โรคมะเร็งปอด (Lung cancer)

December 04 / 2024

 

 

มะเร็งปอด

 

 

 

     มะเร็งปอด (Lung cancer) เป็นภาวะที่ไม่สามารถควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ที่รวดเร็วในปอดได้ ซึ่งส่งผลให้เนื้องอกเติบโตจนเป็นอันตรายต่อการหายใจ จากการวินิจฉัยและตรวจพบความผิดปกติเบื้องต้นสามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับรับการรักษาได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมะเร็งปอดตรวจพบได้ค่อนข้างยากในระยะแรก แต่จะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายกับการติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใดเลย

 

 


มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง


 

 

 

มะเร็งปอด

 

 

ชนิดของโรคมะเร็งปอด

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15% ซึ่งเซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว โดยมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
  • มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (ประมาณ 85-90%) แต่แพร่กระจายได้ช้ากว่าและสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่น

 

อาการของโรคมะเร็งปอด

     คนที่เป็นมะเร็งปอดระยะแรกอาจไม่แสดงอาการจนกว่าจะเริ่มเข้าสู่ระยะที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น โดยสังเกตอาการได้ด้วยตัวเองหากมีความผิดปกติของร่างกาย ดังนี้

 

  • โทนเสียงเปลี่ยนไป เช่น เสียงแหบ
  • มีอาการหลอดลมอักเสบหรือปอดบวม
  • หายใจถี่ และหายใจดัง หรือเหนื่อยง่าย
  • ปวดหัว หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ไอเรื้อรัง หรือไอมีเลือดปน
  • คลำได้ก้อนผิดปกติ

 

 

 


ผู้ป่วยมะเร็งปอดบางรายอาจพบอาการรุนแรงมาก เช่น อาการเจ็บหน้าอก ปวดกระดูกอย่างรุนแรง ไอเป็นเลือด


 

 

 

 

 

มะเร็งปอด

 

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด

ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีปัจจัยบางประการที่อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งปอด เช่น

 

  • บุหรี่ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10-30 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่
  • การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แอสเบสตอส (asbestos) ก๊าซเรดอน (radon) สารหนู รังสี ฝุ่น ไอระเหยจากนิกเกิล โครเมียม โลหะและสารเคมีอื่น 
  • อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี แต่สามารถพบได้ในคนอายุน้อยกว่า 40 ปี
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอดมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดแม้ไม่ได้สูบบุหรี่ เพราะอาจเกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมคล้ายกัน และเกี่ยวข้องกับทางพันธุ์กรรม จึงอาจสัมพันธ์กับยีนส์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง

 

 

การรักษาโรคมะเร็งปอด

1.  การผ่าตัด

  • มีเป้าหมายเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้
  • โดยทั่วไปไม่ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็กซึ่งมักมีการแพร่กระจายตัวของเซลล์มะเร็งอย่างรวดเร็ว
  • วิธีนี้ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ในระยะที่ 1, 2 และ 3A

 

2.  การฉายรังสี (Radiotherapy)

  • เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น มักใช้ในระยะที่ 3
  • วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ แต่อาจใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม หรือบรรเทาอาการปวด
  • การฉายรังสีใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี ,ผมร่วงในบางรายที่ฉายบริเวณสมอง

 

3.  การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

  • เพื่อให้ภูมิคุ้มกัน ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกัน การตรวจจับและการทำลายเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพ

 

4.  การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

  • เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยทั่วไปยาเคมีบำบัดที่ใช้กับมะเร็งปอดเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือด

 

5.  การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted therapy)

  • โดยเน้นรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ซึ่งให้ประสิทธิผลและไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนยาเคมีบำบัด