“กุมารแพทย์ รพ.รามคำแหง” แจงภัยฝุ่นพิษ - โรงพยาบาลรามคำแหง

January 31 / 2024

 

 “กุมารแพทย์ รพ.รามคำแหง” แจงภัย “ฝุ่นพิษ”

 

นพ.สิทธิวุฒิ ฟูตระกูล

กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

 

ฝุ่นพิษขนาดจิ๋วนี้มีอยู่ทั่วไป เกิดจากเรื่องใกล้ ๆ ตัวเรา เช่น การสูบบุหรี่ ประกอบอาหารปิ้งย่าง จุดธูปเทียน แม้กระทั่งการถ่ายเอกสาร หรือสาเหตุหลัก ๆ ที่ทราบกันดีอยู่แล้วคือการปล่อยควันพิษ ไอเสียจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้เชื้อเพลิง เช่น ถ่าน การเผาแผ้วถางป่า ปฏิกิริยาของแก๊สบนชั้นบรรยากาศจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงงานอุตสาหกรรม

 

 

 

สำหรับประเทศไทย กรมควบคุมมลพิษกำหนดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า AQI ซึ่งเป็นการรายงานข้อมูลความเข้มข้นของสารมลพิศทางอากาศ 6 ชนิดรวมกัน ได้แก่ PM 2.5, PM 10, ก๊าซโอโซน, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ และ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชนจึงแบ่งเป็นระดับสี 5 ระดับสี โดยมีหน่วยวัดเป็นไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร คือ ฟ้า มีค่า AQI = 0-25 เขียว มีค่า AQI = 26-50 ส่วน เหลือง มีค่า AQI ที่ 51-100  ส้ม มีค่า AQI ที่ 101-200 และ แดง มีค่า AQI เกิน 201 ซึ่งหากมีระดับสีเหลืองขึ้นไปก็เท่ากับว่าเราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงลดการสัมผัส-เฝ้าระวังสุขภาพและต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันที่สามารถป้องกันฝุ่นพิษจิ๋ว เช่น หน้ากาก N 95 เครื่องกรองอากาศ

 

 

ผลเสียที่จะเกิดต่อร่างกาย

 

สำหรับกรณีที่ PM 2.5 อยู่ที่ 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งประมาณการว่าในปี 2565 ปริมาณ PM 2.5 ที่ชาวกรุงเทพฯ สูดดมเข้าไปจะเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1,225 มวนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 3.36 มวนต่อวัน ซี่งอนุภาคของ PM 2.5 ที่มีการสูดดมเข้าไปนี้จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ และลงลึกไปถึงถุงลมเล็ก ๆ ในปอด ทั้งยังแทรกซึมเข้าสู่หลอดเลือดฝอยเล็ก ๆ เข้าสู่กระแสโลหิต ส่งผลกระทบต่อระบบหายใจและระบบอื่น ๆ ของร่างกายดังนี้

 

สารอนุมูลอิสระจากฝุ่นพิษจิ๋วทำให้ส่วนปลายสุดของโครโมโซมเทโลเมียร์ หดสั้นลงมากกว่าปกติ จนเกิดความเสียหายต่อรหัสพันธุกรรมเพราะจะทำให้ถูกทำลายในระหว่างการแบ่งเซลล์ ขณะที่ สารอนุมูลอิสระ และกระบวนการอักเสบจะก่อให้เกิดการทำลายของ DNA ยับยั้งการซ่อมแซม DNA ทำให้เกิดความผิดปกติแก่ทารกในครรภ์ การกลายพันธุ์ และทำให้สารอนุมูลอิสระไปสะสมที่ตับ ซึ่งตามปกติแล้วตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เสมือนโรงงานกำจัดของเสีย โดยมีสารสำคัญหลายอย่างที่จะช่วยกำจัดสารพิษ แต่เมื่อสารนี้ลดลงก็จะส่งผลให้การกำจัดพิษหรือของเสียอื่นในร่างกายถูกกำจัดน้อยลง และทำให้เกิดปัญหาหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ตามมา

 

นอกจากนี้ กระบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นจากฝุ่นจิ๋วทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้นจากกระบวนการอักเสบ สารอักเสบจะเข้าไปทำลายเซลล์ต่างๆ ส่งผลให้เกิดภูมิต้านทานของร่างกายตกต่ำ ติดเชื้อง่าย เกิดโรคภูมิแพ้ โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดสมองตีบ และมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด

 

 

 

ผลกระทบที่จะเกิดกับสตรีมีครรภ์ที่มีการสัมผัสฝุ่นพิษจิ๋ว

 

  • เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดทารกน้ำหนักน้อย
  • คลอดก่อนกำหนด
  • ทารกตายเฉียบพลัน
  • ภาวะเครียดของทารกในครรภ์
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะออทิสติก
  • เจ็บป่วยง่าย
  • เกิดความพิการในทารก โดยเฉพาะโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น กลุ่มพวกผนังกั้นหัวใจมีรูรั่ว
  • มีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของสมอง ทำให้ขนาดสมองเล็กและพัฒนาการสมองโดยเฉพาะส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวและกระบวนการคิดวิเคราะห์
  • เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหอบหืดในมารดาที่ตั้งครรภ์มากขึ้น
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ

 

 

ช่วงเป็นทารกไปถึงวัยเด็กเล็ก มีวัยระหว่าง 0-3 ปีอาจมีปัญหาการหายใจผิดปกติ ระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน เด็กที่แรกคลอดไม่แข็งแรงมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจต้องดูแลในหอผู้ป่วยวิกฤตพบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สุขภาวะการนอนของเด็กที่ถูกรบกวนโดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน ภาวะหยุดหายใจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณความเข้มข้นของออกซิเจนและอาจทำให้พัฒนาการทางสมองถูกกระทบกระเทือนตามไปด้วย

 

 

วิธีดูแลตนเองจาก PM 2.5

 

  • หลีกเลี่ยง ลด งดกิจกรรมการแจ้ง
     

 

  • ปิดประตูหน้าต่างมิดชิด ระวังอุณหภูมิห้องสูงเกินไป ต้องมีการระบายอากาศที่ดี

 


 

  • สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันที่สามารถกรองฝุ่นพิษ PM 2.5 หากปริมาณค่า AQI มากกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต้องสวมใส่หน้ากาก N 95

 


 

  • สนับสนุนรณรงค์การใช้ยานพาหนะที่เป็นระบบไฟฟ้าแทนการเผาไหม้เชื้อเพลิงเดิม ๆ โดยหันมาใช้รถขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัวหรือรถจักรยาน จำกัดจำนวนปริมาณยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิง Fossil fuels ในเขตพื้นที่จราจรคับคั่ง

 

 

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดฝุ่นพิษ เช่น การสูบบุหรี่ จุดธูปเทียน การปรุงอาหารปิ้งย่าง

 

 

  • ที่พักอาศัยติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพกำจัดฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้และหมั่นล้างทำความสะอาดให้ระบายอากาศได้ดีอยู่เสมอ

 

 

  • เสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเช่น ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ โดยให้เลี่ยงการออกกำลังกายในที่แจ้งถ้าค่า AQI มากกว่า 50

 

 

  • รับประทานอาหารผัก ผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินเอ ซีและอี ดื่มน้ำอย่างน้อย 8- 10 แก้วต่อวัน...พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ 8 ชั่วโมงต่อวัน ลดความเครียด มีอารมณ์แจ่มใสอยู่เสมอ

 

 

  • สร้างเมืองพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับปริมาณฝุ่นในอากาศได้มากขึ้น

 

 

 

สตรีมีครรภ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือนควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสฝุ่นพิษจิ๋ว หากมีกิจกรรมกลางแจ้งควรตรวจสอบค่าดัชนีคุณภาพอากาศควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันไว้เสมอหากจำเป็นต้องออกไปสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.สิทธิวุฒิ ฟูตระกูล

กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

 

 

แก้ไข

07/06/2566