พญ. ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์
มะเร็งวิทยานรีเวช สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช
มะเร็งปากมดลูกพบมากเป็นอันดับสองในสตรีทั่วโลก แต่ในประเทศไทยกลับเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยพบมากในช่วงวัย 35 - 60 ปี และยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มเรื่อย ๆ กว่า 6,000 รายต่อปี ทั้งยังโอกาสเสียชีวิตราว 2,600 รายต่อปี อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ หากเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะก่อนเกิด
ปัจจุบันมีข้อมูลจำนวนมากพอจนสรุปได้ว่า เชื้อ HPV (Human Papillomavirus) เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยพบเชื้อนี้จากผลการตรวจชิ้นเนื้อในเกือบทุกรายที่เป็นมะเร็ง (ร้อยละ 99.7) ไวรัสชนิดนี้ติดได้ทางเพศสัมพันธ์ และเป็นไวรัสชนิดเดียวกันที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะสืบพันธุ์
เชื้อ HPV ที่ก่อเกิดการติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์มีมากกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งพบว่ามีสายพันธุ์ที่สุ่มเสี่ยงสูงกว่า 13 สายพันธุ์ เมื่อติดเชื้อจึงก่อเกิดความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูกและอาจกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด ส่วนสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำอาจก่อเกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น
การตรวจคัดกรองหาเซลล์ผิดปกติที่ปากมดลูกหรือที่เรียกว่า “แพปเสมียร์” ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกว่าสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพปเสมียร์ดั้งเดิม หรือ วิธีลิควิคเบส (Liquid-based Cytology) เช่น วิธีตินเพร็พ วิธีลิควิคเพร็พ ยังมีปัญหาในเรื่องความไวในการวินิจฉัยโรค ทำให้มีผลลบปลอมค่อนข้างสูง
กล่าวคือ เซลล์ผิดปกติอยู่ที่ปากมดลูก แต่ตรวจไม่พบโดยวิธีดังกล่าว ทำให้การตรวจครั้งนั้นผิดพลาด ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มแรกไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น
การตรวจหาตัวเชื้อเอชพีวีโดยตรง หรือที่เรียกว่า HPV DNA เป็นเทคนิคการตรวจด้านชีวโมเลกุลที่ให้ความไวในการตรวจสูง (ร้อยละ 90) นั่นแปลว่าเราสามารถตรวจพบเชื้อได้ตั้งแต่ในระยะแรกที่ติดเชื้อเมื่อเทียบกับการตรวจ “แพปสเมียร์” เทคนิคนี้จะตรวจหาเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ยังพบว่าหากใช้การตรวจ HPV, DNA ร่วมกับการตรวจแบบแพฟสเมียร์จะยิ่งช่วยให้วินิจฉัยความผิดปรกติของปากมดลูกได้มีประสิทธิภาพมาก
รอยโรคจะพัฒนาเป็นตัวมะเร็งได้ต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ หากดูแลรักษาแต่ตอนนี้ก็ตัดไฟแต่ต้นลมได้ ไม่ว่าจะมีเชื้อ HPV อยู่ในปากมดลูกหรือไม่ แต่หากดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ร่วมรักษาสุขภาพจิตของตัวเองดี ก็สามารถกำจัดเชื้อได้ด้วยตัวเอง
สมาคมโรคมะเร็งและองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้แนะนำให้ตรวจหาเชื้อ HPV ร่วมกับแพปเสมียร์ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป หากผลการตรวจเป็นปกติก็เว้นระยะการตรวจได้ทุก ๆ 3 ปี กรณีผลการตรวจทั้ง 2 วิธี ไม่สอดคล้องกัน เช่น ผลการตรวจ HPV ให้ผลบวก แต่ไม่พบเซลล์ผิดปกติจากการตรวจแพปเสมียร์ แพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยมาตรวจยืนยันทั้ง 2 วิธีทุก ๆ 6 - 12 เดือน
ท่านสามารถมารับบริการตรวจหาเชื้อ HPV ด้วยวิธี PCR (Polymerase Chain Reaction) โดยปรึกษากับแพทย์ชำนาญการด้านสูติ-นรีเวช ที่คลินิกสูตินรีเวช โรงพยาบาลรามคำแหง
แพทย์จะทำการเก็บตัวอย่างจากบริเวณปากมดลูกพร้อมในขั้นตอนเดียวกับการตรวจแพปเสมียร์และการตรวจภายในส่งตัวอย่างไปตรวจพิเศษที่ห้องปฏิบัติการทราบผลภายใน 7 วัน
มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยที่แพทย์สามารถตรวจคัดกรองหาความผิดปกติได้ตั้งแต่ “ระยะก่อนเป็นมะเร็ง” ซึ่งผู้ป่วยยังไม่แสดงอาการ
แก้ไข 25/08/64
มะเร็งวิทยานรีเวช สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช