รากฟันเทียมคืออะไร และฟันปลอมทั้งปากอยู่บนรากฟันเทียมเป็นอย่างไร?

September 25 / 2023

 

รากฟันเทียมคืออะไร และ ฟันปลอมทั้งปากอยู่บนรากฟันเทียมเป็นอย่างไร?

 

 

จากอดีตถึงปัจจุบันฟันเทียมที่ใส่ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปได้มีวิวัฒนาการขึ้นตั้งแต่เดิมเป็นฟันเทียมแบบถอดได้ มาเป็นแบบติดแน่นหรือเรียกว่าสะพานฟัน (Bridge) ซึ่งผู้ป่วยจะสะดวกต่อการใช้งานมากแต่ก็มีข้อเสียในการดูแลรักษาความสะอาด แต่อย่างไรก็ยังถือว่าใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุดในขณะนั้นเพราะติดแน่นอยู่ในช่องปากกระทั่งมาถึงปัจจุบัน นวัตกรรมรากฟันเทียมเข้ามาแทนที่ฟันเทียมที่เคยใช้งานกันอยู่ เป็นฟันเทียมทดแทนฟันธรรมชาติที่ใกล้เคียงที่สุด การดูแลรักษาก็ดูแลเช่นเดียวกับฟันธรรมชาติในช่องปาก ทั้งนี้เพราะเป็นฟันเทียมที่มีความสะดวกสบายในการใช้งาน การเคี้ยวอาหาร ความรู้สึกเหมือนฟันธรรมชาติรวมทั้งความสวยงามที่ใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากที่สุดจึงทำให้รากฟันเทียมเป็นที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มฟันเทียมที่ทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป

 

 

 

มาทำความรู้จักรากฟันเทียม

 

รากฟันเทียมเป็นฟันเทียมทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปประเภทหนึ่งที่มีความร้สึกและลักษณะรูปร่างเหมือนฟันธรรมชาติมากที่สุด ทั้งนี้เพราะมีส่วนประกอบที่เป็นรากฟัน ที่เป็นโลหะ Titanium ฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรเปรียบเสมือนเป็นรากฟันจริงในฟันธรรมชาติและมีส่วนครอบฟันที่มีรูปร่างและสีเหมือนฟันข้างเคียง จึงทำให้ดูเหมือนและมีความรู้สึกในปากเหมือนฟันธรรมชาติที่สุดในปัจจุบัน

 

 

ส่วนประกอบของรากฟันเทียม ประกอบด้วย

 

  • ตัวรากฟันเทียม (Fixture) ทำหน้าที่เสมือนรากฟัน จะฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร เป็นฐานที่จะให้ครอบฟันวางอยู่บนตัวของมัน
  • ตัวแกน (Abutment) ส่วนแกนที่ต่อกับตัวรากเทียม (Fixture) โผล่ขึ้นมาเหนือเหงือก ทำหน้าที่เป็นแกนให้ครอบฟันครอบไว้
  • ครอบฟัน (Crown) ส่วนที่ทำหน้าที่เป็นฟันเพื่อความสวยงาม และบดเคี้ยวอาหารทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป จะโผล่ออกมาเหนือเหงือกดังเช่นฟันธรรมชาติทั่วไป

 

 

นอกจากรากฟันเทียมจะใช้ทำเป็นฟันเทียมทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปเป็นซี่ๆ แล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้เป็นหลักยึดฟันปลอมทั้งปาก ในกรณีที่ผู้ป่วยใส่ฟันปลอมทั้งปากมาเป็นเวลานานทำให้สันกระดูกขากรรไกร (Alveolar ridge) ที่รองรับฟันปลอมยุบตัวลง ฟันปลอมทั้งปากที่ใส่ หลวมไม่แน่นเหมือนเดิม เวลาเคี้ยวอาหารจะขยับไปมา ทำให้มีปัญหาต่อการบดเคี้ยว รากฟันเทียมสามารถเข้ามาช่วยโดยการฝังรากเทียมลงในกระดูกขากรรไกร และทำปุ่มยึด (Attachment) โผล่เหนือเหงือก เพื่อยึดฟันปลอมทั้งปาก (Full Denture) จะทำให้ฟันปลอมที่ใส่แน่น ผู้ป่วยสามารถใช้เคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

 

ปัจจุบันการฝังรากฟันเทียมสามารถทำได้ในผู้ป่วยเกือบทุกคนเว้นในบางกรณี เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือไม่สามารถสื่อสารกันได้ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถควบคุมภาวะของโรคให้อยู่ในสภาพปกติได้ หรือในกรณีผู้ป่วยที่มีกระดูกขากรรไกรแบนราบจนไม่มีเนื้อกระดูกเพียงพอที่จะฝังรากฟันเทียมได้ และยังไม่สามารถปลูกกระดูกให้มีกระดูกเพิ่มขึ้นได้ เป็นต้น

 

 

ขั้นตอนในการฝังรากฟันเทียม

 

จะทำในคลินิกทันตกรรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ภายใต้ยาชาเฉพาะที่ เป็นการผ่าตัดเล็ก เมื่อเสร็จแล้วสามารถกลับบ้านได้เลย มีบางรายเท่านั้นที่อาจต้องผ่าตัดภายใต้ยาสลบ ซึ่งหมายถึงจำเป็นต้องพักอยู่ในโรงพยาบาล 1-2 วัน หลังการผ่าตัดฝังรากฟันเทียม ผู้ป่วยอาจมีการบวมหลังผ่าตัดประมาณ 3-4 วัน ซึ่งเป็นกระบวนการหลังการผ่าตัดในช่องปากทั่วไป และจะได้รับการตัดไหม 10 วันหลังผ่าตัด จากนั้นจะต้องรอกระดูกเข้าไปจับกับรากเทียมที่ฝังไปให้แน่นประมาณ 2-4 เดือน แล้วแต่สภาวะของผู้ป่วย เมื่อกระดูกจับกับรากเทียมแน่นดีแล้วโดยการตรวจ X-RAY หรือจากเครื่องวัดความแน่นของรากเทียม (ISQ) จึงเข้าขั้นตอนการใส่ฟันครอบบนรากรากเทียมต่อไป โดยขั้นตอนการทำฟันครอบจะใช้เวลาไม่นานประมาณ 1 เดือน ผู้ป่วยก็จะมีฟันเทียมใช้เคี้ยวอาหาร และสวยงามคล้ายฟันธรรมชาติ

 

 

การใส่ฟันทดแทนด้วยรากฟันเทียม จะมีลักษณะใกล้เคียงฟันธรรมชาติมากที่สุดดังที่ได้กล่าวแล้ว ยังมีภาวะเหงือกอักเสบ มีหินปูนจับได้ และมีการแตกหักได้เหมือนฟันธรรมชาติในช่องปาก

 

การดูแลฟัน

  • การแปรงฟัน
  • ไม่ทานอาหารที่แข็ง
  • การใช้ไหมขัดฟัน เป็นต้น
  • ควรมาพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน - 1 ปี

 

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

ทพ.ชุมพล กฤตยะพงษ์

ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาศัลยศาสตร์ช่องปาก

 

 

แก้ไข

28/08/2566