หมอนรองกระดูกเสื่อม ผ่าตัดรักษาได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

February 08 / 2024

หมอนรองกระดูกเสื่อม

หมอนรองกระดูกเสื่อม สามารถผ่าตัดรักษาได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

 

ในอดีต ปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมส่วนใหญ่มักเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันพบว่า คนทั่วไปก็มีอาการของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาววัยทำงานที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมไวกว่าปกติและมีอาการปวดต่าง ๆ ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

 

อาการหลักที่พบในโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมในผู้ที่อาการไม่รุนแรง คือ อาการปวดตื้อ ๆ บริเวณเอว โดยอาจมีอาการปวดร้าวลงมาที่กล้ามเนื้อด้านข้างของหลังและสะโพก และอาการจะแสดงชัดเจนขึ้นเมื่อนั่ง ยืน หรือเดินนาน ๆ หรือขับรถระยะทางไกล ๆ แต่เมื่อนอนพัก 10-15 นาที อาการปวดจะทุเลาลง ส่วนในบางรายที่มีอาการรุนแรง เกิดเป็นภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท จะมีอาการชา แขนขา และเท้าอ่อนแรง ตามแนวเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ

 

สารบัญ

 

 

พฤติกรรมเสี่ยงภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันควร

ภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม มักสัมพันธ์กับกิจกรรมและการใช้งานหลังของผู้ป่วย โดยมีสาเหตุเกี่ยวเนื่องกันหลายปัจจัย เช่น

 

 

  • กิจกรรมหรืออาชีพบางประเภท โดยเฉพาะที่ต้องนั่งนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือขับรถระยะทางไกลเป็นประจำ
  • การยกของหนัก หรือกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ
  • การสูบบุหรี่ ซึ่งมีผลทำให้เลือดไหลไปเลี้ยงบริเวณหมอนรองกระดูกน้อยลง ส่งผลให้กระดูกเสื่อมเร็วก่อนเวลาอันควร

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม อาการ

 

การเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลังคืออะไร

โดยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงของหมอนรองกระดูกสันหลังจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วัยรุ่น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับลักษณะการใช้งานกระดูกสันหลังอย่างหนักและกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ การสังเคราะห์และการเผาผลาญโปรตีโอไกลแคน (Proteoglycan) ที่อยู่ในส่วนกลางของหมอนรองกระดูกสันหลังจะเริ่มเกิดการถดถอย จะส่งผลทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังสูญเสียความสามารถในการอุ้มน้ำ เกิดภาวะที่แห้งลงและสูญเสียความยืดหยุ่นและแรงดึงตัวคงสภาพความสูงคล้ายลูกโป่งอัดแก๊สที่รั่วซึม จนสามารถส่งผลให้เกิดภาวะที่ตามมาดังต่อไปนี้

 

  • การยุบตัวของหมอนรองกระดูกสันหลัง
  • การกระจายแรงและน้ำหนักอย่างไม่เหมาะสมของกระดูกสันหลัง
  • การสูญเสียความสามารถในการรับและกระจายน้ำหนักของกระดูกสันหลัง

 

โดยปกติ ขอบนอกของหมอนรองกระดูกสันหลัง จะมีลักษณะเป็นเส้นใยหลายๆ ชั้นประสานกัน เมื่อเส้นใยเหล่านี้เกิดการฉีกขาดจากด้านใน ส่งผลทำให้ขอบด้านนอกของหมอนรองกระดูกสันหลังบางลง คล้ายยางรถยนต์ที่เส้นใยผ้าใบที่เกิดการฉีกขาด โดยเมื่อได้รับแรงหรือน้ำหนักกดทับ จะเกิดการโป่งพองและแรงกดดันต่อเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบที่มีระบบประสาทรองรับ ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผ่นหลัง หรือหากหมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการโป่งนูนตามแนวของไขสันหลังและเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวในบริเวณดังกล่าวได้เช่นกัน

 

ในบางกรณี หากเกิดการกระทบกันของหมอนรองกระดูกสันหลังในส่วนที่เป็นของเหลว ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับน้ำหนัก จนส่งผลต่อกระดูกอ่อนบริเวณที่ปิดด้านบนและด้านล่างของหมอนรองกระดูก ก็อาจเกิดการแตกร้าว และเมื่อร่างกายเริ่มกระบวนการซ่อมแซมบริเวณที่ได้รับความเสียหายผ่านหลอดเลือดและเส้นประสาทที่งอกเข้าไปในบริเวณนั้น ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดจากน้ำหนักหรือแรงที่กดทับลงมาได้มากขึ้น

 

การวินิจฉัยภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม

การวินิจฉัยโรคหมอนรองกระดูกเสื่อม ต้องอาศัยข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน โดยเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติเพื่อให้ทราบถึงอาการหรือปัญหาของผู้ป่วย รวมถึงการตรวจร่างกายเพื่อวิเคราะห์การทำงานของระบบประสาท โดยส่วนมาก อาการของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมนั้นมีความใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ แพทย์อาจจำเป็นต้องทำการตรวจเลือด หรือตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และตรวจเอกซเรย์คลื่นสนามแม่เหล็ก เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม วิธีรักษา

แนวทางการรักษาภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม

เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า อาการปวดเฉพาะจุดบริเวณแผ่นหลังมีสาเหตุเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม แพทย์จะเสนอแนวทางในการรักษาตามอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย โดยแนวทางหลักในการรักษามี 2 วิธีตามลำดับ คือ

การรักษาแบบประคับประคอง

การรักษาแบบประคับประคอง คือ การชะลอเพื่อไม่ให้หมอนรองกระดูกเสื่อมไวขึ้น แพทย์จะทำการรักษาด้วยยา พร้อมแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักและทำกายภาพบำบัด หลังจากนั้นจะติดตามผลการรักษาว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางใด โดยหากผู้ป่วยมีแนวโน้มที่แย่ลงกว่าเดิม หรือมีอาการทางระบบประสาทแทรกซ้อน เช่น รู้สึกปวดเพิ่มขึ้นเวลาใช้งานหรือปวดตามแนวเส้นประสาทขณะนอนหลับ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือฝ่อลีบ รู้สึกชาหรือสูญเสียความรู้สึก และมีอาการไอ จาม ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรือไม่สามารถปัสสาวะเองได้ แพทย์จะดำเนินการตรวจหารอยโรคเพิ่มเติมโดยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมในขั้นต่อไป

การผ่าตัด

การผ่าตัด หากการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทขั้นต้นไม่เป็นผล แพทย์จะทำการประเมินรอยโรคของผู้ป่วยโดยอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของตน เพื่อเลือกวิธีการผ่าตัดที่ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด โดยในปัจจุบัน วิวัฒนาการการรักษาด้วยการผ่าตัดมีความก้าวหน้าอย่างมาก แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเจ็บตัวน้อยและมีความปลอดภัยมากขึ้น แผลมีขนาดเล็กต่างจากการผ่าตัดทั่วไป โดยแนวทางการผ่าตัดสามารถแบ่งย่อยได้เป็นวิธีต่าง ๆ ดังนี้

 

 

  • การสลายหมอนรองกระดูกสันหลังในส่วนที่เป็นสารกึ่งเหลว เป็นการรักษาเพื่อมุ่งลดแรงดันภายในหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายวิธีการ อาทิเช่น การใช้คลื่นความถี่สูง การใช้อุปกรณ์ดูดออก และการส่องกล้อง เป็นต้น
  • การผ่าตัดเปิดแผลเพื่อนำหมอนรองกระดูกสันหลังในส่วนที่เป็นสารกึ่งเหลวออก ประกอบด้วย การใช้กล้องจุลทัศน์ การผ่าตัดเปิดแผลเล็ก และผ่าตัดเปิดแผลตามปกติ
  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง เป็นการรักษาโดยการตรึงกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็ก โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลัง

 

หมอนรองกระดูกเสื่อม กายภาพบำบัด

 

โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

โรคหมอนรองกระดูกเสื่อม สำหรับคนทั่วไป และสำหรับผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมป้องกันได้ ดังนี้

สำหรับคนทั่วไป

สำหรับคนทั่วไป แม้ว่าหมอนรองกระดูกจะเริ่มเสื่อมตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น และยากแก่การป้องกัน อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ก็ถือเป็นเกราะป้องกันภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัยอันได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ควรหมั่นระมัดระวัง ไม่ให้เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ รวมถึงกิจกรรมที่ส่งผลต่อกระดูกสันหลังอย่างต่อเนื่อง และงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด รวมถึงการคงน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม

สำหรับผู้ที่มีภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ส่งผลต่อการลงน้ำหนักที่บริเวณกระดูกสันหลัง รวมถึงการยกของหนัก หรือการนั่งนาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อลดความรุนแรงของอาการและป้องกันไม่ให้โรคมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

คำถามที่พบบ่อย (FAQs)

หมอนรองกระดูกเสื่อมแล้วเป็นอย่างไร ?

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่เมื่อเกิดการยุบตัวของกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกปวดหลัง โดยเมื่อเกิดการกดทับหรือมีการเบียดทับของเส้นประสาทร่วมด้วย อาการปวดจะรุนแรงขึ้น โดยอาจมีอาการชาบริเวณสะโพกร่วมกับการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเป็นได้

ภาวะกระดูกเสื่อม รักษาหายขาดไหม ?

แม้จะไม่มีแนวทางในการรักษาภาวะกระดูกเสื่อมให้หายขาดได้ เนื่องจากเป็นการเสื่อมตามสภาพร่างกายและอายุ แต่สามารถชะลอความเสื่อมและบรรเทาอาการได้ด้วยการรักษาด้วยยา หมอนรองกระดูกเสื่อม กายภาพบำบัด การผ่าตัด และการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกต่าง ๆ

ควรทานอะไร เพื่อเสริมหมอนรองกระดูก ?

ในปัจจุบัน ยังไม่มีอาหารหรือวิตามินเสริมชนิดใด ที่มีผลโดยตรงต่อหมอนรองกระดูก

บทสรุป

โรคกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อม หรือภาวะการเสื่อมของหมอนรองกระดูก และข้อต่อที่อยู่ด้านหลังของกระดูกสันหลัง (Facet Joint) สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น ชอบนั่งท่าเดิมนาน ๆ หรือยกของหนักเป็นประจำ ไม่จำกัดแค่ในผู้สูงอายุ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตร่างกาย โดยหากพบอาการปวดในบริเวณดังกล่าว มีอาการขาชา หรือความปกติอื่นๆ ที่บริเวณกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยไม่ควรปล่อยไว้ และควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งจะมีผลช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติหรือใกล้เคียงกับปกติที่สุดนั่นเอง

ติดต่อนัดพบแพทย์

โรงพยาบาลรามคำแหง เรามีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงวิเคราะห์ทุกโรค ทุกอาการด้วยความละเอียดและใส่ใจ หากคุณกำลังเผชิญกับสัญญาณของร่างกายที่ผิดปกติ คุณสามารถติดต่อนัดพบแพทย์ได้ทันที

 

ติดต่อนัดพบแพทย์

 

อ้างอิงจาก

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7007629/

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

แพ็กเกจวัคซีนพื้นฐานวัคซีนตามเกณฑ์อายุตั้งแต่ 1 - 8 เดือน

เด็กน้อยอายุ 1 เดือน – 18 เดือน เสริมด้วยวัคซีน Rotarix เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย

ราคา 11,000 บาท

แพ็กเกจวัคซีนเสริม Prevnar 13

พ่อแม่ยุคใหม่ สร้างเกราะป้องกันให้ลูกด้วย “วัคซีนป้องกันเชื้อไอพีดี”

ราคา 10,500 บาท

แพ็กเกจวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

การฉีดวัคซีน HPV ไม่เพียงช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสอื่นๆ

ราคา 8,000 บาท

แพ็กเกจคลอดลูกแบบธรรมชาติและทำหมัน l โรงพยาบาลรามคำแหง

คลอดธรรมชาติและทำหมัน

ราคา 57,000 บาท

แพ็กเกจผ่าตัดคลอด ทำหมันหลังคลอด l โรงพยาบาลรามคำแหง

ผ่าตัดคลอดและทำหมัน

ราคา 77,000 บาท