การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

November 15 / 2023

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยกล้องเอ็นโดสโคป

(Endoscopic Spine Surgery)

 

 

ในสมัยก่อนเวลาคิดถึงการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เราจะนึกถึงภาพการผ่าตัดใหญ่ที่แผลยาว เสียเลือดมาก ต้องนอนห้องไอซียู มีโอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาทสูง ทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนมีความกังวล และกลัวที่จะรักษาอาการที่มีอยู่ให้หายสนิทด้วยวิธีการผ่าตัด แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการผ่าตัดกระดูกสันหลังได้มีการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทำให้การผ่าตัดมีความปลอดภัย และประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก ลดความเสี่ยงที่เรามักจะเคยได้ยินว่า “ผ่ากระดูกสันหลังแล้วจะเดินไม่ได้” ให้เหลือน้อยลงมากๆ จนแทบไม่มีเลย

 

 

วิวัฒนาการของการรักษาด้วยการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังเป็นอย่างไร?

 

การผ่าตัดแบบเปิด :

การผ่าตัดรักษาอาการกระดูกสันหลังที่เราคุ้นเคยโดยทั่วไปมักจะเป็นการผ่าตัดเปิด เพื่อที่จะนำเอาส่วนกดทับเส้นประสาทออก รวมถึงสามารถยึดกระดูกสันหลังให้มั่นคงด้วยการใส่เหล็กตรึงเอาไว้ได้ ซึ่งการผ่าตัดในลักษณะนี้มีการทำมานานกว่า 50 ปี และในปัจจุบันก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเรื่องเครื่องมือและวัสดุที่ดีขึ้น ส่งผลให้การผ่าตัดในลักษณะนี้ปลอดภัยขึ้นมากๆ และยังมีที่ใช้ในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

การผ่าตัดผ่านกล้อง microscope :

 

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาการผ่าตัดกระดูกสันหลังก็ได้เริ่มมีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นโดยการนำกล้อง microscope เข้ามาใช้ในการผ่าตัด ซึ่งข้อดีของการใช้กล้อง microscope คือการที่ทำให้แพทย์ผู้ผ่าตัดสามารถเห็นจุดที่จะทำการผ่าตัดได้อย่างชัดเจนขึ้น เนื่องจากกล้อง microscope จะทำการขยายภาพจุดที่ผ่าตัดให้ใหญ่ขึ้น ทำให้แพทย์ผ่าตัดสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำและปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิมและยังสามารถที่จะลดขนาดของแผลผ่าตัดและการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อลงได้มากกว่าเดิมมาก ผู้ป่วยที่ไปโรงพยาบาลก็จะได้ยินโดยทั่วไปว่า “ผ่าตัดโดยใช้กล้อง” ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นกล้อง microscope ซึ่งการเข้ามาของกล้อง microscope ยังเป็นส่วนนึงของจุดเริ่มต้นในการวิวัฒนาการการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Spine Surgery : MISS) อีกด้วย หลังจากที่แพทย์ผ่าตัดในยุคปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อในการผ่าตัด ก็ได้มีการคิดค้นวิธีผ่าตัดอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่จะใช้ประโยชน์จากกล้อง microscope ร่วมกันกับเทคนิคการผ่าตัดแบบเจาะผิวหนัง (Percutaneous procedure) อาทิเช่นการผ่าตัดเชื่อมข้อแบบ MIS-TLIF, OLIF, การผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทแบบ Open Microdiscectomy หรือแบบ Tubular Microdiscectomy (Micro-endo) ทำให้ผลการรักษาโรคทางกระดูกสันหลังมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดและระยะเวลาในการพักฟื้นก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

การผ่าตัดผ่านกล้อง Endoscope :

 

ในเวลาต่อมาการผ่าตัดกระดูกสันหลังก็ได้มีการพัฒนาต่อไปอีกครั้งในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา ด้วยการเข้ามาของ Endoscope เพื่อใช้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง หลักการของ endoscope คือการสอดกล้องเข้าไปในตัวของผู้ป่วยเพื่อที่จะทำการรักษาภาวะต่างๆ เหมือนทางศัลยแพทย์ทั่วไปมีการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy: LC) หรือการผ่าตัด sinus ของแพทย์หูคอจมูก (Endoscopic Sinus Surgery) ข้อดีที่เห็นได้อย่างเด่นชัดของวิธีการผ่าตัดแบบ endoscope ก็คือ การลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้างในการผ่าตัดลงได้อย่างมากเมื่อเทียบกันกับการผ่าตัดแบบอื่นๆ เนื่องจากการผ่าตัดในลักษณะนี้ต้องใช้ความแม่นยำสูงในการระบุจุดที่จำเป็นต้องผ่าตัดทำให้การเลาะเนื้อเยื่อรอบข้างที่ไม่จำเป็นลดลง ทำให้แพทย์ผ่าตัดสามารถลดขนาดของแผลผ่าตัดให้เล็กลงกว่าเดิมเหลือเพียง 1-1.5 ซม. ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ระยะเวลาในการพักฟื้นสั้นลงกว่าการผ่าตัดที่เคยมีมา

 

 

ภาพตัวอย่างจริงของแผลผ่าด้วยกล้อง Endoscope

 

 

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้อง endoscope ในสมัยเริ่มต้นยังมีข้อจำกัดในด้านการรักษาอยู่มาก ส่วนใหญ่มักเลือกใช้วิธีนี้ในการผ่าตัดหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาทเพียงอย่างเดียว

 

แต่ในปัจจุบันด้วยการพัฒนาของเครื่องมือในการผ่าตัด การคิดค้นเทคนิคในการผ่าตัดวิธีต่างๆ รวมถึงความเชี่ยวชาญของแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ในปัจจุบัน การผ่าตัดโดยใช้กล้อง endoscope สามารถทำได้ในหลายพยาธิสภาพ เช่น

- การผ่าตัดขยายช่องไขสันหลังในโรคช่องไขสันหลังส่วนเอวตีบ (Endoscopic Lumbar Decompression)

- การผ่าตัดกระดูกสันหลังส่วนคอหรือส่วนอกกดทับเส้นประสาท (Endoscopic Cervical/Thoracic Decompression)

- การผ่าตัดเชื่อมข้อ (Endo-LIF)

รวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อลดอาการปวดของมะเร็งกระดูกสันหลัง ปัจจุบันก็สามารถเลือกที่จะใช้ endoscope ทำได้ แต่ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลายจุดมากๆ กระดูกสันหลังผิดรูปต้องแก้ไข การผ่าตัดเปิดก็ยังถือว่ามีความจำเป็นอยู่

 

 

ข้อดีของการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (endoscope)

 

  • แผลผ่าตัดเล็ก
  • อาการปวดแผลผ่าตัดน้อย
  • ความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ
  • ลดการทำลายเนื้อเยื่อส่วนดีที่อยู่รอบบริเวณผ่าตัด
  • ผู้ป่วยฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว สามารถกลับบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง

 

 

การผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (endoscope) มี 2 วิธี

 

ในปัจจุบันเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบ endoscope ก็มีอยู่ 2 แบบซึ่งเป็นที่นิยม

 

  • แบบแรกคือแบบ Full-Endoscopic Surgery การผ่าตัดโดยใช้เครื่องมีลักษณะนี้จะมีแผลผ่าตัดเพียงแค่แผลเดียว ซึ่งแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะสอดเครื่องมือที่จะใช้ในการผ่าตัดผ่านรูที่อยู่ที่ตัวกล้อง ข้อดีคือการผ่าตัดในลักษณะนี้จะมีการเลาะเนื้อเยื่อรอบข้างน้อยมากๆ แต่ข้อเสียคือเครื่องมือในการผ่าตัดในลักษณะนี้อาจจะไม่ได้มีพร้อมทุกโรงพยาบาล และแพทย์ที่จะผ่าตัดจะต้องมีความเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับเครื่องมือในการผ่าตัดที่สูงมาก ถึงจะได้ผลการรักษาที่ดี

 

 

  • แบบที่สอง คือ Bi-portal Endoscopic Surgery (UBE/BES) ซึ่งการผ่าตัดในลักษณะนี้จะมีแผลผ่าตัด 2 จุด โดยจุดแรกจะเป็นจุดที่ใช้สอดกล้องและ อีกหนึ่งจุด จะเป็นการสอดเครื่องมือเข้าไปทำการผ่าตัด ข้อดีของการผ่าตัดในแบบนี้คือ หลายๆโรงพยาบาล มีอุปกรณ์และเครื่องมือที่พร้อมอยู่แล้ว ครอบคลุมการรักษาในเกือบทุกจังหวัด และก็สามารถให้ผลการรักษาที่ดี ไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ข้อเสียก็คือในการผ่าตัดจะต้องมีการเลาะเนื้อเยื่อที่มากกว่าการผ่าตัดแบบ Full-Endoscopic Surgery อยู่บ้างเพื่อสร้างพื้นที่ในการขยับกล้องและเครื่องมือ และเช่นเดียวกันถ้าจะได้ผลการรักษาที่ดี แพทย์จะต้องมีความเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับเครื่องมือเป็นอย่างมาก

 

 

 

ขั้นตอนการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป (endoscope)

 

โดยตามปกติ ขั้นตอนในการรักษาโรคทางกระดูกสันหลัง แพทย์ผู้ทำการรักษามักจะเริ่มด้วย

1. การซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อระบุว่าอาการของผู้ป่วยมาจากสาเหตุอะไร

2. หลังจากนั้นจะพิจารณาส่งตรวจทางรังสีในแบบต่างๆ เช่น การทำ X-ray, CT-scan, รวมถึง MRI เพื่อที่จะยืนยันการวินิจฉัยและ วางแผนในการรักษา ในการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบแผลเล็กนั้นจุดสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผลการรักษาออกมาดี นอกจากความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์แล้ว นั่นคือความแม่นยำในการวินิจฉัย ยิ่งวินิจฉัยได้แม่นยำ ก็ย่อมที่จะสามารถเลือกวิธีรักษาที่ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อรอบข้างได้เท่านั้น

3. หลังจากที่ได้การวินิจฉัยที่แม่นยำแล้วเราถึงจะได้ทางเลือกในการรักษา ซึ่งมีตั้งแต่การรับประทานยา ร่วมกับการทำกายภาพ เพื่อลดอาการในกรณีที่เป็นไม่มากจนถึงการผ่าตัดแก้ไข

4. หากมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัดตามปกติแล้วในโรงพยาบาลที่มีแพทย์และเครื่องมือที่พร้อม แพทย์ผู้ทำการรักษาจะเลือกวิธีการรักษาให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยที่สุดและฟื้นตัวเร็วที่สุดก่อนเสมอ แต่ในกรณีที่กระดูกมีการทรุด-เสื่อม หรือไม่สามารถที่จะเลือกทางดังกล่าวได้ จึงจะพิจารณาเลือกการผ่าตัดในรูปแบบอื่นให้เหมาะสมกับผู้ป่วยในแต่ละราย

5. หลังจากเสร็จสิ้นจากการรักษา ถ้าเป็นการรักษาโดยใช้กล้อง endoscope ผู้ป่วยมักสามารถที่จะลุกเดินทำกิจวัตรประจำวันได้เลยและสามารถที่จะกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น

6. แพทย์จะทำการนัดมาดูอาการต่อเนื่องเพื่อตรวจสอบว่าการฟื้นตัวของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมถึงจะได้แนะนำการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับช่วงเวลาต่างๆหลังผ่าตัด โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะสามารถกลับมาเล่นกีฬาหรือใช้งานโดยไม่ต้องระวังตัวมากนักได้เมื่อเข้าเดือนที่ 6 หลังเข้ารับการผ่าตัด

 

 

 

ท้ายที่สุดนี้ โรคทางกระดูกสันหลังนั้นส่วนมากเป็นอาการที่รักษาหาย หากใช้วิธีรักษาที่เหมาะสม ปัจจุบันเทคโนโลยีในการผ่าตัดมีความก้าวหน้าไปมากเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลการรักษาออกมาดี ลดความเสี่ยงและผลข้างเคียงในการผ่าตัดไปได้มาก ทำให้การรักษาโรคทางกระดูกสันหลังมีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก โอกาสที่จะเกิดสิ่งที่เรามักจะเคยได้ยินว่า “ผ่ากระดูกสันหลังแล้วจะเดินไม่ได้”ก็ต่ำมากๆ

 

แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ทำการรักษาและมีการกดทับเส้นประสาทเป็นเวลานานๆ อาจจะทำให้เส้นประสาทเกิดการฝ่อตัวถาวร ทำให้เมื่อตัดสินใจที่จะรักษาภายหลังจากที่เส้นประสาทฝ่อไปแล้วอาจได้ผลในการรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร ในปัจจุบันด้วยทางเลือกในการรักษาที่หลากหลายขึ้น รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของ endoscope ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถที่จะหายจากอาการทรมานที่มีอยู่ได้เร็วขึ้น ปลอดภัยขึ้น และเจ็บตัวลดลง

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

นพ.อัครวิทย์ อัศวศักดิ์สกุล

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมกระดูกสันหลัง

 

 

แก้ไข

02/09/2566