การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ร่วมรู้โรคและเข้าใจหลากวิธีตรวจ

December 31 / 2024

ตรวจมะเร็งปากมดลูก

 

 

     มะเร็งปากมดลูก  (Cervical Cancer) เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีไทย โดยมีผู้ป่วยใหม่ปีละประมาณ 7,000 ราย ส่วนใหญ่พบเมื่ออายุมากกว่า 35 ปี ปัญหาของโรคมะเร็งปากมดลูกคือ เมื่อเริ่มเป็นมักไม่มีอาการใดจนกว่าจะกลายเป็นระยะที่ลุกลามซึ่งยากจะรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถตรวจและสืบค้นได้ตั้งแต่เซลล์เริ่มผิดปกติ เนื่องจากการดำเนินโรคเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน

 

 


ปากมดลูกเป็นอวัยวะที่อยู่ในตำแหน่งที่สามารถตรวจวินิจฉัยได้ง่ายกว่าอวัยวะอื่น ทำให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่มีโอกาสเป็นมะเร็ง หรือก่อนเข้าสู่ระยะลุกลาม การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคนี้ได้


 

 

 

 

ตรวจมะเร็งปากมดลูกตรวจมะเร็งปากมดลูก

 

 

 

 

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก

  • มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
  • มีคู่นอนหลายคน
  • มีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศ
  • การสูบบุหรี่
  • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือใช้ยากดภูมิต้านทาน
  • การติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV)

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

1.  การตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์

     ในปี พ.ศ. 2535 องค์การอนามัยโลกได้รวบรวมสถิติจนพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวีธีแปปสเมียร์ (Pap smear) กับประชากรหญิง อายุ 35-60 ปีในทุก 5 ปีสามารถลดอุบัติการณ์ของมะเร็งปากมดลูกได้ถึงร้อยละ 44 Pap smear จึงเป็นวิธีการที่ก่อเกิดประโยชน์ เสียค่าใช้จ่ายไม่สูง เป็นที่ยอมรับและใช้อย่างแพร่หลายกันมานานจนถึงปัจจุบัน

 

ข้อแนะนำสำหรับสตรี

  • ควรรับการตรวจ Pap smear ครั้งแรกเมื่ออายุระหว่าง 30-35 และควรตรวจเป็นประจำทุก 1-3 ปี
  • สำหรับความถี่ของการตรวจขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปาก มดลูกของสตรีแต่ละคน สูตินรีแพทย์จะเป็นผู้แนะนำว่าสมควรตรวจบ่อยเท่าใด

 

 

 

ตรวจมะเร็งปากมดลูก

 

 

ขั้นตอนการทำ Pap smear 

     ผู้เข้ารับการตรวจสามารถเข้าพบสูตินรีแพทย์เพื่อดำเนินการตรวจภายในห้องปิดเพียง 1-2 นาที โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุผิวบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดด้านใน ป้ายลงบนแผ่นสไลด์แก้ว ก่อนจะนำแผ่นสไลด์ส่งไปย้อมสีด้วยวิธีการเฉพาะและให้พยาธิแพทย์ชำนาญการตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติผ่านกล้องจุลทรรศน์

 

 

ตรวจมะเร็งปากมดลูกตรวจมะเร็งปากมดลูกตรวจมะเร็งปากมดลูกตรวจมะเร็งปากมดลูก

 

 

การรายงานผลการตรวจ Pap smear 

     ผู้ที่เข้ารับการตรวจแบบ Pap smear จะได้รับผลภายใน 2-3 วัน ซึ่งการรายงานผลที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือระบบ Papanicolaouclassification (classI-V) และระบบ Bethesdasystem (รายงานที่รวมรายละเอียดของเซลล์ที่ตรวจพบ) เมื่อผลตรวจออก สูตินรีแพทย์จะแปลผลรายงานแจ้งให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจทราบ

 

 

การรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของปากมดลูก

     เมื่อผลการตรวจ pap smear รายงานผิดปกติ สูตินรีแพทย์จะแปลผลรายงานพร้อมวางแผนการรักษาหรือแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสม เนื่องจากความผิดปกติที่เกิดกับปากมดลูกมีหลาบแบบ คำแนะนำอาจแตกต่างกันออกไป เช่น บางรายอาจให้มารับยาปฏิชีวนะหรือยาเหน็บช่องคลอดและนัดตรวจซ้ำภายหลัง บางรายอาจจำเป็นต้องนัดมาตรวจเพิ่มเติมด้วยกล้อง Colposcope

 

 

2.  การตรวจด้วยกล้อง Colposcope 

     กล้อง Colposcope หรือกล้องส่องปากมดลูกเป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจและส่องดูรายละเอียดของรอยโรคในปากมดลูก การตรวจด้วยกล้อง Colposcope จัดเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากมีเลนส์ที่มีกำลังขยาย 6-40 เท่าสำหรับดูการติดสีที่ผิดปกติ ทำให้เห็นรอยโรคบริเวณหลอดเลือดที่ผิวของปากมดลูกและช่องคลอดได้คมชัด สูตินรีแพทย์จึงสามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องจำเพาะเจาะจง

 

 

ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

 

 

3.  การตรวจแบบ Liquid-based cytogy

     Liquid-based cytogy เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในห้องปฏิบัติการ โดยใช้อุปกรณ์เฉพาะคอยเก็บตัวอย่าง ด้วยการป้ายเยื่อยุผิวจากบริเณปากมดลูกในแบบเดียวกับการทำ Pap smear แพทย์จะนำเซลล์ตัวอย่างที่เก็บได้ทั้งหมดใส่ลงในขวดน้ำยา ก่อนส่งเข้าเครื่องอัตโนมัติเพื่อเตรียมเซลล์เยื่อบุผิวให้ปราศจากสิ่งปนเปื้อนพวกมูกหรือเม็ดเลือด ทั้งยังช่วยลดการซ้อนทับของเซลล์ที่หนาแน่นเกินไป เมื่อเตรียมพร้อมแล้วจึงลงบนแผ่นสไลด์แก้ว

 

ข้อดีของการตรวจ

  • ช่วยเพิ่มโอกาสให้พยาธิแพทย์ตรวจพบความผิดปกติที่มีอยู่ได้ดียิ่งขึ้น
  • ข้อมูลจากการวิจัยทั่วโลกรายงานว่าการตรวจปากมดลูกด้วย Thin prep ให้ผลการตรวจที่ถูกต้องกว่าการตรวจ Pap smear ด้วยวิธีเดิม อย่างไรก็ตาม วิธีนี้มีข้อเสียเรื่องราคาแพงกว่าวิธิเดิมมาก
  • เหมาะใช้ตรวจเฉพาะในสตรีบางรายที่มีโอกาสเสี่ยงสูงเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และยังใช้ตรวจติดตามผลการรักษาโรคของปากมดลูกบางชนิดเท่านั้น

 

 

อ่านเพิ่มเติม: การตรวจเชื้อ HPV กับการเกิดมะเร็งปากมดลูก

 

ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งปากมดลูกมักไม่มีอาการใดจนกว่าจะกลายเป็นระยะที่ลุกลามแล้ว ซึ่งยากต่อการรักษาให้หายขาด ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจึงสามารถช่วยลดอัตราการเกิดโรคได้