โรคหืด หรือโรคหอบหืดในเด็ก คล้ายผู้ใหญ่ l โรงพยาบาลรามคำแหง

January 12 / 2024

โรคหืดในเด็ก

 

 

โรคหืด หรือ โรคหอบหืดในเด็กมีลักษณะสำคัญคล้ายกับโรคหืดในผู้ใหญ่ คือ มีการอักเสบของเยื่อบุหลอดลมอย่างต่อเนื่องเป็นโรคที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะหลอดลมมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ มากกว่าปกติและทำให้เกิดภาวะตีบตันของหลอดลมแต่สามารถกลับคืนภาวะปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้ด้วยยาขยายหลอดลม

 

 

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคหืด

 

เนื่องจากเด็กไม่สามารถสื่อความหมายหรือบอกถึงอาการหอบ หายใจแน่น หรือเหนื่อยได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองต้องสังเกตอาการต่างๆ เหล่านี้ เช่น

  1. ไอบ่อย หายใจเร็ว หน้าอกบุ๋ม บางครั้งได้ยินเสียงวี๊ด
  2. อาการไอเป็นๆ หายๆ ซึ่งอาจมีไข้หรือ น้ำมูกร่วมด้วย
  3. ระยะเวลาในการเป็นหวัดและไอจะนานกว่าเด็กปกติ
  4. ไอมากตอนกลางคืน และเช้ามืด
  5. หลังออกกำลังกายจะไอมาก หรือเหนื่อยหอบ
  6. อาการไอจะดีขึ้นเมื่อได้ยาขยายหลอดลม

อาการเหล่านี้จะบ่งบอกถึงภาวะตีบแคบของหลอดลม และหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งแพทย์จะซักประวัติ อาการร่วม ความถี่ ความรุนแรง ผลกระทบต่อการเรียนหรือการทำงาน การตรวจร่างกาย การทดสอบสมรรถภาพทางปอด (เด็กโต) ประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว การได้รับควันบุหรี่ รวมถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดเพื่อให้การวินิจฉัยและประเมินความรุนแรงของโรคหืด



 

 

โรคหืดในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร 

  • ปัจจัยภายใน คือ พันธุกรรม หากมีญาติสายตรงได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้องเป็นโรคหืด  หรือภูมิแพ้ โอกาสที่จะเป็นโรคหืดสูงกว่าคนทั่วไป

 

  • ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เศษโปรตีนจากสัตว์เลี้ยง ละอองเกสร และสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันรถ ก๊าซพิษต่างๆ

 

 


โรคหืดในเด็กรักษาได้อย่างไร 

 

  1. หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นต่างๆ ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการรักษาโรคหืด
  2. การใช้ยา ซึ่งมียาหลายชนิดทั้งในรูปแบบของยาพ่น ยากิน ยาฉีดวัคซีนภูมิแพ้   ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
  3. พบแพทย์และติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง

 

โรคหืดทำให้เด็กมีสุขภาพและจิตใจที่ไม่สมวัย ดังนั้นควรได้รับการรักษาดูแล และได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของเด็ก