โรคพาร์กินสัน อาการ สาเหตุ และวิธีสังเกต คนใกล้ตัว

January 08 / 2024

 

 

 

โรคพาร์กินสัน อาการ สาเหตุ และ วิธีสังเกต พร้อมตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของอาการและอาการแสดง ระหว่างโรคพาร์กินสัน VS โรคการคั่งของน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติ

 

 

  

 

นัดพบแพทย์คลิก

ผศ.นพ.ปรัชญา ศรีวานิชภูมิ

ประสาทวิทยา

 

 

ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2564 นั้นประชากรผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ และยังมีแนวโน้มที่ตัวเลขประชากรกลุ่มดังกล่าวจะขยายขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคพาร์กินสันและโรคการคั่งของน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติเป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบได้ในผู้สูงอายุและความชุกของโรคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุที่มากขึ้น ฉะนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักความเหมือนและความต่างของอาการและอาการแสดงของโรคทั้ง 2 โรค รวมถึงแนวทางการรักษาอาการของโรคดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้ป่วย และผู้ดูแลเพื่อที่จะได้นำไปเข้าสู่กระบวนการตรวจและรักษาอาการแต่เนิ่นๆ

 

 

 

โรคพาร์กินสันคืออะไร?

 

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) เป็นโรคของความเสื่อมที่เกิดขึ้นในระบบประสาท โดยเกิดขึ้นกับเซลล์ประสาทที่ผลิตสารสื่อประสาทโดปามีน (Dopamine) ที่อยู่บริเวณก้านสมองส่วนบน (Midbrain) ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักจะแสดงออกด้วยอาการของการเคลื่อนไหวผิดปกติเป็นอาการหลัก ซึ่งจะต่างกับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ที่ผู้ป่วยมักจะแสดงออกด้วยอาการความจำหลงลืมเป็นอาการหลักปัจจุบันยังไม่พบปัจจัยหลักปัจจัยเดี่ยวที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า

 

การมีประวัติสัมผัสสารเคมีในภาคอุตสาหกรรม หรือ สารเคมีในภาคเกษตรกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าวัชพืช ประวัติการใช้สารเสพติด เช่น เฮโรอีน หรือ แอมเฟตามีน การถูกกระทบกระแทกบริเวณศีรษะซ้ำเป็นเวลานาน หรือ การมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสันในหลายๆรุ่น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสการเป็นโรคพาร์กินสันได้ ความชุกของโรคพาร์กินสันพบได้ประมาณร้อยละ 1 ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และความชุกจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 4 ในผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป

 

 

 

 

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีอาการและอาการแสดงอย่างไร?

 

อาการของโรคพาร์กินสันนั้นแบ่งออกเป็น

  • อาการความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Motor symptoms) 
  • อาการความผิดปกติที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว (Non-motor symptoms)

 

 

อาการความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว

 

จะประกอบไปด้วย 4 อาการหลักๆ ได้แก่

  1. อาการสั่น (Tremor) สามารถเป็นที่มือ, ขา หรือ คางและมักจะเกิดขึ้นในขณะพักไม่ได้ใช้งานแขนขาด้านนั้นๆ
  2. อาการกล้ามเนื้อฝืดเกร็ง (Rigidity) โดยทั่วไปมักจะถูกตรวจพบโดยแพทย์ พบได้ที่บริเวณแขน ขา คอ หรือ ลำตัว
  3. อาการเคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวที่ช้าและความกว้างของการเคลื่อนไหวจะค่อยๆ ลดลงเมื่อทำการเคลื่อนไหวนั้นซ้ำๆ เช่น การกำแบมือทำได้ช้าและเมื่อทำซ้ำๆ พบว่าจะแบมือได้กว้างน้อยลงกว่าเดิมเป็นต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจจะมาพบแพทย์ด้วยว่าขณะเดินแกว่งแขนได้ลดลงอาการสั่น, กล้ามเนื้อฝืดเกร็ง และการเคลื่อนไหวช้านั้น ในช่วงแรกของโรคอาการดังกล่าวมักจะแสดงออกที่ร่างกายข้างใดข้างหนึ่งก่อน จากนั้นเมื่อการดำเนินโรคเป็นมากขึ้น อาการดังกล่าวจะกระจายข้ามไปยังร่างกายข้างตรงข้าม แต่จะยังคงมีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากันโดยข้างที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาการมักจะยังคงมีความรุนแรงที่มากกว่าข้างที่เป็นตามมาทีหลัง
  4. การทรงตัวที่ไม่มั่นคง (Postural instability) ผู้ป่วยจะล้มง่ายกว่าปกติและมักพบว่าลำตัวและศีรษะจะค้อมไปด้านหน้านอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจจะแสดงอาการอื่นๆ ดังต่อไปนี้ เช่นเขียนหนังสือตัวเล็กลง, เดินเท้าชิดก้าวสั้นๆ และซอยเท้าถี่ๆ, เดินศีรษะพุ่งไปด้านหน้าสีหน้านิ่งเฉยไม่แสดงอารมณ์ หรือ พูดรัวๆ และเสียงเบา เป็นต้น

 

 

 

 

อาการความผิดปกติที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว 

สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหว หรือ ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นแล้วก็ได้ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มอาการใหญ่ ได้แก่

 

  1. ปัญหาด้านการนอน (Sleep disorders) ได้แก่ นอนกรน, นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน, ง่วงนอนตอนกลางวัน หรือ นอนละเมอออกเสียงหรือท่าทาง เช่น ชกต่อย เตะถีบ ในช่วงที่ฝัน ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
     
  2. ปัญหาด้านระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic dysfunctions) ได้แก่ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ปัสสาวะลำบาก ท้องผูก อวัยวะเพศไม่แข็งตัวในผู้ชาย มีอาการหน้ามืดหรือเป็นลมเนื่องจากความดันต่ำเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากท่านอนเป็นท่านั่ง หรือ ยืน เป็นต้น
     
  3. ปัญหาด้านอารมณ์, พฤติกรรม และความจำ (Mood-behavior-cognitive impairments) ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งพบได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของโรค ส่วนความจำหลงลืม หรือ ความบกพร่องในการคิดการตัดสินใจนั้นมักจะพบในช่วงท้ายๆของโรค เป็นต้น
     
  4. ปัญหาเรื่องการได้กลิ่นที่ลดลง หรือ ไม่ได้กลิ่น (Hyposmia/Anosmia) ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ
  5. ปัญหาเรื่องอาการปวด ชา หรือ เมื่อยล้า กล้ามเนื้อแขนขา ซึ่งอาจจะเกิดได้ทั้งช่วงที่ยารักษาอาการโรคพาร์กินสันหมดฤทธิ์ หรือ ช่วงยาออกฤทธิ์

 

 

 

แนวทางการรักษาโรคพาร์กินสันทำได้อย่างไร?

 

เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคของความเสื่อมของระบบประสาท ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดและไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด การรักษาที่มีในปัจจุบันจึงมุ่งเน้นไปที่การช่วยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่คล่องมากขึ้น โดยการรักษาสามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่

 

  1. การรักษาด้วยยา ยารักษาอาการโรคพาร์กินสันทุกชนิดมีผลในการควบคุมอาการกล้ามเนื้อฝืดเกร็งและเคลื่อนไหวช้าได้ดี แต่ผลในการควบคุมอาการสั่นและการทรงตัวที่ไม่มั่นคง นั้นไม่แน่นอน ยารักษาโรคพาร์กินสันที่มีในประเทศไทย ได้แก่ ยากลุ่มลีโวโดปา (Levodopa combinations), ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของตัวรับโดปามีนในสมองโดยตรง (Dopamine agonists), ยาป้องกันการทำลายสารโดปามีนในสมอง (MAO-B inhibitors) และยายับยั้งการทำลายยาลีโวโดปา (COMT inhibitor) ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้คู่กับยาลีโวโดปา เป็นต้น โดยเป้าหมายในการรักษาคือ  ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

    ***เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาไปเป็นเวลาประมาณ 3-5 ปีนั้น ร้อยละ 30-50 ของผู้ป่วยจะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการเคลื่อนไหวโดย ชนิดที่พบได้บ่อยคือ อาการยุกยิก (Dyskinesia) ในช่วงที่ยากำลังออกฤทธิ์ และ ยาหมดฤทธิ์เร็วขึ้นกว่าเดิม (Wearing-off) เป็นต้น***
     
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่การรักษาด้วยยาไม่สามารถที่จะควบคุมอาการของโรคได้หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนทางการเคลื่อนไหวหลังได้รับการรักษาด้วยยานั้น การผ่าตัดเพื่อฝังเครื่องกระตุ้นในสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ให้ผลที่ดีในการควบคุมอาการของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามการผ่าตัดนั้นไม่ใช่วิธีการรักษาโรคให้หายขาด และไม่สามารถทำในผู้ป่วยได้ทุกราย
     
  3. การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ควรทำในผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทุกรายและทุกระยะ การออกกำลังกายที่เหมาะสมได้แก่ การยืดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ, การออกกำลังกายที่เป็นจังหวะ เช่น การเต้นรำในจังหวะแทงโก้ หรือ การรำไทเก๊กหรือจี้กง ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในเรื่องการเดินและการทรงตัวแก่ผู้ป่วยได้

 

 

 

ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างของอาการและอาการแสดงระหว่างโรคพาร์กินสัน และโรคการคั่งของน้ำในโพรงสมองชนิดความดันปกติ

 

 

 

 

 

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันสามารถรับประทานอาหารได้เป็นปกติ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเสริม, ยาฉีด หรือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) ใดๆ ที่จะสามารถรักษา ชะลอ หรือ ป้องกันการเกิดโรคพาร์กินสันได้

โรค NPH หรือ โรคภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง โรคที่ผู้สูงอายุทุกคนมีโอกาสเป็น อ่านเพิ่มเติม คลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1651

 

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

ผศ.นพ.ปรัชญา ศรีวานิชภูมิ

ประสาทวิทยา

 

23/02/65

 



 

 

 

 

Premium Health package ผู้หญิง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพอย่างใส่ใจ เราพร้อมดูแลคุณอย่างอบอุ่น

ราคา 3,990 บาท

“Healthy start program” โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

ดูแลหัวใจและปอดของคุณและคนที่คุณรัก ด้วยโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

ราคา 3,000 บาท

บริการอุปกรณ์ตรวจเช็คคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พกพาได้

ติดตามการเต้นของหัวใจแบบทางไกล เหมาะกับใครบ้าง ผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ พบอาการไม่บ่อยเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งไม่สามารถตรวจพบหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยวิธีตรวจอื่นๆ

ราคา 12,000 บาท

Exercise Ready มาเตรียมความพร้อม ก่อนกลับไปออกกำลังกาย

ตรวจเช็กให้มั่นใจก่อนกลับไปออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัยและได้สุขภาพที่แข็งแรงกลับมา

ราคา 12,581 บาท

Weight Management ลดน้ำหนักให้ได้ผลและปลอดภัยกับผู้เชี่ยวชาญ

ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแล เพื่อให้ได้น้ำหนักที่พอใจ พร้อมกับสุขภาพที่แข็งแรง

ราคา 15,668 บาท

ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ครอบคลุม 4 สายพันธุ์

สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายและช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย เข็มเดียวป้องกันไวรัสได้ถึง 4 สายพันธุ์

ราคา 990 บาท