ขั้นตอนฟื้นฟูหัวใจสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจที่ศูนย์หัวใจรามคำแหง

February 27 / 2025

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

     การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดนับว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โดยอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์ชำนาญเฉพาะด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจซ้ำ

 

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

     การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด (Cardiac Rehabilitation) คือกระบวนการสำคัญเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจ ปอดและหลอดเลือด โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายและติดตามการตอบสนองของร่างกายอย่างใกล้ชิดภายใต้การดูแลของทีมแพทย์เฉพาะด้าน โดยเน้นที่การฝึกออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต

 

ใครบ้างที่ควรเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอดเหมาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละประเภท โดยศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหงขอแนะนำดังนี้

 

  • ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด หรือเคยทำการสวนหัวใจ เช่น การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน และการดามขดลวด
  • ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดหัวใจ เช่น การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass)
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า
  • ผู้ป่วยที่ใส่เครื่องกระตุกหัวใจ หรือผู้ที่ต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง
  • นักกีฬาที่ต้องการวางแผนการฝึกซ้อมเพื่อการแข่งขัน
  • ผู้ที่สนใจดูแลรักษาสุขภาพโดยการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและปลอดภัย

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

ขั้นตอนของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

     ผู้ประสงค์สามารถเข้ารับการตรวจหัวใจที่ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหงและติดต่อได้ที่แผนกฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอด และการออกกำลังกาย อาคาร 3 ชั้น 10 โดยผู้เข้ารับบริการจะได้รับการดูแลโดยเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าเคาน์เตอร์ เพื่อคอยอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด ซึ่งมีขั้นตอนคร่าว ๆ ดังนี้

 

1.  การตรวจหลอดเลือดและหัวใจ

     เจ้าหน้าที่จากศูนย์หัวใจเเริ่มการตรวจวัดสัญญาณชีพ เพื่อดูอัตราการเต้นของหัวใจ ค่าความดันโลหิต ปริมาณออกซิเจนในเลือด พร้อมกับติดอุปกรณ์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ECG เพื่อประเมินจังหวะการเต้นของหัวใจขณะพัก รวมถึงตรวจหาสัญญาณบ่งชี้ว่าหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือกล้ามเนื้อหัวใจได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

2.  การวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย

     แพทย์และผู้ชำนาญการด้านหัวใจจะวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย เพื่อตรวจดูความสมดุลจากสัดส่วนกล้ามเนื้อ ไขมัน และองค์ประกอบอื่นร่วมกับสอบถามอาการ ก่อนประเมินสมรรถภาพร่างกายว่าสามารถทำกิจกรรมใดได้บ้างและได้มากแค่ไหน เพื่อนำข้อมูลมากำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย

 

3.  การวางแผนและออกแบบการออกกำลังกาย

     แพทย์และผู้ชำนาญเฉพาะด้านจะกำหนดเป้าหมาย วางแผน และออกแบบรูปแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับบุคคล โดยเริ่มจากการกำหนดอุปกรณ์ที่เหมาะสม การวางกรอบระยะเวลาการออกกำลังกายแต่ละครั้ง และการติดตามผลเพื่อปรับปรุงรูปแบบและวางแผนการฟื้นฟูในครั้งต่อไป

 

4.  การให้คำแนะนำ

     เจ้าหน้าที่ของศูนย์หัวใจสาธิตและแนะนำผู้เข้ารับบริการให้เดินวอร์มอัพเพื่อเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนการออกกำลังกาย

 

5.  การติดตามผลการทดสอบ

     แรกเริ่มด้วยการออกกำลังกายตามโปรแกรม โดยมีผู้ชำนาญการคอยควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการเต้น และความดันโลหิตว่าเพิ่มขึ้นในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ รวมถึงประเมินการตอบสนองของร่างกายว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่

 

 


ผู้ชำนาญการจะมีการบันทึกข้อมูลเพื่อส่งต่อให้แพทย์ประเมินพัฒนาการของสมรรถภาพหัวใจและปอดหลังเข้ารับการฟื้นฟูในแต่ละครั้งว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อวางแผนการรักษาหรือให้ยาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถทำกิจกรรมที่ต้องการได้อย่างเหมาะสมและไม่เกิดอันตราย

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

 

เทคโนโลยีและอุปกรณ์ออกกำลังกาย แผนกฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด

1.  Telemetry Cardiac Rehab Management System

     อุปกรณ์ที่ใช้ติดตามการทำงานของคลื่นหัวใจในขณะออกกำลังตามโปรแกรมฟื้นฟูแบบเรียลไทม์ (real-time) โดยอุปกรณ์นี้ทำให้ศูนย์หัวใจสามารถจัดเก็บ วิเคราะห์ และสรุปผลของการออกกำลังกาย เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามความก้าวหน้าของอาการและประกอบการรักษาของผู้ป่วย ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดโดยผู้เชี่ยวชาญ

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

 

2.  ECG Telemetry Transmitter

     อุปกรณ์สำหรับเฝ้าระวัง ตรวจสอบและติดตามภาวะผิดปกติของหัวใจ โดยการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจในขณะที่ออกกำลังกาย เพื่อเฝ้าระวังและติดตามภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น

 

3.  Leg Ergometer + BP + SpO2

     จักรยานออกกำลังกายเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ตลอดจนฟื้นฟูและส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีสมรรถภาพหัวใจที่แข็งแรงขึ้น โดยตัวจักรยานจะถูกเชื่อมต่อกับระบบ cardiac rehab management system เพื่อวัด จัดเก็บข้อมูล และประเมินว่าค่าความดันโลหิตและระดับออกซิเจนในเลือดมีความสมดุลกับการออกกำลังกายหรือไม่ รวมถึงตัวเครื่องจะถูกควบคุมความหนักเบา และปริมาณงานที่มอบหมายให้ผู้ป่วยในขณะที่ออกกำลังกาย

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

4.  Arm Ergometer + BP + SpO2

     จักรยานแขนที่ศูนย์หัวใจขอแนะนำ เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยสร้างเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขน หัวไหล่ หน้าอก หลัง และลำตัวให้แข็งแรง รวมถึงความอดทนของกล้ามเนื้อ ซึ่งอุปกรณ์นี้จะถูกเชื่อมต่อกับระบบ cardiac rehab management system เช่นเดียวกับจักรยานออกกำลังกาย ทำให้สามารถควบคุมความหนักเบา และปริมาณงานที่มอบหมายให้ผู้ป่วยในขณะที่ออกกำลังกาย รวมถึงสามารถวัด จัดเก็บข้อมูล และประเมินว่าค่าความดันโลหิตและระดับออกซิเจนในเลือดมีความสมดุลกับการออกกำลังกายหรือไม่

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

5.  Treadmill

     เครื่องออกกำลังกายแบบสายพานวิ่ง หรือลู่วิ่ง เป็นอุปกรณ์ออกกำลังกายเพื่อฝึกระบบพลังงานของร่างกายให้ทำงานได้ต่อเนื่องยาวนานยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบการไหลเวียนโลหิต หรือสมรรถภาพของหัวใจ รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ตลอดจนทำให้การทรงตัวและการเคลื่อนไหวดีขึ้น

 

6.  Hoist Fitness Multi-Station Gym

     อุปกรณ์เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยผู้ป่วยสามารถใช้อุปกรณ์นี้บริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้หลายส่วน และสามารถกำหนดท่าออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างและพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

7.  Rowing Machine

     อุปกรณ์ออกกำลังกายที่ผู้ป่วยต้องใช้แขนและขาในการออกกำลังกายควบคู่กันไป โดยการเคลื่อนไหวของร่างกายจะประกอบด้วยการดึงของแขนและการใช้ขาเพื่อถีบตัวออก ทำให้ผู้ป่วยจากศูนย์หัวใจได้บริหารกล้ามเนื้อทั้งส่วนบนและส่วนล่างของร่างกายไปพร้อม ๆ กัน

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

8.  Nustep T4R Recumbent

     อุปกรณ์ออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่ำ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน และผู้ที่มีการทรงตัวไม่ดี ผู้ที่ใช้เครื่องนี้จะต้องใช้ทั้งแขนและขาเคลื่อนไหวในการออกกำลังกายไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะช่วยในการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา รวมถึงฟื้นฟูและส่งเสริมให้สมรรถภาพหัวใจแข็งแรงมากขึ้นด้วย

 

9.  Impetus Air Bike

     อุปกรณ์จักรยานออกกำลังกายที่ต้องใช้แขนและขาเคลื่อนไหวในการออกกำลังกายพร้อมกันคล้ายกับ Nustep T4R recumbent อุปกรณ์ชนิดนี้มีแรงกระแทกต่ำ ศูนย์หัวใจจึงคิดว่าเหมาะกับผู้สูงอายุ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน และผู้ที่มีการทรงตัวที่ไม่ดี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ และส่งเสริมการทำงานของหัวใจให้มีความแข็งแรง

 

 

ฟื้นฟูหัวใจและปอด

 

 

โปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจและปอด ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลรามคำแหง

     โปรแกรมนี้ยังเหมาะแก่ผู้ป่วยโรคหัวใจที่เคยได้รับการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดและผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจประเภทต่าง ๆ รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงขึ้น จิตใจผ่อนคลาย ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติและลดโอกาสเกิดโรคซ้ำในอนาคตได้เป็นอย่างดี

 

ติดต่อเพิ่มเติม : แผนกฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ปอดและการออกกำลังกาย