เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้🍪
เราใช้ Cookies เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ออนไลน์ที่ดีที่สุด สรุปนโยบายความเป็นส่วนตัวและ Cookies อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง หรือสงสัยว่าเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19
หากท่านเพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือสัมผัสผู้ที่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 กรุณางดไปที่ชุมชน ในกลุ่มเสี่ยงขณะที่มีการแยกตัวให้ใช้ของใช้ทุกอย่างแยกจากคนในบ้าน
กรมควบคุมโรคแบ่งความเสี่ยงของผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 3 ระดับ
1. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย
2. ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ คือ ผู้ใกล้ชิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
3. ไม่มีความเสี่ยง คือ ผู้ใกล้ชิดผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ
แต่ละระดับของผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้นควรปฏิบัติตามนี้
1. ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย ต้องเข้ารับการกักกันโรค และเข้ารับการตรวจหาเชื้อจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2. ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ คือ ผู้ใกล้ชิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้สังเกตอาการตนเอง หลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชน และสวมหน้ากากอนามัย
3. ไม่มีความเสี่ยง คือ ผู้ใกล้ชิดผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกักตัว และไม่ต้องตรวจทางห้องปฎิบัติการ
เราสามารถป้องกันตนเอง และลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ดังนี้
สำหรับผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่มีความเสี่ยงเคยสัมผัสหรือใกล้ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไปตรวจหาเชื้อไวรัสแล้วผลเป็นลบ ยังคงต้องกักตัวแยกโรคต่อไปจนครบ 14 วัน แม้ว่าการตรวจจะมีความแม่นยำและความไวสูง แต่อาจจะมีผู้ติดเชื้อส่วนน้อยมาก ที่ตรวจไม่พบเชื้อในการตรวจครั้งแรก แต่ไปพบหรือแสดงอาการในระยะหลังได้
อย่างไรก็ตามก่อนที่ผลตรวจจะออก หากท่านมีความเสี่ยงหรือมีอาการเจ็บป่วยแนะว่าขณะเดินทางกลับที่พัก ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก หากเดินทางโดยรถแท็กซี่หรือรถยนต์ส่วนตัวให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและเปิดหน้าต่างรถ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัวโดยไม่จำเป็น และเมื่อกลับถึงบ้านหรือที่พักเพื่อกักตัว หากมีบุคคลในครอบครัวอาศัยอยู่ด้วย แนะนำว่า
* ให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกัน ยกเว้นเวลาทานอาหารและทำกิจส่วนตัว
* แยกพื้นที่อาศัย เช่น ห้องนอน ห้องทานอาหาร
* เว้นระยะห่างกับบุคคลในบ้าน และหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่สาธารณะ
* ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อยๆ
* ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว
* ทำความสะอาดอุปกรณ์หรือบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ก็อกน้ำ
* แยกทิ้งวัสดุหรือกระดาษชำระที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งให้ห่างจากผู้อื่น โดยทิ้งในถุงพลาสติกแล้วปิดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปกำจัด
* ถ้ามีโรคประจำตัวที่ต้องไปตามนัด ให้โทรไปติดต่อโรงพยาบาลก่อนวันนัด เพื่อหาแนวทางลดความเสี่ยง
ทั้งนี้หากขณะกักตัวอยู่แล้วมีอาการ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ รู้สึกเหนื่อย แนะนำให้มาโรงพยาบาล โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก เมื่อถึงโรงพยาบาลให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ จุดคัดกรองว่ามีประวัติเสี่ยงและมีไข้ เพื่อให้ทางโรงพยาบาลดำเนินการดูแลตามขั้นตอนต่อไป