ยาคุมกำเนิด และการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

April 04 / 2024

 

 

ยาคุมกำเนิด วัคซีนโควิด

และการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ

 

พญ. ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์

สูติ - นรีเวช ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช
และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

 

 

ประเด็นข้อสงสัยคือ

  1. ยาคุมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันไหม?
  2. วัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันไหม?
  3. ทานยาคุมแล้วฉีดวัคซีนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันไหม จะทำอย่างไร?

 

ขอตอบตามหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่ตอนนี้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ถ้ามีข้อมูลใหม่เพิ่มเติม

ยาคุมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันไหม?

อันดับแรกมาทำความรู้จักกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous Thromboembolism: VTE) คือ ภาวะที่มีลิ่มเลือดเกิดในหลอดเลือดดำ อาจเป็นเส้นเลือดระดับตื้น (superficial vein) หรือระดับลึก (deep vein)

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) คือ ภาวะที่มีลิ่มเลือดก่อตัวที่หลอดเลือดดำส่วนลึกในร่างกายโดยอาจเกิดขึ้นที่ตำแหน่งเดียวหรือหลายตำแหน่ง มักเกิดที่ขา ถ้าเฉียบพลันมีอาการขาบวม แดงและปวด จัดเป็นภาวะที่อันตรายเนื่องจากลิ่มเลือดที่อุดกั้นอาจหลุดไปตามกระแสเลือดและไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำในปอด (pulmonary embolism: PE) ได้ ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูง

 

ภาพแสดงการลิ่มเลือดดำส่วนลึกที่ขาและมีการไหลเวียนไปอุดตันที่ปอด

ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.chelwest.nhs.uk/your-visit/patient-leaflets/support-services/are-you-at-risk-of-blood-clots-dvt-deep-vein-thrombosis-and-pe-pulmonary-embolism

 

ยาคุมในที่จะกล่าวถึงคือยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมชนิดทานซึ่งประกอบด้วย เอสโตรเจน (estrogen) และโปรเจสติน (progestin) ให้ดูที่กล่องยาหรือแผงยาที่เราทาน แบ่งตามระดับเอสโตรเจน ซึ่งระดับเอสโตรเจนสูง (≥ 50ไมโครกรัม)มีผลต่อความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมากกว่าระดับยาระดับเอสโตรเจนต่ำ (≤ 35ไมโครกรัม)) โดยกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นและลดลงของปัจจัยการแข็งตัวของเลือด

ส่วนโปรเจสตินแบ่งได้อีกเป็น4รุ่นแต่ละรุ่นที่นำมาใช้ในยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีเอสโตรเจนก็ส่งผลต่อความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตันต่างกัน

ยาคุมชนิดอื่นๆ ที่ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว เช่นยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวชนิดทาน (mini pill, ที่ใช้ในสตรีหลังคลอดได้แก่ exluton หรือ cerazett) แบบฉีดเข้ากล้าม (DMPA) แบบฝังใต้ท้องแขน (implanon แบบ1หลอดหรือ 2หลอด) แบบห่วงที่มีฮอร์โมน (mirena) จากข้อมูลพบว่ามีความเสี่ยงน้อยหรือไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน

ส่วนยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมแบบแผ่นแปะ (patch) หรือห่วงวงกลม (ring) ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน(VTE)ต่างจากยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมทาน (COC) คือมีความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ เทียบเคียงยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

สรุปจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่า ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตัน 3-9 รายต่อ 10,000 ราย เทียบกับสตรีที่ไม่ได้ทานยาคุมและไม่ตั้งครรภ์ 1-5 รายต่อ10,000 ราย (ACOG committee opinion No.540 November2012) หรือประมาณ 2-5เท่า ขึ้นกับปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนและชนิดโปรเจสโตเจนในยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมและความเสี่ยงจะสูงในช่วงเดือนแรกของการเริ่มรับประทานยา

ส่วนในสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด12สัปดาห์ มีความเสี่ยงสูง 12เท่า (48-60/10,000) ซึ่งสูงกว่าการทานยาคุมกำเนิดฮอร์โมนรวมมาก

ตารางแสดงความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันในหลอดเลือดดำโดยแบ่งตามปริมาณเอสโตรเจนและชนิดโปรเจสติน ในยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานยาคุม (The relative risk of venous thromboembolism in current users of different types of hormonal contraception according to estrogen dose, progestin type and route of administration. Nonusers reference group)1

 ขอบคุณรูปภาพจาก : Lidegaard, Øjvind. (2014). Hormonal contraception, thrombosis and age. Expert opinion on drug safety. 13. 1353-60.

 

ส่วนยา visanne ที่มีส่วนประกอบเป็นฮอร์โมนโปรเจสโตเจนตัวเดียวคือdinogest 2mg ที่ใช้รักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนต่อความเสี่ยงต่อลิ่มเลือดดำอุดตัน

แต่อย่ากังวลเรื่องยาคุมฮอร์โมนรวมกับการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตัน (venous thromboembolism) เพราะยังมีประโยชน์ในหลายด้าน นอกเหนือการคุมกำเนิด เช่นนำมาใช้รักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis) อาการปวดท้องประจำเดือน (dysmenorrhea) ประจำเดือนออกมาก (hypermenorrhea) ออกผิดปกติหรือจากภาวะถุงน้ำในรังไข่ (PCOS) รักษาภาวะฮอร์โมนเพศชายเกินเช่น สิว ขนดก หน้ามัน รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

ดังนั้นการทานยาคุมเพื่อคุมกำเนิดและเพื่อการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม ติดตามอาการสม่ำเสมอจะปลอดภัยจากผลข้างเคียงได้ แพทย์หรือเภสัชจะให้คำแนะนำประเมินความเสี่ยงอื่นๆ รวมทั้งโรคประจำตัว ข้อห้ามในการทานก่อนเริ่มยาคุม

สตรีที่ทานยาคุมควรหมั่นดูแลและตรวจสุขภาพสังเกตอาการ ผลข้างเคียงและลดความเสี่ยงอื่นๆ ที่จะเพิ่มการเกิดภาวะลิ่มเลือดดำอุดตันเช่น ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน งดบุหรี่ เป็นต้น

 

ภาพแสดงสาเหตุและความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก

(Causes and Risk Factors of Deep Vein Thrombosis)2

ขอบคุณรูปภาพจาก : By Dawn Stacey, PhD, LMHC  Medically reviewed by Scott Sundick, MD on March 03, 202

 

วัคซีนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันไหม?

มีรายงานการเกิดภาวะหลอดเลือดดำอุดตันที่สมอง cerebral venous sinus thrombosis (CVST) ซึ่งเกิดพร้อมกับเกล็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) หรือภาวะ vaccine-induced prothrombotic immune thrombocytopenia (VIPIT) หลังจากได้รับวัคซีน AstraZeneca จากข้อมูลถึงเดือนมีนาคม2021 พบรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการฉีดวัคซีน AstraZeneca ในสหราชอาณาจักร 79 รายและมักพบบ่อยในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 55 ปี เกิดขึ้นในช่วง 4-20 วันหลังฉีดวัคซีน (younger women) โดยพบภาวะลิ่มเลือดอุดดำตันในคนที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca 1 ต่อ 250,000 ในขณะที่พบรายงานการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการทานยาคุม 1 รายต่อสตรี 1,000 รายในแต่ละปี โดยที่ขบวนการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่างกัน จะเห็นว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากวัคซีนพบน้อยกว่าการทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม

จากข้อมูลดังกล่าวทาง MHRA (Medicines & Healthcare products Regulatory Agency) พบว่ายังมีความปลอดภัยและมีประโยชน์มากในการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันกับเกล็ดเลือดต่ำซึ่งพบน้อยยังคงต้องติดตามการศึกษาต่อไป

คำแนะนำสำหรับสังเกตอาการหลังได้วัคซีน 4 วันถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

  • ปวดศีรษะมาก ทานยาแก้ปวดไม่ดีขึ้น รู้สึกอาการแย่ลงถ้าอยู่ในท่านอนหรือโค้งงอตัว
  • ปวดศีรษะที่มีอาการตามัว สับสน พูดติดขัดไม่ชัด อ่อนแรง ง่วงซึม หรือชัก
  • ผื่นขึ้นเป็นจ้ำเลือด หรือตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนมีเลือดออก
  • หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก ขาบวม หรือปวดแน่นท้องท้องไม่หาย

 

 

ทานยาคุมแล้วฉีดวัคซีนจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันไหมแล้วจะต้องหยุดทานไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกันชัดเจน และกลไกการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากยาคุมฮอร์โมนรวมกับการฉีดวัคซีนต่างกัน ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดดำอุดตันมากกว่าการทานยาคุมมีคำแนะนำในการฉีดวัคซีนเช่นกัน คำแนะนำตามเอกสารอ้างอิง6-9

 

จากข้อมูลปัจจุบันผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิดสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาเนื่องจาก ยังไม่พบเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด และสตรีตั้งครรภ์หลัง 12 สัปดาห์ หรือช่วงหลังคลอดให้นมบุตรสามารถรับวัคซีนโควิด-19 ได้เช่นกันโดยพิจารณาตามความเสี่ยง และโรคประจำตัว

 

ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิดสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาเนื่องจาก ยังไม่พบเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำอุดตันแต่อย่างใด

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ. ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์

สูติ - นรีเวช ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยานรีเวช
และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

 

เอกสารอ้างอิง

1. Lidegaard, Øjvind. (2014). Hormonal contraception, thrombosis and age. Expert opinion on drug safety. 13. 1353-60.

2.อ้างอิงBy Dawn Stacey, PhD, LMHC  Medically reviewed by Scott Sundick, MD on March 03, 202

3. Medicines and healthcare products regulatory agency. Coronavirus vaccine – weekly summary of yellow card reporting[Internet].  [place unknown]: GOV.UK. 2021 May 27.

Available from: https://www.gov.uk/government/publications/coronavirus-covid-19-vaccine-adverse-reactions/coronavirus-vaccine-summary-of-yellow-card-reporting

4. Medicines and healthcare products regulatory agency. MHRA issues new advice, concluding a possible link between COVID-19 Vaccine AstraZeneca and extremely rare, unlikely to occur blood clots[Internet].  [place unknown]: GOV.UK. 2021 Apr 7.

https://www.gov.uk/government/news/mhra-issues-new-advice-concluding-a-possible-link-between-covid-19-vaccine-astrazeneca-and-extremely-rare-unlikely-to-occur-blood-clots

5. Taylor Adam. Blood clot risks: comparing the AstraZeneca vaccine and the contraceptive pill [Internet]. Australia: The conversation; 2021 Apr 10 [updated 2021Apr 12].

Available from: https://theconversation.com/blood-clot-risks-comparing-the-astrazeneca-vaccine-and-the-contraceptive-pill-158652

6. ประกาศราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยที่07/2564 เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิท-19 และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน

7.ประกาศราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยที่06/2564 เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิท-19ในสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

8. กรมควบคุมโรค และคณะผู้เชี่ยวชาญเหตุการณ์ไม่พึงปรสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน ฉบับที่ 31 พฤษภาคม 2564 เรื่องภาวการณ์เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอดกับวัคซีนโควิด19

9. กรมอนามัย และคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ เรื่องหญิงท้อง-หญิงให้นมลูกฉีดวัคซีนโควิดได้ พิจารณาตามความเสี่ยง มีโรคประจำตัว 29พฤษภาคม 2564

 

9/6/64

 

 

 

 

 

 

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

Exercise Ready มาเตรียมความพร้อม ก่อนกลับไปออกกำลังกาย

ตรวจเช็กให้มั่นใจก่อนกลับไปออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัยและได้สุขภาพที่แข็งแรงกลับมา

ราคา 12,581 บาท

Weight Management ลดน้ำหนักให้ได้ผลและปลอดภัยกับผู้เชี่ยวชาญ

ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแล เพื่อให้ได้น้ำหนักที่พอใจ พร้อมกับสุขภาพที่แข็งแรง

ราคา 15,668 บาท

ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ครอบคลุม 4 สายพันธุ์

สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย เข็มเดียวป้องกันไวรัสได้ถึง 4 สายพันธุ์

ราคา 990 บาท

โปรแกรมตรวจสุขภาพก่อนสมรสคุณผู้หญิง สำหรับลูกน้อยในอนาคต

ก่อนเริ่มต้นชีวิตแต่งงาน สุขภาพสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่เพื่อคุณและคู่รัก แต่เพื่อสุขภาพของลูกน้อยน่ารักในอนาคต

ราคา 5,490 บาท

คุณจะมีความสุขแค่ไหน ? ถ้าไม่จำเป็นต้องใส่แพมเพิสอีกต่อไป

คุณจะมีความสุขแค่ไหน?.. ถ้าไม่ต้องใส่แพมเพิส

ราคา 3,500 บาท