นพ. พีระพัชร์ ภูรีวิวัฒน์
แพทย์ผิวหนัง (ตจวิทยา)
เล็บของเรา เป็นอวัยวะหนึ่งในร่างกาย ที่หลายคนมักไม่ได้สนใจ แต่เล็บก็มีความสำคัญนะครับ เพราะเล็บสามารถบ่งบอกสุขภาพของเราได้เหมือนกัน...
เล็บที่มีสุขภาพดีจะมีลักษณะเป็นสีชมพูจาง มีพื้นผิวของเล็บที่เรียบ ไม่มีขรุขระ ผิวหนังรอบๆ เล็บไม่เปื่อยร่น และที่สำคัญคือ เล็บไม่หนาและไม่บางมากเกินไป
เล็บผิดปรกติคือเล็บที่มีลักษณะแปลกไปจากที่กล่าวมา โดยอาจมีลักษณะบาง มีฝ้าหรือผิวโดยรอบไม่เรียบ ขรุขระ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดการติดเชื้อ เกิดการระคายเคืองจากสารเคมี หรือเกิดจากโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อเล็บ ซึ่งมีลักษณะผิดปกติหลากหลายแบบ
การมีเล็บที่หนาผิดปกติอาจเสี่ยงต่อการเป็น โรคเชื้อรา ยิ่งไปกว่านั้นอาจพบอาการร่วมอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เล็บอาจมีสีเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วนปลายเล็บอาจมีความขรุขระ ที่สำคัญคืออาจเสี่ยงต่อการเป็น โรคสะเก็ดเงินเนื่องจากโรคนี้อาจทำให้เล็บหนาหลายเล็บ ตรงข้ามกับโรคเชื้อราที่เป็นเพียง บางเล็บเท่านั้น
เล็บบางกว่าปรกติอาจเกิดจากโรคโลหิตจาง เนื่องจากขาดธาตุเหล็ก โดยเล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน รวมถึงในผู้สูงอายุก็อาจมีเล็บที่บางและเปราะแตกง่ายตรงบริเวณปลายเล็บได้
เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระเป็นอาการที่พบได้ค่อนข้างบ่อยเลยก็ว่าได้ครับ โดยบริเวณผิวของเล็บจะเป็นหลุมเล็กๆ แล้วถ้าเป็นหลายเล็บก็อาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงินหรือโรคภูมิแพ้ อาการดังกล่าวอาจพบได้ในเด็กบางรายโดยที่ไม่มีสาเหตุ บางกรณีอาจมาจากอาการเจ็บป่วย ซึ่งอาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่เล็บมีการสร้างเล็บผิดปกติขณะป่วยได้
อาการผิวหนังรอบเล็บบวมแดงพบได้ในผู้ที่สัมผัสกับน้ำบริเวณผิวหนังรอบเล็บบ่อย โดยอาจมีการเปื่อยยุ่ย ทำให้เกิดการระคายเคืองจากสารเคมีได้ง่าย เช่น สารเคมีจากน้ำยาล้างจาน สารเคมีจากน้ำยาทำความสะอาดบ้าน บางครั้งก็อาจเกิดการติดเชื้อราตามมาได้ ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง ซึ่งส่งผลให้ผิวหนังรอบเล็บบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย
เล็บที่เปลี่ยนสีอาจมีสาเหตุมาจากโรคทางกายที่มีผลกับสีของเล็บ เช่น เล็บมีสีดำ สาเหตุอาจเป็นเพราะมะเร็งผิวหนัง เชื้อรา การกระแทก ไฝ เล็บเป็นสีดำขึ้นมาเอง อย่างไรก็ตาม กรณีของมะเร็งผิวหนังก็มีข้อสังเกต กล่าวคือ เล็บที่ดำจะมีลักษณะเป็นปื้นสีดำและสีไม่สม่ำเสมอ เป็นแค่เล็บเดียว มีประวัติเป็นมาไม่นาน และอาจมีผิวหนังที่โคนเล็บเป็นสีดำร่วมด้วย
เล็บมีสีขาวครึ่งเล็บพบได้ในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังเป็นส่วนใหญ่ กรณีที่เล็บมีสีขาวสองในสามของเล็บ โดยทั่วไปสามารถพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคหัวใจวาย เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวาง ซึ่งอาจเกิดจากโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ เมื่อใช้มือกดไปที่เล็บสีขาวที่เห็นก็จะจางลง
โดยปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่ถ้าหากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อรา โรคผดผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงมีผลข้างเคียงของการใช้ยาบางชนิดก็อาจส่งผลให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลงได้
แพทย์จะเริ่มรักษาอาการเล็บที่ผิดปกติตามสาเหตุที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น
หมั่นสังเกตสม่ำเสมอว่าเล็บมีลักษณะผิดปกติหรือต่างจากเดิมไหม หรือถ้าหากดูแล้วไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ดีที่สุด เพราะถ้าหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นจริงจะได้รีบรักษาให้หายโดยเร็ว...
แก้ไข
15/09/2566
แพทย์ผิวหนัง (ตจวิทยา)