ปลูกถ่ายไตแล้ว ทานอย่างไร? เคล็ดลับการบำรุงสุขภาพหลังการผ่าตัด

October 04 / 2023

 

ปลูกถ่ายไตแล้ว ทานอย่างไร? เคล็ดลับการบำรุงสุขภาพหลังผ่าตัด

 

 

หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการปลูกถ่ายไตเรียบร้อยแล้ว ข้อจำกัดในการทานอาหารจะลดลงทำให้สามารถเลือกทานอาหารได้หลากหลายและมีรสชาติได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับชนิดของอาหารในผู้ป่วยที่ยังต้องรับการฟอกไต แต่อย่างไรก็ตามการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็ยังคงมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่ดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น อาหารไขมันต่ำ และลดเค็มหรือโซเดียมต่ำ และไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้สด เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน นมพร่องไขมัน ธัญพืชไม่ขัดสี จะเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูงหรือน้ำหนักตัวที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังเป็นการดูแลรักษาสุขภาพโดยรวมเพื่อให้สุขภาพดีและอายุยืนนานขึ้นด้วย ควรใส่ใจความสะอาดและการปรุงอาหารเป็นพิเศษ

 

เนื่องจากหลังเข้ารับการปลูกถ่ายไตยังมีความจำเป็นต้องได้รับยากดภูมิอย่างต่อเนื่องซึ่งมีโอกาสให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่าย และที่สำคัญที่สุดคือ ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมกับกิจวัตรในแต่ละวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ไตที่ได้รับการปลูกถ่ายเกิดภาวะขาดน้ำ ทั้งนี้หากท่านมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น เบาหวาน ด้วยแล้วข้อจำกัดในการรับประทานอาหารนั้นยังคงต้องเป็นไปตามโรคร่วมที่มีอยู่ กรณีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหารที่รับประทาน สามารถปรึกษาแพทย์ ทีมผู้ดูแล นักกำหนดอาหาร เพื่อช่วยในการวางแผนโภชนการ และออกแบบเมนูอาหารที่ควรรับประทานในแต่ละวัน
 

 

ข้อระมัดระวังในการติดเชื้อจากการรับประทานอาหาร

 

  • หลังเข้ารับการปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยจะได้รับยาที่เรียกว่า ยากดภูมิเพื่อป้องกันการสลัดไต โดยยากลุ่มนี้จะลดโอกาสที่ร่างกายจะต่อต้านไตที่ได้รับการปลูกถ่าย ในขณะเดียวกันความสามารถของร่างกายในการต่อต้านเชื้อโรคจะลดลงเช่นเดียวกัน จึงมีโอกาสติดเชื้อโรคได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องใส่ใจต่อสุขอนามัย ความสดใหม่ และความสะอาดในการปรุงและการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ
  • เน้นเรื่องความสะอาดในการสัมผัสอาหารตั้งแต่ขั้นตอนในการปรุง เช่น การล้างมือเสมอหลังสัมผัสอาหาร โดยเฉพาะไข่ดิบหรือเนื้อสัตว์ดิบ หรืออาจใช้ถุงมือที่มีความปลอดภัยต่ออาหารระหว่างที่ปรุงอาหาร และระมัดระวังเป็นพิเศษในการรับประทานอาหารนอกบ้าน


 

  • ควรงดรับประทานอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มักก่อให้เกิดการติดเชื้อ ได้แก่
    • อาหารปรุงสำเร็จที่ทำไว้ค้างคืน อาหารที่มีสีและกลิ่นแปลกไปจากลักษณะเดิม
    • อาหารที่เลยวันหมดอายุที่ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์
    • ไม่ควรรับประทานอาหารใดๆ หากไม่แน่ใจในวันที่ปรุง วันที่ผลิตหรือวันหมดอายุของอาหารชนิดนั้นๆ
    • ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุก ได้แก่ เนื้อสัตว์ดิบ หรือปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบทุกชนิด อาหารทะเลสด ปลาดิบ หรือซูชิ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ เช่น นมดิบ ชีสสด โยเกิร์ตสด ไข่ดิบ หรือ อาหารที่มีส่วนผสมของไข่ดิบ ควรรับประทานแต่ผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการพาสเจอไรซ์ และไข่ที่ปรุงสุกดีแล้วเท่านั้น
    • ผัก ผลไม้ที่ยังไม่ได้ล้างทำความสะอาด ผลไม้ที่มีบางส่วนของผลมีรอยช้ำ เน่า หรือ แตก น้ำผลไม้หรือไซเดอร์ที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ ผักสลัดจากสลัดบาร์ตามร้านหรือโรงอาหารต่างๆ
    • ต้นอ่อนของพืชบางชนิดที่มักนำมารับประทานแบบสด เช่น อัลฟัลฟ่า ถั่วงอก

 

 

 

หลักการรับประทานอาหารหลังการได้รับการปลูกถ่ายไต

 

  • หลังปลูกถ่ายไตร่างกายจะแข็งแรงมากขึ้น มีความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งผลจากกยากดภูมิจะทำให้เพิ่มความอยากอาหาร ดังนั้นควรมีการควบคุมปริมาณหน่วยบริโภคของอาหารที่รับประทาน
  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันอิ่มตัวสูง อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
  • หลังการเข้ารับผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารกลุ่มโปรตีนในปริมาณที่สูงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่อาจสลายไปในระหว่างที่ได้รับสเตียรอยด์ขนาดสูง หลังจากนั้นควรลดปริมาณลงกลับสู่ปกติ โดยเน้นเป็นโปรตีนคุณภาพ เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ถั่วต่างๆ
  • เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมันที่ปรุงสุก เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา นมพร่องมันเนย ชนิดน้ำตาลต่ำ และ เครื่องดื่มที่ไม่เติมน้ำตาล เช่น น้ำเปล่า ชา กาแฟ ไม่ใส่น้ำตาล
  • หากพบว่าน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์ ทีมผู้ดูแลและนักกำหนดอาหารเพื่อช่วยวางแผนการรับประทานอาหารทั้งในแง่การคำนวณพลังงานที่ควรได้รับต่อวันและสัดส่วนของโภชนาการที่ควรได้รับ

 

 

 

การจำกัดแร่ธาตุต่างๆ ในอาหาร

 

  • หลังผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะยังต้องบริโภคอาหารแบบลดเค็มอยู่ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน ยาที่ได้รับหลังการปลูกถ่ายไต โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการบวมน้ำ ซึ่งการบริโภคเกลือหรือโซเดียมที่มากจนเกินไป จะทำให้อาการเป็นมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงได้
     

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เกลือบริโภค อาหารแปรรูป เช่น แฮม ไส้กรอก เบคอน อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมถุง อาหารกระป๋อง ซอส ผักดอง อาหารหมักดอง ทั้งนี้ท่านสามารถปรึกษาแพทย์และทีมผู้ดูแล เกี่ยวกับปริมาณโซเดียมที่ควรจำกัดในแต่ละวัน

 

​​​​​​
 

  • หากการปลูกถ่ายไตเป็นไปได้ด้วยดี และการทำงานของไต กลับสู่ภาวะปกติ ผู้ป่วยสามารถกลับมาบริโภคอาหารที่มีโพแทสเซียมได้ตามปกติ ซึ่งยาที่ได้รับหลังปลูกถ่ายไตแต่ละชนิดส่งผลต่อระดับโพแทสเซียมในเลือดแตกต่างกัน ซึ่งท่านสามารถสอบถามแพทย์และทีมที่ดูแลได้ว่า ท่านยังจำเป็นต้องจำกัดการรับประทานโพแทสเซียมหรือไม่
     
    • อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม ผัก และผลไม้ชนิดต่างๆ
       



 

  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง มักจะมีปัญหาในการควบคุมสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูก โดยแพทย์อาจมีการตรวจติดตามความหนาแน่นกระดูกเป็นระยะ ซึ่งหากการทำงานของไตหลังการผ่าตัดกลับมาปกติ
     
    • ผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียมได้จาก งา ผักเขียว ปลาเล็กปลาน้อย ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น เว้นแต่จะมีข้อห้ามเฉพาะจากแพทย์และทีมผู้ดูแล


       



 

  • อีกทั้งยากดภูมิอาจทำให้มีระดับฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ จึงแนะนำให้รับประทานธัญพืช ถั่ว หรือผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มขึ้น

 

 

 

อาหารบางชนิดอาจส่งผลต่อระดับยากดภูมิ

 

  • เกรปฟรูต น้ำเกรปฟรูต ทับทิม น้ำทับทิม โดยเฉพาะหากรับประทานยา Tacrolimus หรือ Prograf, Sirolimus, Everolimus, Cyclosporine จะส่งผลต่อระดับยาในเลือดให้มีผิดปกติไปจากเดิม
  • การรับประทานวิตามินหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมใดๆ ควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษาและทีมผู้ดูแลทุกครั้ง และควรระมัดระวังการรับประทานอาหารเสริมที่เป็นกลุ่มสมุนไพรเป็นพิเศษ

 

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

ผศ.นพ.ธนรร งามวิชชุกร

แพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรศาสตร์โรคไต

 

 

แก้ไข

28/08/2566

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

โปรแกรมผ่าตัดถุงน้ำดี อัตราเหมาจ่าย โรงพยาบาลรามคำแหง

รักษานิ่วในถุงน้ำดีโดยใช้กล้องวิดิทัศน์ ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกับผลแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากแผลผ่าตัดใหญ่ๆ อีกต่อไป

ราคา 99,500 บาท

ผ่าตัดเหมาจ่ายต้อกระจก

ต้อกระจกเกิดจากการขุ่นมัวของเลนส์แก้วตา สามารถรักษาให้มองเห็นได้ โดยการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตา

ราคา 31,300-98,500 บาท

แพ็กเกจศูนย์หัวใจ ขยายหลอดเลือดหัวใจตีบ แบบไม่ต้องผ่าตัด

ราคา 33,000-120,000 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพ Platinum Check up สำหรับกลุ่มสุภาพสตรี

แพ็กเกจตรวจสุขภาพ RAM Platinum รายละเอียด เช่น การตรวจหัวใจและหลอดเลือด ร่วมกับการตรวจหาแคลเซียมที่ผนังหลอดเลือด ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง เป็นต้น

ราคา 30,990 บาท

บันทึกการเต้นของหัวใจในโลกยุคดิจิทัล "ป้องกันภาวะหัวใจวาย"

Multiday Patch Holter (แผ่นบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ) อุปกรณ์บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดแผ่น แปะติดที่หน้าอก สามารถบันทึกการเต้นของหัวใจติดต่อกันได้หลายๆ วัน

ราคา 6,000 บาท