โรคลมชัก (epilepsy) เกิดจากการมีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติในสมอง

February 23 / 2024

 

 

โรคลมชัก (epilepsy)

 

 

 

โรคลมชักคืออะไร ?

 

โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากการมีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติในสมองทำให้เกิดอาการชักพบได้ในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากหลายสาเหตุ

  • ความผิดปกติในเนื้อสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง, มีก้อนเนื้อผิดปกติ, มีแผลหรือเลือดออกในสมอง
  • ผู้เป็นโรคตับ โรคไต ความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่ ยาหรือสารพิษ

 

 

 

โรคลมชักมีอาการอย่างไร ?

 

อาการชักมีหลายชนิด อาการแสดงจะเป็นไปตามตำแหน่งของสมองที่ถูกกระตุ้นให้ชัก เช่น

  1. อาการชักแบบทำอะไรไม่รู้ตัว
    • อาการที่เกิดขึ้นคือ มีอาการหยุดสิ่งที่ทำอยู่พร้อมกับสูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัวอาจมีการเคลื่อนไหวแบบไร้จุดหมายโดยไม่รู้ตัว เช่น เดินไปเดินมา ถูมือไปมา พูดคำซ้ำๆ เป็นต้น อาการอาจมีคล้ายคนเสียสติ อาการต่างๆ จะเกิดนาน 2-4 นาที และอาจเกิดอาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัวตามมาได้
  2. อาการชักแบบเหม่อ
    • อาการที่เกิดขึ้นสำหรับการชักชนิดนี้สั้นมากเกิดขึ้นทันทีและหายไปอย่างรวดเร็วผู้ป่วยจะเหม่อลอยประมาณ 5-10 วินาที อาจถูกเข้าใจผิดคิดว่าใจลอย อาจมีอาการตาค้าง กระพริบตา หรือกระตุกบริเวณใบหน้าผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติ เกิดขึ้นส่วนมากมักพบในเด็กอายุตั้งแต่ 6-14 ปี
  3. อาการชักแบบวูบหมดสติทันที แขนขาอ่อนแรง
    • อาการชักชนิดนี้จะไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อขณะเกิดอาการชักได้จนทำให้ผู้ป่วยล้มพับหรือหกล้มลงได้อย่างเฉียบพลัน
  4. อาการชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) 
    • อาการระยะเกร็ง หมดสติอย่างรวดเร็ว ล้มลงอาจส่งเสียงไม่ตั้งใจ มีอาการเกร็งทั้งตัว ตาเหลือก กัดฟัน หยุดหายใจชั่วคราว
    • อาการระยะกระตุก มีอาการกระตุกแขน ขาติดต่อกันเป็นจังหวะอาจมีการกัดลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม มีน้ำลายไหลเป็นฟองหยุดหายใจ 2-3 นาที (ผู้ป่วยอาจมีอาการเขียว)
    • ระยะหลังชัก เริ่มหายใจเอง เริ่มรู้สึกตัว มีอาการสับสนชั่วคราว อ่อนเพลียหรือนอนหลับอาจมีอาการอาเจียนอุจจาระหรือปัสสาวะราด

 

 

 

 

สงสัยว่าจะเป็นโรคลมชักต้องทำอย่างไร ?

ควรพบแพทย์อายุรกรรมประสาทวิทยา เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกายและอาจมีการตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยแยกโรคและสาเหตุโดยมีการตรวจได้แก่

  • เจาะเลือด, บางรายอาจจำเป็นต้องตรวจน้ำไขสันหลัง
  • การถ่ายภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT- Scan)
  • การตรวจด้วยเครื่องสแกนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)

 

 

วิธีการรักษาโรคลมชักทำอย่างไร ?

 

หากตรวจพบสาเหตุของโรคลมชัก ต้องรักษาตามสาเหตุที่พบร่วมกับการควบคุมอาการชัก หรือหากไม่พบสาเหตุต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชัก โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาทจะพิจารณาการรักษา การรับประทานยากันชัก หรือการผ่าตัดซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย

 

 

โรคลมชักเกิดขึ้นตอนไหน ?

 

โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้ในทั้งขณะหลับและขณะตื่น โดยมีความถี่ในการเกิดแตกต่างกันไป พบมากในช่วงที่มีปัจจัยกระตุ้น เช่น อดนอน ไข้ ดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด ออกกำลังกายอย่างหนัก มีแสงกะพริบ เสียงดัง มีรอบเดือน เป็นต้น

 

 

 

 

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคลมชัก

 

  • รับประทานยาให้ครบ ห้ามขาดยา ห้ามหยุดยาเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดโรคชัก เช่น การอดนอน, เครียด, ดื่มเหล้า, รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ, แสงกะพริบ,เสียงดัง
  • หลีกเลี่ยงงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรกล, ของมีคม, ที่สูง, ใกล้น้ำ เป็นต้น
  • แนะนำให้ผู้เห็นเหตุการณ์ขณะชักพยายามสังเกต และจดจำลักษณะของลมชักได้เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตรวจและรักษา
  • แม้คุมอาการชักได้แล้ว ห้ามหยุดยาเองจนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดยา เพราะโรคอาจไม่หาย และอาจมีอาการชักซ้ำได้อีก
  • ถ้าตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่นร่วมด้วย จะต้องแจ้งแพทย์ผู้รักษา
  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

สิ่งที่ควรทราบก็คือ เมื่อมีอาการชักเกิดขึ้นแล้วมักจะดำเนินต่อไปจนหยุดชักใน 1-5 นาที ถ้านานเกินกว่านี้ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

 

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก

 

  1. ไม่งัดหรือใส่สิ่งใดเข้าไปในปาก เช่น ด้ามช้อน หรือตะเกียบเข้าไประหว่างฟันขณะชัก จะเป็นสาเหตุทำให้ช่องปากของผู้ป่วยบาดเจ็บได้มากกว่าจากการชักเอง ถ้าทำได้ทัน ใช้ผ้าหรือของนุ่มๆ ให้ผู้ป่วยกัดขณะเริ่มชักแต่ห้ามใช้ของแข็ง
  2. ป้องกันการบาดเจ็บ พยายามป้องกันการกระแทกจากการล้ม จับผู้ป่วยให้ค่อยๆ นอนลงในท่าตะแคงตัว เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่งผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดแว่นออก คลายเสื้อผ้า ให้หลวม ถ้าผู้ป่วยใส่ฟันปลอมควรถอดฟันปลอมออกถ้าทำได้
  3. ไม่ผูกมัดหรือต่อสู้กับคนไข้ อาการชักเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะหยุดไปได้เอง การผูกมัดอาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บ
  4. ไม่ควรละทิ้งผู้ป่วยเพื่อไปตามผู้อื่น ควรอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลาอย่างน้อยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอุ่นใจเมื่อฟื้นขึ้นมา
  5. ไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานสิ่งใดๆ ในระหว่างชักหรือหลังชักใหม่ๆ เพราะอาจจะทำให้สำลักได้

 

แก้ไขล่าสุด 17/06/63