ทำไม..หัวใจเต้นพลิ้ว Atrial Fibrillation; AF

January 30 / 2024

ทำไม..หัวใจเต้นพลิ้ว Atrial Fibrillation; AF

 

 

 

หัวใจห้องบนเต้นพลิ้วคืออะไร?


หัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า AF เป็นภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดปกติที่รุนแรงที่สุด โดยที่หัวใจห้องบนจะเต้นเร็วมากกว่า 350 ครั้งต่อนาที การที่หัวใจห้องบนเต้นเร็วแบบนี้นอกจากจะทำให้เกิดอาการใจสั่นแล้ว ยังอาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลวได้การที่หัวใจห้องบนเต้นเร็วมากขนาดนี้ทำให้หัวใจห้องบนไม่สามารถบีบตัวพร้อมกันได้ทั้งห้องส่งผลให้ห้องบนบีบตัวไม่ดี เกิดมีลิ่มเลือดตกค้างอยู่ในหัวใจ ลิ่มเลือดอาจหลุดออกจากหัวใจไปอุดตันหลอดเลือดต่างๆ ของร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมองทำให้เกิดอัมพาตได้นอกจากนี้ผู้ป่วย AF ยังมีอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย AF เป็นหัวใจเต้นผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีสาเหตุต่างๆ มากมายที่สามารถทำให้เกิด AF ได้ ซึ่งพอจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้คือ 

กลุ่มแรก เกิดจากเหตุกระตุ้นจากภายนอกหัวใจเช่น อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นหัวใจเช่นสารคาเฟอีนในกาแฟ ชา โสม แอลกอฮอล์เป็นต้น ภาวะเครียดทางกายและใจจากการทำงานหนักพักผ่อนไม่พอก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน นอกจากนี้ความเจ็บป่วยต่างๆ ก็กระตุ้น AF ได้ เช่นกัน เช่น หอบหืด ปอดอักเสบ ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ การรักษา AF ในกลุ่มนี้ต้องกำจัดสาเหตุ หรือตัวกระตุ้นต่างๆ ให้หมดโอกาสที่ AF จะหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษาก็เป็นไปได้มาก 

 

 



กลุ่มที่สอง เป็นความผิดปกติของหัวใจเองเช่นหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ลิ้นหัวใจตีบ หัวใจทำงานล้มเหลวสามารถกระตุ้นให้เกิด AF ได้ทั้งสิ้น การรักษาในกลุ่มนี้ต้องมุ่งแก้ความผิดปกติที่เป็นปฐมเหตุด้วยถ้าแก้ไขไม่ได้โอกาสที่จะทำให้ AF หายเป็นปกติก็จะเป็นไปได้ยาก  

 



กลุ่มที่สาม เป็นความผิดปกติของระบบไฟฟ้าของหัวใจห้องบนเอง AF ที่เกิดขึ้นก่อนอายุ 65 ปี มักจะเป็นความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่เป็นมาตั้งแต่เล็ก แต่ถ้าเกิดหลังอายุเกิน 65 ปีมักเป็นความเสื่อมของระบบไฟฟ้าของหัวใจเปรียบเหมือนระบบไฟฟ้าในบ้านเราเมื่อใช้งานมานาน ก็อาจมีปัญหาไฟติดติดดับๆ ต้องได้รับการแก้ไข อาจต้องเปลี่ยนหลอดไฟใหม่หรือเดินสายไฟใหม่ก็ได้ 

 

 

 

หัวใจห้องบนเต้นพลิ้วอาจทำให้เกิดหัวใจล้มเหลว และเป็นสาเหตุของหลอดเลือดสมองอุดตันทำให้เกิดอัมพาตได้

 

 

นัดพบแพทย์

รศ.นพ.บัญชา ศันสนีย์วิทยกุล

อายุรศาสตร์โรคหัวใจ