จะรู้ได้อย่างไร? ว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า

August 31 / 2023

 

 

จะรู้ได้อย่างไร? ว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า

 

 


จะรู้ได้อย่างไร ว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า 


คนจำนวนไม่น้อยที่รู้ว่าตัวเองกำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ และมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่หลงไปว่าอาการที่ตัวเองเป็นอยู่บ่อยๆ เป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง เป็นเพราะมีกรดในกระเพาะมาก เป็นเพราะเพลียจากการหักโหมงาน กินยาขับลมช่วยย่อย หรือพองานน้อยลงทุกอย่างก็จะดีไปเอง กว่าจะรู้ว่ามันเป็นอาการของโรคหัวใจมันก็สายไปเสียแล้ว วิธีที่ดีที่สุดจะบอกให้ได้แน่นอนว่าอาการต่างๆ ที่น่าสงสัยนั้นเป็นอาการของโรคหัวใจหรือเปล่าก็คือการไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คให้แน่ใจ

 

 

วิธีการตรวจความผิดปกติของหัวใจทำได้หลายวิธี 


การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram)

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือที่เรียกว่า EKG เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในกล้ามเนื้อหัวใจ โดยจะมีรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจอาจเปลี่ยนแปลงไปตามความผิดปกติของหัวใจ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจถือว่าเป็นการตรวจที่ง่ายและสะดวก ผู้รับการตรวจจะไม่เจ็บ จากการตรวจ การตรวจทำได้โดยการวัดคลื่นไฟฟ้าของหัวใจผ่านทางสื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กที่วางไว้ตามจุดต่างๆของร่างกาย ได้แก่บริเวณหน้าอก แขน และขา แล้วบันทึกกราฟแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจนั้นลงบนกระดาษ ขั้นตอนการตรวจนี้ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที แต่บางทีเราอาจจะไม่พบสิ่งผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจบางชนิดได้ ในการตรวจตามธรรมดา เนื่องจากถ้าหัวใจ ไม่ได้ทำงานหนักขึ้นการเปลี่ยนแปลงของคลืนไฟฟ้าหัวใจอาจจะยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งอาจต้องใช้การทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการออกกำลังกายต่อไป 

 

 

 

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าชนิดติดตัว (Holter moniter) 


ในผู้ป่วยบางรายที่มารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วไม่พบความผิดปกติในขณะนั้น แต่ผู้ป่วยอาจจะยังมีอาการที่น่าสงสัยว่า หัวใจอาจมีความผิดปกติ แพทย์อาจจะแนะนำให้ใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดติดตัว ซึ่งผู้รับการตรวจจะต้องนำเครื่องมือนี้พกติดตัวตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้ทราบว่ากิจกรรมต่างๆ ใน 24 ชั่วโมง ของผู้รับการตรวจมีผลทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ และเมื่อครบตามกำหนดเวลาจึงนำเทปที่บันทึกไว้มาแปลผลโดยเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ต่อไป วิธีนี้จะทำให้สามารถบันทึกคลื่นหัวใจของผู้ที่มารับการตรวจในช่วงเวลาต่างกัน ในขณะที่มีกิจกรรมต่างๆ ตลอดวัน 

 

 

 

การตรวจสภาพหัวใจ (Exercise Stress Test) 


เป็นการตรวจสมรรถภาพของหัวใจโดยผู้ป่วยออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพานเลื่อนหรือปั่นจักรยาน เพื่อทดสอบว่าภายใต้สภาวะที่หัวใจทำงานมากขึ้น มีความต้องการออกซิเจนจากเลือดที่หล่อเลี้ยงมากขึ้นนั้น จะมีปริมาณเลือดมาเลี้ยงเพียงพอหรือไม่ ในผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันอยู่ เมื่อทำการทดสอบคลื่นไฟฟ้า หัวใจจะแสดงสภาพของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อย่างชัดเจน และบ่งบอกระดับความรุนแรงของโรค ว่าจะต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการสวนหัวใจแล้วหรือยัง 

 

 การตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) 


การตรวจหัวใจภายนอกโดยใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ ช่วยในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง จะทำให้เห็นการเคลื่อนและการบีบตัวของหัวใจว่าปกติดีหรือไม่ ความเร็วและความดันเลือดเป็นอย่างไร ตลอดจนตรวจดูความพิการของหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจและโรคหัวใจชนิดอื่นๆ เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าจะใช้การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดและพยากรณ์โรคได้ ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้จะไม่มีอันตรายและไม่มีความเจ็บปวดใดๆ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 20-30 นาที ใช้หลักการของการส่งคลื่นความถี่สูงลงไปบริเวณหัวใจ เมื่อกระทบส่วนต่างๆ ของหัวใจก็สะท้อนกลับมายังเครื่องเครื่องก็จะแสดงผลเป็นเงาตามความหนาบาง เนื้อเยื่อที่เลี้ยงไปกระทบและส่งกลับ ทำให้ทราบถึงรูปร่างของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ สามารถดูการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจเปรียบเทียบกัน ทั้งขณะที่พักหรือนอนเฉยๆ กับขณะที่มีการออกกำลังกาย การตรวจวิธีนี้สามารถดูได้จากจอแสดงผล และบันทึกเก็บไว้เป็นรูปภาพได้ เพื่อการตรวจสอบต่อไปในอนาคต บางคนเรียกการตรวจวิธีนี้ว่า “ตรวจเอ็กโคหัวใจ”

 

 

 

การตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่ 


ตรวจความผิดปกติของหลอดเลือดขนาดใหญ่ ช่วยบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ ซึ่งเมื่อพบความผิดปกติ สามารถพิจารณาให้ยาเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยง รวมทั้งการตรวจวัดดัชนีการแข็งตัวของหลอดเลือด โดยใช้เครื่องวัด ABI (Ankle-Brachial Index) ซึ่งเป็นการวัดความผิดปกติของหลอดเลือดด้วยการวัดแรงดันโลหิตตรงส่วนปลายขา เทียบสัดส่วนกับแรงดันโลหิตที่แขนข้างเดียวกัน ซึ่งเป็นการบ่งชี้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ ได้

 

 

 

MRI (Magnetic Resonance Imaging) 


เครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยล่าสุดที่รังสีแพทย์ใช้ในการตรวจและแสดงภาพอวัยวะต่างๆ ได้ใกล้เคียงกับอวัยวะจริงมากที่สุด เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่มีความไวและจำเพาะในการวินิจฉัยโรค โดยการส่งผ่านคลื่นความถี่วิทยุไปยังผู้ป่วยอยู่ในอุโมงค์สนามแม่เหล็กแรงสูง ซึ่งไม่มีสารรังสีเอกซเรย์หรือสารทึบรังสีประเภทไอโอดีน ในการตรวจ MRI จะบอกความสามารถในการบีบตัวของหัวใจ และสามารถใช้ดูเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ว่าอุดตันหรือไม่ การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนเข้ารับการตรวจ สำหรับผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือในการนอนนิ่งๆได้ดี นานประมาณ30-90นาที โดยขณะนอนตรวจต้องนอนนิ่งๆ และหายใจเป็นจังหวะตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ จะไม่เจ็บปวดขณะตรวจ

 


 

 

การตรวจสวนหัวใจ (Coronary angiogram) 


แพทย์จะทำการตรวจหรือการฉีดสีโดยการใช้สายสวนขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2 มม.ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบ ข้อพับแขน หรือข้อมือ ไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจทั้งซ้ายและขวา จากนั้นแพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอกซเรย์ หรือที่เรียก“สี” ฉีดเข้าทางสายสวนนั้นไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่ (ซึ่งก็คือเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ) เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการตีบแคบหรือตันของหลอดเลือดหรือไม่ ความรุนแรงมากน้อยขนาดไหน และที่ตำแหน่งใดบ้าง เกิดขึ้นที่เส้นเลือดกี่เส้น ล้วนเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง 

 


 

 

ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 128 Slice 


เพื่อตรวจพยาธิสภาพของหลอดเลือดหัวใจ โดยไม่ต้องใส่สายสวนผ่านหลอดเลือดแดง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยหลอดเลือดหัวใจ อีกทั้งสามารถตรวจหาปริมาณแคลเซียมหรือหินปูนที่เกาะตามผนังหลอดเลือดหัวใจ และสามารถตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ลักษณะทางกายภาพของหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ ภาพที่ได้จะถูกประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพชัดเจน และแม่นยำใช้เวลาตรวจเพียง 15-30 นาที ผู้รับการตรวจสามารถกลับบ้านได้ทันที เมื่อทำการตรวจเสร็จ

 

 

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพ 


ก่อนที่ท่านกลับบ้าน ท่านจะได้รับการอธิบายเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและยาที่จำเป็น โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดและบุคลากรที่ชำนาญ เพื่อให้คำแนะนำและดูแลอย่างต่อเนื่องในช่วงฟื้นฟูสุขภาพภายหลังการผ่าตัดอย่างถูกต้อง ตลอดจนการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติต่อไป การกลับมาพบแพทย์ตามนัดภายหลังจากการกลับบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะอาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าเส้นเลือดของหัวใจมีการไหลเวียนโลหิตได้ดี 

 

คนจำนวนไม่น้อยที่รู้ว่าตัวเองกำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ และมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่หลงไปว่าอาการที่ตัวเองเป็นอยู่บ่อยๆ เป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง