โรคลมชัก สาเหตุจาก “คลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ” อันตรายต่อทุกฝ่าย

February 23 / 2024

 

 

 

โรคลมชัก

อันตรายทั้งกับผู้ป่วย คนรอบข้าง สาเหตุจาก “คลื่นไฟฟ้าสมองผิดปกติ”

 

 

 

 

พญ.สุธิดา เย็นจันทร์
แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท
โรงพยาบาลรามคำแหง

 

 

อุบัติเหตุที่มีที่มาสาเหตุจาก “โรคลมชัก” ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นกับใครต่อใครก็ได้อันเนื่องมาจากความผิดปกติบางประการในตัวของผู้ป่วยเอง ซึ่งหากญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดได้ทราบข้อมูลความรู้เป็นอย่างดีแล้วก็เชื่อว่าจะช่วยลดการปัญหาที่น่าห่วงพร้อมกับป้องกันเรื่องน่าเศร้าดังที่นำมาถ่ายทอดไว้ในเบื้องต้นโดยข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคลมชักได้รับการถ่ายทอดจาก “พญ.สุธิดา เย็นจันทร์” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาทประจำ “โรงพยาบาลรามคำแหง” ซึ่งระบุว่า

 

 

 

โรคลมชักเป็นอาการที่เกิดจาก ?

 

 

 

  • โรคลมชักเป็นอาการที่เกิดจาก “ความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง” เช่น อาจจะมีจุดที่ไฟฟ้าในสมองช็อตหรือลัดวงจรพูดง่ายๆ ทำให้อาการชักเกิดขึ้นโดยจะเกิดอาการได้หลายแบบซึ่งบางรายที่มาหาคุณหมอก็มีอาการแค่เหมือนเหม่อกระพริบตาแล้วก็ไม่รับรู้โลกภายนอกแค่กระพริบตาหรือขยับเคี้ยวปากนิดหน่อยขณะที่บางคนก็รับรู้ตัวโดยยังมีสติรับรู้อยู่เพียงแต่ว่าควบคุมอาการกระตุกหรืออาการสั่นที่เกิดขึ้นไม่ได้ มีการกระตุกหรือสั่นเป็นจังหวะ

 

  • บางคนก็เดินพูดซ้ำๆ เบลอๆ หมุนไปหมุนมา หรือไม่ก็มีน้ำลายไหลอย่างรุนแรงหลายคนอาจเรียกโรคนี้ว่า “ลมบ้าหมู” ในกรณีที่มีอาการเกร็งชักกระตุก ชักทั้งตัว หมดสติ บางรายก็อาจมาจากอาการวูบล้มทันทีก็ได้

 

  • ซึ่งสาเหตุที่ชักจะมีหลายอย่าง จากปัจจัยทางสมองเองก็ได้โดยที่บางคนมีโรคความพิการทางสมองมาแต่กำเนิดหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมมีประวัติครอบครัวมีอาการชักในบางรายมีเนื้องอกในสมอง หรือเคยมีเลือดออกในสมองมีแผลเป็นเนื้อสมองเกิดขึ้นเพราะสมองมีการพัฒนาการที่ผิดปกติหรือเกิดจากการติดเชื้อ มีลักษณะเนื้อสมองอักเสบหรือเป็นฝีในเนื้อสมองก็ได้

 

 

 

 

 

 

 

  • บางคนก็อาจเกิดจากมีพยาธิในเนื้อสมองก็มาด้วยในอาการชักได้ ส่วนบางรายที่ไม่มีความผิดปกติในเนื้อสมองโดยตรงแต่มีไฟฟ้าในสมองลัดวงจรก็เกิดอาการชัก หรืออาจเกิดจากการมีตัวกระตุ้น เช่น ภาวะที่ร่างกายเกิดอาการเครียด เพลียหรือเหนื่อยล้ามากเกินไปหรือตรากตรำ อดนอนติดต่อกันบางคนก็ติดต่อกันหลายคืน หรือการได้รับสารการกระตุ้น ,สารเสพติด ,แอลกอฮอล์หรือมียาบางตัวก่อให้เกิดการกระตุ้นระบบประสาทระบบสมองก็ก่อให้เกิดอาการชักได้เช่นกัน

 

 

  • ความอันตรายของอาการชักคือผู้ป่วยจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ไม่รู้สึกตัว จึงอาจจะเกิดภาวะอุบัติเหตุแทรกซ้อน เช่น กำลังทำอะไรอยู่บนที่สูงขณะเกิดอาการชักก็อาจล้มหรือพลัดตกลงมา หรือหากชักขณะว่ายน้ำก็จมน้ำได้ หรือถือของร้อน ของแหลมของมีคมก็เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุตามมาได้...หรืออย่างกรณีที่เกริ่นนำในเบื้องต้นคือกรณีที่เกิดอาการชักขณะกำลังรับบทสารถีนั่นเอง

 

ชัดเจนเลยนะคะว่า อันตรายที่จะเกิดขึ้นจาก “โรคลมชัก” นั้นสามารถส่งผลถึงผู้อื่นรวมทั้งตัวผู้ป่วยเองก็ไม่พ้นด้วยเช่นกัน 

 

 

 

 

 

 

 

 

ใช้เทคโนโลยี การแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย-รักษาอาการชัก 

 

 

เพื่อให้ได้ทราบถึงต้นตอของปัญหาอาการชักของผู้ป่วยอันจะนำไปสู่การบำบัดรักษาอย่างได้ผล “คุณหมอสุธิดา” ได้ให้ความกระจ่างว่าต้องมาซักประวัติ มาตรวจร่างกายกันว่ามีสาเหตุที่เป็นจากสภาพเนื้อสมองโดยตรงหรือเปล่า นอกเหนือจากนี้อาจจะต้องเจาะเลือดไปตรวจ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเพื่อดูลักษณะว่ามีคลื่นที่แสดงถึงอาการชักหรือไม่ และถ้าจำเป็นในบางรายก็ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยการสแกนสมองไม่ว่าจะเป็นด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซีทีสแกน CT Scan หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan

 

 

 

 

 

 

 

โดยที่ในบางรายถ้าจำเป็นก็ต้องเจาะหลังเพื่อตรวจน้ำไขสันหลังร่วมด้วยค่ะส่วนการรักษานะคะถ้าเราตรวจพบสาเหตุที่ชัดเจน เช่นบางรายที่เป็นเนื้องอกในสมอง เป็นฝีในสมองก็อาจจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่ในการควบคุมอาการชักจะเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการดูแลตัวเอง หลีกเลี่ยง มิให้เกิดภาวะเครียดหรือเหนื่อยล้าเกินไปดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอนอกเหนือจากนี้คือหลีกเลี่ยงสารกระตุ้น สารเสพติดต่างๆ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะพวกนี้เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการชัก ในบางรายที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคลมชักก็อาจต้องได้รับยารักษาซึ่งในกรณีนี้ผู้ป่วยควรรับประทานยารักษาอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดยาเอง เพราะอาการชักสำหรับบางคนจะไม่มีอาการเตือนหากแต่เป็นขึ้นเฉียบพลันก็อาจก่อให้เกิดอันตรายแทรกซ้อนได้ค่ะ

 

 

 

คุณหมอยังได้สรุปให้ฟังถึงสิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับอาการชักก็คือการชักแต่ละครั้งจะก่อให้เกิดความเสียหายหรือการบาดเจ็บเกิดขึ้นกับเซลล์สมองและในรายที่มีอาการชักซ้ำๆ หลายๆ ทีนั้นในระยะยาวก็จะเกิดผลเสียต่อสมองในเรื่องของความจำโดยทำให้ความจำถดถอยช้าลงอาจจะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงจนในที่สุดเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ !! ซึ่งยังไงก็เป็นเรื่องน่าห่วงทั้งสิ้นสำหรับผู้ที่ป่วยด้วยอาการชักอย่างที่ว่านี้เพราะเหตุเหล่านี้ทำให้ “คุณหมอสุธิดา” ขอฝากคำแนะนำมายังคนใกล้ชิดซึ่งมีภาระในการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการชักโดยระบุว่า 

 

 

 

ที่สำคัญคือต้องเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องนะคะหลีกเลี่ยง หรือห้ามเด็ดขาดสำหรับการใช้ของแข็งไม่ว่าจะเป็นไม้ ตะเกียบ ซ้อน หรือส้อมไปงัดปากไม่ให้กัดลิ้น เพราะนั่นอาจทำให้เกิดอันตรายโดยเกิดการบาดเจ็บที่ลิ้น หรือใบหน้าได้ อีกอย่างที่ต้องระวังคือการสำลักหากเกิดอาการชักโดยมีเศษอาหารในปาก ให้พยายามเอาออกด้วยการจับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้เขาล้มแล้วก็ปล่อยสักพักเพราะปกติส่วนใหญ่อาการชักจะหยุดได้เองภายใน 1-2 นาทีแต่ถ้าอาการชักดูท่าจะยาวเกิน 5 นาทีก็ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลค่ะ

 

 

หลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงที่จะไปกระตุ้นให้เกิดการชักในรายที่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาต้อง

รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในความดูแลของแพทย์ 

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/612