“จี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยบอลลูนเย็น” ทางเลือกรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

March 17 / 2025

จี้ไฟฟ้าหัวใจเย็น

 

 

 

     เคยรู้สึกใจสั่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะหรือไม่? อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคหัวใจที่พบได้บ่อย ปัจจุบันมีวิธีการรักษาที่ทันสมัยและปลอดภัยมากขึ้น นั่นคือ “การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยบอลลูนเย็น หรือ Cryoablation”

 

การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยบอลลูนเย็น

     การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยบอลลูนเย็น (Cryoablation) เป็นเทคนิคการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือ AF ที่ทันสมัย โดยเฉพาะภาวะหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว (AF : Atrial Fibrillation) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์จะเริ่มรักษาด้วยการใช้พลังงานความเย็น -40 ถึง -60 องศา เพื่อทำลายเนื้อเยื่อหัวใจส่วนที่ทำให้เกิดการส่งสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติ โดยแพทย์จะสอดสายสวนพิเศษเข้าไปในหัวใจ เพื่อนำความเย็นไปทำลายเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่ทำให้เกิดการเต้นผิดจังหวะ ทำให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นจังหวะได้ตามปกติ

 

 

 

จี้ไฟฟ้าหัวใจเย็น

 

 

 

การตรวจวินิจฉัยหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว

     ผู้ป่วยควรเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ขณะที่เกิดภาวะหัวใจเต้นพลิ้วเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ในรายที่เป็นนานต่อเนื่อง การตรวจวินิจฉัยก็ไม่ยาก เพียงใช้มาตรฐานแผ่นเดียวก็สามารถวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ตาม ในรายที่เกิดภาวะหัวใจเต้นพลิ้วในระยะสั้นเป็นวินาทีหรือเป็นนาที แพทย์จำเป็นต้องใช้เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจแบบต่อเนื่อง ซึ่งจะบันทึกได้นาน 1-2 วัน

 

เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจแบบ Patch Holter

     หากใช้เครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจแบบ Patch Holter ซึ่งมีลักษณะเหมือนแผ่นพลาสเตอร์ปิดแผล ก็สามารถทำกิจกรรมได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น การเล่นกีฬา การอาบน้ำ โดยตัวเครื่องสามารถบันทึกข้อมูลได้นานถึง 14 วัน ปัจจุบันมีสมาร์ทวอช (Smartwatch) ที่สามารถตรวจ EKG ขณะมีอาการได้เช่นกัน

 

 


นอกจากนี้แพทย์อ่านตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (echocardiogram) ทดสอบหัวใจขาดเลือดด้วยการเดินสายพาน (exercise stress test) ตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุและโรคร่วมต่าง ๆ

 

 

 

EKG หัวใจ

 

 

สาเหตุของหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว

สาเหตุของ AF มีหลากหลาย แต่พอจะแบ่งได้เป็น 4 อย่างใหญ่ ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจรักษา คือ

 

1. สารกระตุ้นหัวใจต่าง ๆ

     เช่น คาเฟอีน บุหรี่ แอลกอฮอล์ โสม อาหารเสริมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละคนมีความไวต่อสารกระตุ้นต่าง ๆ ไม่เท่ากัน ดังนั้นสารกระตุ้นหัวใจเหล่านี้จะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นพลิ้วหรือไม่ขึ้นกับปริมาณและระยะที่ได้รับเหตุปัจจัยร่วม และการตอบสนองของร่างกายของแต่ละคน

 

2. ความไม่สบายหรือเจ็บป่วยต่าง ๆ

     โรคประจำตัวสามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นพลิ้วได้เช่นกัน เช่น โรคต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป โรคกระเพาะ ปอดอักเสบ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน อ้วน เครียด พักผ่อนไม่พอ นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ

 

3. โรคหัวใจชนิดต่าง ๆ

     โรคหัวใจชนิดต่าง ๆ สามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นพลิ้วได้เช่นกัน เช่น โรคลิ้นหัวใจไมตรัล โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา หัวใจล้มเหลว หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

 

4. โรคระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

     โรคระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปรกติเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุนำใด ๆ ซึ่งอาจเป็นตั้งแต่กำเนิด (พันธุกรรม) หรือมาเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ (ความเสื่อม) ผู้ป่วยสูงอายุมีโอกาสเป็น AF มากกว่าคนอายุน้อยเนื่องจากความเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ

 

 

 


จากที่กล่าวข้างต้นจะเห็นว่าสาเหตุของ AF มีมากมาย บางชนิดก็เป็นสาเหตุหลักหรือเป็นแค่ปัจจัยเสริมก็ได้แตกต่างกันไปในแต่ละคน จึงต้องวิเคราะห์ดูลงไปในรายละเอียด

 

 

อาการของหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว

     อาการของภาวะหัวใจเต้นพลิ้ว (AF) จะเป็นผลจากการที่หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ เช่น ใจสั่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หัวใจล้มเหลว น้ำท่วมปอด หน้ามืดจะเป็นลม อย่างไรก็ตามคนไข้ AF จำนวนหนึ่งจะไม่มีอาการใด ๆ แต่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายหรือมารับการรักษาด้วยโรคอื่น ๆ คนไข้ที่ไม่มีอาการก็อาจจะมาด้วยโรคแทรกซ้อนของ AF แทน เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวและหลอดเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือดที่หัวใจ

 

 

 

คนเจ็บหน้าอก เจ็บหัวใจ

 

 

แนวทางการรักษาหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว

มีแนวทางสำคัญสามข้อซึ่งจะต้องทำร่วมกันกันไปเสมอคือ


1. ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดสมอง

     ผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นพลิ้ว แต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำจะยังไม่ต้องทานยาใด ๆ ก็ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงและปานกลางจำเป็นต้องทานยาต้านเลือดแข็งตัว (oral anticoagulation) ข้อนี้ต้องทำการประเมินก่อนเสมอ

 

2. ลด เลิก แก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ

  • เช่น ลด เลิกการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ บุหรี่
  • การรักษาโรคที่มีอยู่ก่อนควบคู่ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ คุมเบาหวาน คุมความดันโลหิตให้ดี ลดน้ำหนัก ลดความเครียด ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ

 

 

 


การลดความเสี่ยงต้องทำให้ดี หลายคนหายจากภาวะหัวใจเต้นพลิ้วหรืออาการดีขึ้นได้ด้วยการแก้ไขปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้


 

3. รักษาอาการหรือชะลอการดำเนินโรค

  • การใช้ยา เพื่อหยุดการเป็น AF ป้องกันการเป็นซ้ำ และชะลอการเต้นของหัวใจไม่ให้เต้นเร็วเกินไป
  • การใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า (Direct Current Cardioversion) เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นเป็นปกติ โดยมักใช้ในกรณีฉุกเฉินเพื่อหยุดภาวะหัวใจเต้นพลิ้วโดยเร็วหรือใช้ในกรณีที่เกิดภาวะหัวใจเต้นพลิ้วต่อเนื่องไม่หยุดทั้ง ๆ ที่ใช้ยาเต็มที่แล้ว
  • การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) มักใช้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีหัวใจเต้นช้าร่วมกับภาวะหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว การกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้นสามารถลดการเกิด AF ลงได้บ้างและยังป้องกันหัวใจเต้นช้าจากการใช้ยารักษา AF
  • การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยสายสวนหัวใจ (Catheter Ablation)
  • การผ่าตัดหัวใจ (Surgical Ablation) มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมี AF ร่วมกับโรคหัวใจที่ต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดหัวใจ เช่น โรคลิ้นหัวใจไมตรัลตีบ ศัลยแพทย์จะผ่าตัดแก้ไขโรคหัวใจและแก้ไข AF ไปพร้อมกัน

 

 

ข้อดีของการรักษาด้วยการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยบอลลูนเย็น

  • ลดอาการเจ็บปวดและภาวะแทรกซ้อน การใช้ความเย็นจะไม่ทำให้เกิดการอักเสบหรือระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวมากขึ้นหลังการรักษา
  • ลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้าง ความเย็นจะทำลายเนื้อเยื่อเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง
  • ใช้เวลาในการรักษาสั้นลง จากเดิมที่การรักษาใช้เวลาหลายชั่วโมง การจี้ด้วยบอลลูนเย็นสามารถลดระยะเวลาการรักษาลงได้มาก โดยอาจใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น

 

 

 

บอลลูนเย็น

 

 

 

ใครที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยบอลลูนเย็น

     ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น เป็นภาวะหัวใจเต้นพลิ้วและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือผู้ป่วยที่ต้องการรักษาที่ให้ผลดีในระยะยาว แพทย์จะเป็นผู้ประเมินและพิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดเหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธีนี้
 

 

ข้อจำกัดของ Cryoablation

  • ใช้จี้เฉพาะความผิดปกติที่อยู่รอบบริเวณหลอดเลือดดำที่นำเลือดแดงจากปอดเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายเท่านั้น (PV isolation) ดังนั้น แพทย์จะไม่สามารถใช้ได้ในขณะนี้ หากเกิดความผิดปกตินอกเหนือจากบริเวณนี้
  • เป็นการใช้แสงเอกซเรย์ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับรังสีเอกซเรย์มากกว่าการจี้ด้วยคลื่นวิทยุที่มีระบบภาพ 3 มิติมาช่วยลดการใช้แสงเอกซเรย์ลง
  • มีโอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาทควบคุมการทำงานของกระบังลม (Phrenicnerve) ได้ประมาณ 2% แต่จะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติภายใน 3-6 เดือน

 

 


“การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยบอลลูนเย็น” เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีข้อดีหลายอย่าง เนื่องจากมีความแม่นยำและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยจึงมีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปรกติไวขึ้น หากคุณมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจเพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม