ฟอสฟอรัส คือเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อร่างกาย

February 22 / 2024

 

ฟอสฟอรัส ในอาหาร

 

 

ฟอสฟอรัส คือเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญ และจำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งปกติร่างกายจะรักษาสมดุลของฟอสฟอรัสในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากการทำงานของไตลดลงไม่สามารถกำจัดฟอสฟอรัสได้ ทำให้มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง อาจส่งผลให้มีอาการคันตามผิวหนังจากฟอสฟอรัสที่มากเกินไปสะสมตามเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เกิดภาวะกระดูกบางลงเนื่องจากแคลเซียมถูกสลายออกจากกระดูก มีก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อ เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและเกิดภาวะต่อมพาราไทรอยด์โตได้

 

ดังนั้น หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดเกิน 5 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ควรระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง เพื่อควบคุมระดัฟอสฟอรัสให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (2.4-5.1 มิลลิกรัม/เดซิลิตร) หรือหากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดต่ำเกินไป อาจรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูงเพิ่มขึ้นได้ แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลให้คำแนะนำของแพทย์และนักกำหนดอาหาร 

 

 

อาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

 

  • ฟอสฟอรัสที่พบในอาหารธรรมชาติ
    ร่างกายจะดูดซึมได้ร้อยละ 40-60 ผู้ที่มีฟอสฟอรัสสูงจึงควรควบคุมปริมาณอาหารในกลุ่มนี้ 
    • นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต ไอศกรีม ชีส เนย
    • ถั่ว เมล็ดพืช ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต โฮลวีต งา เต้าฮวย เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ เต้าส่วน ลูกเดือย ลูกชุบ เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เม็ดมะม่วงหิมพานต์
    • ไข่แดง และผลิตภัณฑ์ที่มีไข่แดงเป็นส่วนประกอบ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา สลัดครีม มายองเนส บะหมี่เหลือง ไข่ปลา
    • สัตว์ที่รับประทานได้ทั้งกระดูก เช่น  กุ้งแห้ง กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย ครีบปลา แมลงทอด
    • เนื้อสัตว์ และเครื่องในสัตว์ 
       

 

  • ฟอสฟอรัสที่อยู่ในรูปสารสังเคราะห์
    พบมากในสารปรุงแต่งอาหาร หรือสารกันบูด ซึ่งดูดซึมมากกว่าร้อยละ 90 หรือเกือบทั้งหมด ดังนั้น หากฟอสฟอรัสในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงอาหารดังต่อไปนี้
    • เนื้อสัตว์แปรรูป, อาหารแปรรูป, อาหารจานด่วน เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น กุนเชียง นักเก็ต  มันฝรั่งทอด แฮมเบอร์เกอร์ ขนมจีบ
    • อาหารสำเร็จรูป, อาหารแช่แข็ง, อาหารกระป๋อง
    • อาหารที่มีผงฟู และยีสต์ เป็นส่วนประกอบ เช่น ซาลาเปา หมั่นโถว ปาท่องโก๋ ขนมปัง เบเกอรี่ต่างๆ
    • เครื่องดื่มสำเร็จรูปบรรจุกระป๋องหรือขวด เช่น ชา กาแฟสำเร็จรูป น้ำอัดลม เบียร์ น้ำผลไม้กล่อง

 

 

 

อาหารที่รับประทานได้ 

 

  • ไข่ขาว แหล่งโปรตีนที่ดี ฟอสฟอรัสต่ำ
  • เนื้อปลา หลีกเลี่ยงส่วนกระดูก เช่น ครีบ แก้ม ปลากรอบ
  • เนื้อวัว หมู ไก่ เป็ด ไม่ติดมันหรือหนัง
  • ข้าวขาว แป้งที่ผ่านการขัดสี เช่น เส้นใหญ่ เส้นเล็ก เส้นหมี่ วุ้นเส้น เส้นเซี่ยงไฮ้
  • ขนมไทยที่ใช้แป้งปลอดโปรตีนเป็นหลัก เช่น วุ้น สลิ่ม ลอดช่องสิงคโปร์ สาคู ขนมชั้น ขนมเปียกปูน ขนมลืมกลืน 
    (ผู้ที่เป็นเบาหวานร่วมด้วย ควรบริโภคแต่น้อย)
  • กาแฟดำ ชาจีน/ฝรั่ง ไม่ใส่นม(แต่ยังคงมีฟอสฟอรัสอยู่บ้าง ดังนั้นไม่ควรดื่มในปริมาณมาก)
  • น้ำมะนาว น้ำสมุนไพรเช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำขิง (ผู้ที่มีโพแทสเซียมในเลือดสูงควรหลีกเลี่ยง)

 


ปริมาณฟอสฟอรัสที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของอาหารที่

รับประทานในแต่ละวัน