหารหมักดองทุกชนิด
  • ชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

ระยะของลิ้นหัวใจรั่ว

 

ลิ้นหัวใจรั่ว มีกี่ระยะ

ระยะของลิ้นหัวใจรั่ว แบ่งได้เป็น 3 ระยะในเบื้องต้น ได้แก่ ระยะเริ่มต้น ระยะปานกลาง และระยะรุนแรง ลิ้นหัวใจรั่วถือเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่น่ากลัว เพราะโรคนี้มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแต่ก็ไม่รุนแรง และจะแสดงอาการรุนแรงเมื่ออายุประมาณ 40 - 50 ปี จนทำให้ผู้ป่วยเหนื่อยและอ่อนเพลียมากขึ้น เกือบๆ จะทุกการเคลื่อนไหว

 

ลิ้นหัวใจรั่ว รักษา

 

โรคลิ้นหัวใจรั่ว รักษาอย่างไร

หากพบว่าผู้ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว แพทย์จะทำการรักษาตามความรุนแรงของอาการ แต่หากพบว่าลิ้นหัวใจรั่วมาก หรือลักษณะกล้ามเนื้อที่พยุงการเปิด-ปิดของลิ้นหัวใจเกิดการหย่อนยาน ปูด หรือหนาตัวมาก แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1.การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Valve Repair)

การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ เป็นการรักษาเพื่อซ่อมแซมให้ลิ้นหัวใจส่วนที่ถูกทำลาย ฉีกขาด หรือมีรอยรั่ว กลับมาทำงานตามปกติโดยการลอกหินปูนที่จับตัวออก และใช้เนื้อเยื่อหัวใจของผู้ป่วยเองมาซ่อมแซมเพื่อให้สามารถกลับมาทำงานใกล้เคียงกับปกติที่สุด โดยวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกาย แต่มีข้อจำกัดคือจะสามารถทำได้เฉพาะบางกรณีเท่านั้น

2.การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valve Replacement)

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ถือเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยในกรณีที่พบว่าลิ้นหัวใจเสื่อมสภาพมาก มีการฉีกขาดรุนแรง หรือมีหินปูนเกาะ ไม่สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดตามวิธีมาตรฐาน คือ การเปิดแผลผ่าตัดกึ่งกลางหน้าอก เพื่อนำลิ้นหัวใจที่เสียหายออก และใส่ลิ้นหัวใจเทียมเข้าไปทดแทน

โดยลิ้นหัวใจเทียมนั้น มีให้เลือกทั้งแบบธรรมชาติ หรือ ‘ลิ้นเนื้อเยื่อ’ ซึ่งผลิตจากเนื้อเยื่อของหัวใจวัวหรือหมู มีอายุการใช้งานไม่เกิน 15 ปี และลิ้นหัวใจเทียมวัสดุสังเคราะห์ (ไทเทเนียมหรือโครเมียม-โคบอลต์) ซึ่งมีความคงทนตลอดอายุขัยของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือดควบคู่ไปด้วย

 

ผ่าตัดลิ้นหัวใจ อันตราย

 

ผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่วอันตรายไหม

ปัจจุบันการรักษามีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยี TAVI (Transcatheter aortic valve implantation) หรือ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกผ่านสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัดทดแทนการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องเปิดหน้าอก มีความแม่นยำปลอดภัย และให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการผ่าตัด ลดระยะเวลาการพักฟื้นให้เหลือน้อยลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงและผลข้างเคียงน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม

 

ลิ้นหัวใจรั่ว ป้องกัน

 

แนวทางป้องกันโรคลิ้นหัวใจรั่ว

แม้ว่าโรคลิ้นหัวใจรั่วจะเป็นโรคที่ยากจะป้องกัน เนื่องจากปัจจัยในการเกิดโรคมักเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น กรรมพันธุ์ หรือความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วมาแต่กำเนิด ก็สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ ดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และเกลือโซเดียมสูง
  • ควบคุมน้ำหนักตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
  • งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี
  • ควบคุมความเสี่ยงที่เกิดจากโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะคอเลสเตอรอลสูง

 

ลิ้นหัวใจรั่ว ดูแลตัวเอง

 

วิธีดูแลตัวเอง เมื่อเป็นลิ้นหัวใจรั่ว

หากพบว่าตนเองป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้อย่างเคร่งครัด แม้จะเป็นผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วที่มีอาการไม่รุนแรง และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติก็ตาม

  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง
  • งดออกกำลังกายหักโหม รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก หรือกิจกรรมกลางแจ้งในอากาศร้อนจัด
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเค็ม หวาน หรือมันจัด
  • ก่อนการทำฟันหรือการผ่าตัดทุกชนิด ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และหมั่นสังเกตร่างกายตนเอง

 

ลิ้นหัวใจรั่ว รามคำแหง

 

สรุป

โรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นโรคที่มักไม่ค่อยแสดงอาการ และอาจเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตตัวเอง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หากพบว่ามีอาการเจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย หรือเท้าบวม ควรจะรีบเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะเมื่อพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถชะลอโรค และรับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั่นเอง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ

  • ศาสตราธิคุณ นพ. วสันต์ อุทัยเฉลิม
  • นพ. อุทัย พันธิตพงษ์
  • นพ. วิรัช เคหสุขเจริญ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โรงพยาบาลรามคำแหง

โทร. 0 2743 9999 , 0 2374 0200-16 แฟกซ์ 0 2374 0804

อ้างอิงจาก

https://www.cdc.gov/heartdisease/valvular_disease.htm

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

แพ็กเกจคลอดบุตรแบบธ​รรมชาติเหมาจ่าย แม่สุขใจ ลูกรักปลอดภัย

คลอดธรรมชาติสบายใจได้ในความปลอดภัยและคุ้มค่า พร้อมการดูแลครอบคลุมแบบเหมาๆ

ราคา 52,000 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพสตรี ตรวจภายใน ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก โรคร้ายที่ป้องกันได้

ราคา 1,800 บาท

Healthy heart package (ผู้ชาย)

ฝากหัวใจ..ให้เราดูแลกับ "Healthy heart package (ผู้ชาย)" ตรวจก่อนรู้ก่อน อย่าปล่อยให้หัวใจอ่อนแอ..เกินเยียวยา

ราคา 5,990 บาท

“Healthy start program” โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

ดูแลหัวใจและปอดของคุณและคนที่คุณรัก ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

ราคา 3,000 บาท

บริการอุปกรณ์ตรวจเช็คคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พกพาได้

ติดตามการเต้นของหัวใจแบบทางไกล เหมาะกับใครบ้าง ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ พบอาการไม่บ่อยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่สามารถตรวจพบหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยวิธีตรวจอื่นๆ

ราคา 12,000 บาท