นอนกรน เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

December 09 / 2022

 

นอนกรน เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

 

 

นอนกรน (Snoring) คือ ภาวะที่มีเสียงผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างหายใจในขณะนอนหลับ เกิดขึ้นจากการถูกปิดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบนบางส่วน และจะกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย การนอนกรนที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น นอนตะแคง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ก่อนเข้านอน โดยการนอนกรน ส่งผลต่อทั้งสุขภาพของผู้ที่นอนกรนเอง และรบกวนบุคคลที่นอนข้าง ๆ นอนกรน พบได้มากในเพศชาย และจะมีอาการหนักขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

 

 

 

นอนกรนเกิดจากอะไร

เกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย และผนังลำคอขณะหลับ ทำให้เกิดการอุดกั้นระบบทางเดินหายใจในบางจุดจนเกิดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ เพดานอ่อน ผนังคอหอย โคนลิ้น รวมไปถึงลิ้นไก่ เมื่อระบบทางเดินหายใจแคบลงการหายใจผ่านบริเวณดังกล่าวจึงทำให้เกิดเสียงกลายเป็นการนอนกรนในที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถรุนแรงต่อการหายใจทำให้ไม่สามารถหายใจได้ชั่วขณะหนึ่งหรือเรียกว่า “ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ”

 

 

 

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงกับอาการนอนกรน

อาการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่

  • น้ำหนักเกิน พบว่าผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • มีอาการของโรคภูมิแพ้บริเวณจมูก
  • มีสันจมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางหลุบ
  • ต่อมทอนซิลโตขวางทางเดินหายใจ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ
  • การรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด
  • ผู้ชายมีโอกาสนอนกรนมากกว่าผู้หญิง 6-10 เท่า
  • ผู้หญิงจะมีอาการนอนกรนเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือน

 

 

ความรุนแรงของการนอนกรน แบ่งได้ 3 ระดับ

 

  • ความรุนแรงระดับ 1 คือ การนอนกรนทั่วไป ไม่บ่อย และมีเสียงไม่ดังมาก การนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ส่งผลต่อการหยุดหายใจในขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของบุคคลที่นอนข้าง ๆ
  • ความรุนแรงระดับ 2 คือ การนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อย หรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ การนอนกรนในระดับนี้อาจส่งผลต่อการหายใจในระดับน้อยถึงปานกลางในขณะนอนหลับ และส่งผลให้รู้สึกง่วงและเหนื่อยในเวลากลางวัน 
  • ความรุนแรงระดับ 3 คือ การนอนกรนเป็นประจำทุกวันและมีเสียงดัง การนอนกรนในระดับนี้มักเกิดภาวะหยุดหายในขณะหลับร่วมด้วย อาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดกั้นบางส่วนหรือทั้งหมดเป็นเวลาประมาณ 10 วินาที ส่งผลให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

 

การรักษาอาการนอนกรน

เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สำหรับผู้ที่นอนกรนในระดับที่ไม่รุนแรง เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เป็นต้น ส่วนผู้ที่นอนกรนในระดับรุนแรงหรือมีสาเหตุการกรนมาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แพทย์อาจมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้

  • การใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรน จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถบรรเทาการนอนกรนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • การผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถบรรเทาการนอนกรนได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการใช้อุปกรณ์ช่วยลดการนอนกรนได้
  • การใช้ยา เพื่อรักษาที่ต้นเหตุของการนอนกรน เช่น ยาต้านฮีสตามีน ในการบรรเทาอาการบวมและระคายเคืองในจมูกของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาแก้คัดจมูก แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้ 

 

 

 

การนอนกรนส่งผลต่อทั้งสุขภาพของผู้ที่นอนกรนเองและรบกวนบุคคลที่นอนข้าง ๆ พบได้มากในเพศชาย และจะมีอาการหนักขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ.ธัญรดา เลี่ยมเส้ง

แผนก หู คอ จมูก

 

 

แก้ไข

25/08/2565

แพ็กเกจตรวจการนอนหลับ เช็คอัพปัญหาสุขภาพ l รพ.รามคำแหง

วิเคราะห์การทำงานของระบบต่างๆ ใน​ร่างกายระหว่างที่คุณนอนหลับ โดยแพทย์เฉพาะทาง

ราคา 11,000 บาท