การออกกำลังกายอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจจริงไหม เรามีคำตอบ

December 30 / 2024

ออกกำลังกาย ผู้ป่วยโรคหัวใจ

 

 

 

     เพราะการออกแรงมากนั้นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ดูกลายเป็นภาพที่ฉายชัดในความคิดของใครหลายคน สิ่งนั้นอาจเป็นสุขภาพที่เปราะบาง เราเลยเผลอคิดว่ามันไม่ดีต่อหัวใจ ซึ่งแท้จริงแล้วการออกกำลังกายล้วนช่วยเสริมสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง หากว่า.. เราทำแต่พอดี  

 

 

ออกกำลังกาย โรคหัวใจออกกำลังกาย โรคหัวใจ

 

ผศ.ดร. สิทธา พงษ์พิบูลย์

ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

 

 

 

ทำไมการออกกำลังกายถึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ?

     เนื่องจากการออกกำลังกายส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก หากโหมออกแรงก็อาจบานปลายจนเกิดหัวใจล้มเหลวได้ นอกจากนี้โรคหัวใจยังแบ่งย่อยตามสาเหตุ เช่น หัวใจตีบจากการหลอดเลือดเปราะหรืออุดตัน ความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งแพทย์อาจตรวจร่างกายด้วยหลากวิธี

 

 

ออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ

 

 

 

การตรวจร่างกายเพื่อทราบขีดจำกัดของร่างกาย

  • การตรวจกราฟหัวใจ หรือ Electrocardiogram (EKG) เป็นการตรวจเช็คสัญญาณไฟฟ้าหัวใจว่ามีส่วนไหนผิดจังหวะ หัวใจโต หรือภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ โดยแพทย์อาจตรวจเอคโค่หัวใจร่วม
  • การเดินสายพานตรวจ หากแพทย์ไม่พบความผิดปรกติขณะผู้ป่วยหยุดพัก การตรวจเช็คสภาพความผิดปรกติขณะเคลื่อนไหวร่างกายในระดับต่าง ๆ จะช่วยจับทางว่าช่วงใดที่อัตราเผาผลาญออกซิเจนของผู้ป่วยทำงานผิดแปลกไป ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งภาวะหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือดและหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การฉีดสีสวนหัวใจ เป็นการตรวจสุดท้ายที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีโอกาสสูงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งให้ผลวินิจฉัยที่แม่นยำสูง จึงเห็นภาพชัดว่าเกิดการตีบหรืออุดตันบริเวณใดอย่างชัดเจน
  • Echocardiogram คือ การตรวจอัลตร้าซาวนด์หัวใจ เพื่อดูโครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจ ,ลิ้นหัวใจ ผนังหัวใจรั่ว ,หัวใจโต และการบีบตัวของหัวใจ

 

 

ออกกำลังกายในผู้ป่วยโรคหัวใจ

 

 

 


ในความเป็นจริงแล้ว ความกังวลนี้มักเกิดจากความเข้าใจผิด เนื่องจากการออกกำลังกายที่เหมาะสมและมีการควบคุมสามารถช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับหัวใจ และช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจในระยะยาว


 

 

 

ออกกำลังกาย โรคหัวใจ

 

 

การออกกำลังกายที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องหนักหนาเสมอไป ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถออกกำลังกายได้ตามประเภทและความเข้มข้นที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตนเอง ดังนี้

 

  • การเดิน การเดินอย่างสม่ำเสมอเป็นการออกกำลังกายที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจโดยไม่เพิ่มภาระมากเกินไป
  • การปั่นจักรยานเบา ๆ การปั่นจักรยานที่มีความเร็วต่ำจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและเสริมความแข็งแรงของหัวใจ
  • การฝึกยืดกล้ามเนื้อ (Stretching) การยืดกล้ามเนื้อช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่น และลดความตึงเครียดในกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ปลอดภัยและดีต่อการฟื้นฟูสภาพร่างกาย

 

 

 

เคล็ด (ไม่) ลับที่ควรทำควบคู่การออกกำลังกาย

1.  รอบรู้ชนิดอาหารและเลือกทานเสริมสุขภาพหัวใจ

     เพื่อให้อาหารทุกจานอุดมสารอาหารสำคัญในสัดส่วนที่สมดุล การรับประทานพืชผัดใบเขียว ธัญพืช ผลไม้หวานน้อยร่วมอาหารทะเล ล้วนเป็นการเติมพลังชีวิตที่พอเหมาะก่อนออกกำลังกาย ก่อนเติมแต่งด้วยเนื้อสัตว์สีแดงอย่างละนิด โดยให้ดีควรไม่ติดมันและเป็นโปรตีนที่ให้ท้องได้อิ่มนานก็ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ 

 

2.  เลือกประเภทการออกแรงที่เหมาะกับตัว

     การรู้ขีดจำกัดของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และจะรู้ได้ละเอียดยิ่งขึ้นหากเข้ารับการเดินสายพานตรวจหัวใจขณะออกแรงหนัก อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถใช้เวลาอย่างน้อยเพียง 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการออกกำลังกายเบา ๆ ไม่ว่าจะวิ่งเบา ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำและเต้นแอโรบิคก็ล้วนช่วยลดทอนระดับของโรคให้เบาลง

 

3.  ผ่อนคลายกายและจิต

     ‘จิตวิญญาณที่สมบูรณ์ ย่อมอยู่ในจิตใจและร่างกายที่สมบูรณ์’ ยังเป็นชีวิตในอุดมคติของใครหลายคน แม้มีร่างกายที่กำยำ แต่อาจมีชีวิตไม่ยืนยาวหากจัดการความเครียดได้ไม่ดี หากสุขภาพจิตไม่ดีย่อมทำให้ระบบภูมิคุ้มกันและการเผาผลาญพลังงานทำงานผิดปรกติ การหากิจกรรมผ่อนคลายเช่นโยคะจึงเป็นหนึ่งตัวอย่างวิถีรักษาสมดุลทั้งกายและจิตที่น่าสนใจ และไม่ว่าอย่างไร การพักผ่อนให้เพียงพอก็ยังสำคัญ

 

ข้อควรระวังและคำแนะนำ

แม้ว่าการออกกำลังกายจะมีประโยชน์ แต่ผู้ป่วยโรคหัวใจก็ควรระมัดระวังในหลายด้าน

 

  • ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มออกกำลังกาย ก่อนเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับประเภทและระดับความเข้มข้นของการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • ฟังสัญญาณจากร่างกาย หากรู้สึกเจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรหยุดการออกกำลังกายทันทีและพบแพทย์
  • เริ่มต้นช้า ๆ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินหรือการยืดกล้ามเนื้อ และค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นเมื่อร่างกายเริ่มปรับตัวได้

 

 


ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม การออกกำลังกายที่หนักเกินไปอาจทำให้หัวใจทำงานหนักเกินไป ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีความเข้มข้นสูงหากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์


 

 

สนใจเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดต้องทำอย่างไร?

แผนกฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด เปิดให้บริการที่ อาคาร 3 ชั้น 10 โรงพยาบาลรามคำแหง ตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. ทุกวัน โทร. 027439999 ต่อ 3040 หรือ คลิกที่นี่