ทำอย่างไร! เมื่อเกิดภาวะตัวเตี้ยในเด็ก

February 28 / 2024

 

 

ทำอย่างไร! เมื่อเกิดภาวะตัวเตี้ยในเด็ก

 

 

ลูกตัวโตไม่ทันเพื่อน

วัยเด็กเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายอย่างต่อเนื่อง จนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จนเป็นผู้ใหญ่ ภาวะที่เด็กเจริญเติบโตช้า เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก ผู้ปกครองมักสังเกตได้จากส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นช้า เด็กตัวเล็กกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน โดยในเด็กวัยเรียน จะมีอัตราการเติบโตประมาณ 4-6 cm ต่อปี ไปจนกว่าจะเริ่มเป็นวัยรุ่น และเมื่อนำมาเทียบกับกราฟการเจริญเติบโต จะพบว่า เบี่ยงเบนจากค่าปกติ นอกจากนี้ เมื่อเด็กเริ่มอายุมากขึ้นขึ้น อาจจะมีปัญหาในการปรับตัวเมื่ออยู่ในโรงเรียน เนื่องจากตัวโตไม่ทันเพื่อน อาจจะโดนแกล้ง หรือโดนล้อ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญ ในการเฝ้าติดตามการเจริญเติบโตของเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัย ดังนั้นถ้าสังเกตว่าความสูงของเด็ก เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 3 cm ต่อปี ควรพามาปรึกษาแพทย์

ตัวอย่างกราฟการเจริญเติบโต

  

 

 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กมีหลายปัจจัย ได้แก่

 

  1. กรรมพันธุ์ ส่วนสูงของพ่อแม่มีส่วนสำคัญต่อความสูงของเด็ก เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
  2. ภาวะโภชนาการ เด็กที่มีภาวะขาดสารอาหารจะทำให้เติบโตได้ไม่เต็มที่
  3. ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่นโรคทางระบบประสาท โรคไต โรคหัวใจ เป็นต้น
  4. การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ประมาณ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
  5. การออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป
  6. ฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเติบโต ฮอร์โมนธัยรอยด์ ฮอร์โมนเพศ

 

 

ภาวะตัวเตี้ยปกติ (normal variant)

 

คือภาวะที่เด็กไม่ได้มีโรคอะไรซ่อนเร้น และเป็นภาวะที่พบบ่อย และไม่ต้องได้รับการรักษา ได้แก่

  • ภาวะตัวเตี้ยจากกรรมพันธุ์ (familial short stature) ภาวะนี้เกิดจากที่คุณพ่อคุณแม่ตัวเล็ก จึงมีผลต่อความสูงของเด็ก เด็กจะมีอัตราการเพิ่มความสูงต่อปีที่ปกติ แต่จะตัวเล็กว่าเด็กวัยเดียวกัน

โดยสามารถคำนวณความสูงของเด็กเมื่อโตเต็มที่ได้โดยประมาณดังนี้


 

  • ภาวะโตช้า แบบม้าตีนปลาย (Constitutional delayed growth and puberty) เด็กกลุ่มนี้จะตัวเล็ก ร่วมกับ เช้าสู่ช่วงวัยรุ่น ช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่จะมีความสูงที่ปกติตามศักยภาพ เมื่อเทียบกับกรรมพันธุ์ อาจจะพบว่า บิดามารดาก็มีประวัติเข้าสู่วัยรุ่นช้า เช่นเดียวกัน

 

 

ภาวะตัวเตี้ยที่เกิดจากการขาดฮอร์โมน

 

มีฮอร์โมนหลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ได้แก่ ฮอร์โมนเติบโต ฮอร์โมนธัยรอยด์ ฮอร์โมนเพศ และ คอร์ติซอล ดังนั้นถ้าร่างกายมีความผิดปกติในการสร้างฮอร์โมนดังกล่าวข้างต้น ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กได้ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงกรณีการขาดฮอร์โมนเติบโต

 

 

ภาวะตัวเตี้ยจากการขาดฮอร์โมนเติบโต 

 

เด็กที่ขาดฮอร์โมนเติบโต จะมีส่วนสูง ที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกัน รวมทั้ง อัตราการเพิ่มความสูงต่อปี น้อยกว่า 4 เซนติเมตรต่อปี ดังนั้นเด็กที่มีปัญหาดังกล่าว ผู้ปกครองควรพามาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเติบโต อาจเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ ที่อาจซ่อนเร้นอยู่ได้

 

 

การตรวจวินิจฉัยเมื่อพบว่าเด็กมีปัญหาตัวเตี้ย

 

แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย และส่งตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์อายุกระดูก นอกจากนี้ ในกรณีสงสัยว่ามีการขาดฮอร์โมนเติบโต จะทำการทดสอบวัดระดับฮอร์โมนเติบโต (growth hormone stimulation test)

 

การรักษาภาวะตัวเตี้ย

 

การดูแลรักษาขึ้นกับสาเหตุของภาวะตัวเตี้ย การรักษาด้วยฮอร์โมนเติบโต จะมีประโยชน์ ในบางกรณีเท่านั้น เช่น เด็กที่ขาด ฮอร์โมนเติบโต หรือเด็กที่มีโรคบางชนิด เช่น เทอร์เนอร์ (Turner syndrome) เป็นต้น การฉีด ฮอร์โมนเติบโต จะไม่ได้ประโยชน์ ในเด็กที่มีการเติบโตปกติอยู่แล้ว

คำแนะนำเพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่เหมาะสม

  1. ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มาก หรือน้อยเกินไป
  2. ควรดื่มนมรสจืด อย่างน้อย 2-3 แก้วต่อวัน
  3. ออกกำลังกาย เช่น ว่ายน้ำ บาสเกตบอล แบดมินตัน นานครั้งละ 45-60 นาที ประมาณ 3-5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ การออกกำลังกายควรมีความเหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป และเด็กควรมีส่วนร่วมเลือกการออกกำลังกายที่เด็กสนใจและมีความถนัด
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน เนื่องจากฮอร์โมนเติบโตที่หลั่งตามธรรมชาติจากต่อมใต้สมอง จะหลั่งออกมาช่วงกลางดึก ประมาณ 22.00 -02.00 น. ดังนั้น เด็กจึงควรเข้านอนก่อนช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ ฮอรฺโมนเติบโตได้ทำงานอย่างเต็มที่

 

 

 

การรักษาอย่างถูกต้องก่อนจะสายเกินไป เพราะหากรอให้กระดูกปิดไปแล้วต่อให้มีการให้ฮอร์โมนทดแทนมากเพียงใดก็ตาม ส่วนสูงจะไม่เพิ่มขึ้นแม้แต่น้อย