เนื้องอกในสมอง เกิดจากอะไร ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

February 07 / 2025

 

 

 

เนื้องอกในสมองอันตรายแค่ไหน รักษาได้หรือไม่ ?

 

 

     เนื้องอกในสมอง โรคทางระบบประสาท สมองถือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ช่วยส่งสัญญาณในการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ จึงไม่แปลกที่ทุกครั้งหากมีอะไรเกิดขึ้นกับสมอง เรามักกังวลว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีเนื้องอกในสมองมักส่งความรู้สึกด้านลบเหล่านี้ ออกมาให้ผมสัมผัสได้

     ในฐานะของหมอศัลยกรรมประสาท การรักษาโรคเนื้องอกในสมองต้องเริ่มต้นจากการรักษาความกังวลต่อโรคก่อน คลายความสงสัยว่ามันมาจากไหน? รักษาได้ไหม? แล้วจะถึงขั้นเสียชีวิตเหมือนในหนังหรือไม่? ดังนั้น หากตัวท่านเองหรือญาติพบว่ามีเนื้องอกในสมอง อย่าลืมหายใจเข้าออกช้า ๆ ทำใจให้สบาย และมีสติ เพราะมันคือ จุดเริ่มต้นที่สำคัญในการรักษา แล้วเดี๋ยวผมจะเฉลยว่ามันสำคัญอย่างไรครับ

 

สารบัญ

 

 

เนื้องอกในสมองแบ่งได้เป็นกี่ชนิด ?

ผมจะบอกคนไข้เสมอว่า เนื้องอกในสมองมี 2 แบบ

 

  • แบบดี คือ เนื้องอกที่โตช้า ใช้เวลาหลายปีในการที่เนื้องอกจะขยายขนาด
  • แบบไม่ดี คือ เนื้องอกที่โตเร็ว ซึ่งอาจเพิ่มขนาดเป็นเท่าตัว ภายในเวลาแค่ 3-4 สัปดาห์ ที่เรามักเรียกว่า "มะเร็ง" 

     

ดังนั้น หากท่านไม่มีประวัติเป็นมะเร็งในร่างกาย จากสถิติจะพบว่า ราว 70% ของเนื้องอกในสมองนั้น เป็นเนื้องอกแบบดี หลังจากการทำการวินิจฉัยแล้ว แพทย์จะพยายามระบุชนิดของเนื้องอกให้ชัดเจน ซึ่งในปัจจุบัน สามารถแบ่งย่อยได้ถึง 130 ชนิด  โดยในการระบุเบื้องต้น ผมขอแบ่งออกเป็น 2 แบบคร่าว ๆ คือ 

 

  • เนื้องอกที่กำเนิดมาจากเซลล์สมอง
  • เนื้องอกที่ไม่ได้มาจากเซลล์สมอง แต่มาจากอวัยวะรอบ ๆ สมอง เช่น เยื่อหุ้มสมอง กระโหลก ปลอกหุ้มเส้นประสาท หรือ เนื้อร้ายที่กระจายมาจากส่วนอื่น

 

ความต่างของชนิดเนื้องอกทำให้แผนการรักษา และการพยากรณ์โรคแตกต่างกัน ในการยืนยันชนิดของเนื้องอก ต้องอาศัยการตรวจชิ้นเนื้อ ดังนั้น ความเห็นของแพทย์ก่อนที่จะได้ผลชิ้นเนื้อ มาจากความน่าจะเป็นที่ได้จากประวัติและภาพเอกซเรย์ว่าเนื้องอกของคุณน่าจะเป็นแบบไหน

 

 

 

เนื้องอกในสมอง อยู่ได้นานแค่ไหน

 

 

ปวดหัวแบบไหนเสี่ยงภัยเนื้องอกในสมอง ?

     อาการที่พบได้ทั่วไป คือ อาการปวดศีรษะติดต่อกันหลายสัปดาห์ และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น โดยมักเกิดขึ้นตอนเช้า ดังนั้น หากพบว่ามีอาการปวดศีรษะในลักษณะดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ

 

อาการอย่างไร ถึงเข้าข่ายโรคเนื้องอกสมอง ?

     เนื่องจากหลอดเลือดของผู้ที่มีเนื้องอกในสมองถูกกดทับ หรือถูกดึงรั้งจากเนื้องอก ผู้ป่วยจึงมักมีอาการคลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ร่วมกับ “อาการปวดศีรษะ” ซึ่งเป็นอาการร่วมโดยทั่วไปของทั้ง "เนื้องอกธรรมดาและเนื้อร้าย” โดยจะมีอาการปวดศีรษะตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรงมาก และมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ โดยลักษณะอาการมักแตกต่างกันไปตามตำแหน่งและขนาดของเนื้องอก และนอกจาก “อาการปวดศีรษะ” ที่เป็นสัญญาณเตือนของกลุ่มโรคทางสมองส่วนใหญ่แล้ว เรายังสามารถสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยได้ เช่น

 

  • แขนขาอ่อนแรง
  • มีอาการชัก
  • ตาพร่ามัว
  • เห็นภาพซ้อน
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง

 

สัญญาณที่บ่งชี้ที่ต้องรีบพบแพทย์

     หากมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงอาการอ่อนแรงที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายหรืออาการชัก ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

 

เนื้องอกในสมองมีกี่ระยะ ?

     ความแตกต่างของเนื้องอกในสมองคือ จะไม่มีการแบ่งระยะ (Stage) ของเนื้องอกว่าอยู่ในระดับใดต่างจากเนื้องอกชนิดอื่น ๆ แต่จะใช้การวัดระดับของเนื้องอกตามลำดับการเจริญเติบโตโดยหลัก Who Classification ระบุเป็น WHO grade ตั้งแต่ระดับ 1-4 โดยระดับ 1 คือ เนื้องอกที่ไม่อันตรายและเติบโตช้า ส่วนระดับ 4 คือเซลล์มะเร็งที่เติบโตอย่างรวดเร็วหรือมีการลุกลาม

 

การวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมอง

     เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจหาเนื้องอกด้วยการสแกนสมองด้วยเครื่องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูขนาดของเนื้องอกและรายละเอียดโดยรอบ

 

 

วิธีรักษาเนื้องอกในสมอง

 

 

เนื้องอกในสมองรักษาได้ไหม ?

     เนื้องอกในสมองรักษาได้ ทว่าผลการรักษานั้นขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และตำแหน่ง โดยการรักษาแบ่งออกเป็น 3 วิธีดังนี้

 

วิธีที่ 1 : การเฝ้าติดตาม

     การเฝ้าติดตามเพื่อดูขนาดและพฤติกรรมของเนื้องอกในสมองอย่างใกล้ชิดผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ มักพบเนื้องอกในสมองโดยบังเอิญจากการตรวจด้วย CT หรือ MRI และไม่มีอาการผิดปกติ เนื้องอกในสมองประเภทนี้มักอยู่มานานและไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วย

 

วิธีที่ 2 : การผ่าตัด

     การผ่าตัดเป็นวิธีที่มีความจำเป็นในกรณีที่เนื้องอกมีอาการผิดปกติ หรือ เป็นเนื้อดีที่ผ่านการเฝ้าติดตามแต่มีขนาดใหญ่ขึ้น ปัจจุบัน มีการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก หรือ Minimally Invasive Surgery เหมาะสำหรับเนื้องอกในสมองบางชนิด โดยจะใช้ร่วมกับการใช้เครื่องมือช่วยนำทาง (Navigator) ทำให้การผ่าตัดแม่นยำและปลอดภัย

 

วิธีที่ 3 : การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด

     การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดเป็นการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ ทั้งนี้วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่ง อายุ และความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยวิธีการรักษานี้ เรามักจะใช้เป็นวิธีทางเลือก หรือ ควบคู่ไปกับการผ่าตัดมากกว่าที่จะใช้เป็นวิธีหลักในการรักษา

 

หลังจากที่ทราบถึงวิธีการรักษา หลายท่านอาจยังสงสัยว่า แล้วผลการรักษาเป็นอย่างไร ? มีโอกาสหายขาดหรือไม่ ? จากการศึกษาพบว่า เนื้องอกในสมองหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีก จึงอยากให้ทุกท่านสบายใจและเตรียมพร้อมสำหรับการรักษาในทุกขั้นตอน

 

การเตรียมการก่อนพบแพทย์

     ก่อนการนัดหมายพบแพทย์ ผู้ป่วยควรเตรียมข้อมูลให้พร้อม เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึงโรคประจำตัว อาการที่เกิดขึ้นและความรุนแรง ยาที่ใช้ในปัจจุบัน รวมถึงคำถามที่ต้องการถามแพทย์ โดยแนะนำให้ผู้ป่วยพาญาติหรือคนใกล้ตัวมาพบแพทย์ด้วย

 

 

 

วิธีรักษาเนื้องอกในสมอง

 

 

เพราะสาเหตุใด ทำไมถึงเป็นเนื้องอกในสมอง ?

     แม้ก่อนหน้านี้ เราไม่สามารถทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคได้อย่างแน่ชัด แต่ในปัจจุบัน เมื่อความรู้ทางด้าน Epigenetic (กลไกที่เกิดขึ้นก่อนระดับพันธุกรรมที่มีผลต่อยีน) มีมากขึ้น จึงพบว่า ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดเนื้องอกในสมองได้ โดยสาเหตุสำคัญ คือวิธีการใช้ชีวิต (Lifestyle) ยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยความเครียด ซึ่งความเครียดนั้น สามารถส่งสัญญาณให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด มีผลให้เซลล์เกิดความผิดปกติ และลดการกำจัดเซลล์ผิดปกติของร่างกาย และท้ายที่สุด จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเนื้องอกได้ ดังนั้น การตั้งสติ ลดความเครียด จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเตรียมพร้อมต่อสู้กับโรคเนื้องอกในสมองได้เป็นอย่างดี

 

หลักปฏิบัติง่ายๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเนื้องอกในสมอง

เนื่องจากสาเหตุของเนื้องอกในสมองยังไม่ทราบเป็นที่แน่ชัด แนวทางการป้องกันจึงทำได้เพียงดูแลสุขภาพ รวมถึงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็ง อาทิ

 

  • งดสูบบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • หลีกเลี่ยงความเครียด

 

เพียงเท่านี้ ก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกสมองได้

 

คำถามที่พบบ่อย (FAQ)

1.  อาการปวดหัวจากเนื้องอกในสมอง แตกต่างจากอาการปวดหัวทั่วไปอย่างไร ?

     อาการปวดหัวเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปของผู้ที่มีเนื้องอกในสมอง แต่อาการมักจะรุนแรงมากกว่าอาการปวดหัวทั่วไป และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว รับประทานยาแล้วไม่ทุเลา อีกทั้ยังอาจรู้สึกคลื่นไส้ร่วมด้วย โดยมักมีอาการรุนแรงในช่วงเช้าเนื่องจากเนื้องอกจะบวมขึ้นขณะหลับ

 

2.  ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกในสมองมีอะไรบ้าง ?

     อาการแทรกซ้อนของเนื้องอกในสมอง อาจส่งผลร้ายแรงหรือความเสียหายที่นำไปสู่ความพิการของร่างกาย โดยอาการแทรกซ้อนที่พบเป็นส่วนใหญ่ได้แก่ การสูญเสียความจำ ปัญหาในการมองเห็น การได้ยิน การพูดหรือการดมกลิ่น ในบางรายอาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง อัมพาตครึ่งล่าง หรือมีปัญหาด้านกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ รวมไปถึงโอกาสเกิดโรคปอดอักเสบ

 

3.  หลังจากการรับรักษา จะกลับมาเป็นได้อีกหรือไม่ ?

     โรคเนื้องอกในสมองแบบไม่ดี (เนื้อร้าย) สามารถกลับมาเป็นได้ แต่โดยส่วนใหญ่ เนื้องอกที่กลับมาเป็นซ้ำมักจะอยู่ใกล้เคียงตำแหน่งเดิม มีเพียงบางรายที่อาจพบในบริเวณอื่น ดังนั้น ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วจึงควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ

 

 

เนื้องอกในสมอง รักษาหายไหม

 

 

สรุป

เนื้องอกในสมองนั้นสามารถรักษาได้ แต่ผลของการรักษาเนื้องอกในสมองนั้นอาจจะมีความต่างกันแล้วแต่ชนิด ตำแหน่ง และขนาด ของเนื้องอก นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่ควรต้องทราบหลังจากได้รับการวินิจฉัยโรคเนื้องอกในสมองนะครับ คือ

 

  • เนื้องอกในสมองเป็นเนื้อดีหรือไม่ดี
  • เกิดจากเซลล์สมองเองหรือไม่
  • วิธีการรักษาที่เหมาะสมในเวลานี้คืออะไร

 

และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องอย่าลืมดูแลใจให้เข้มแข็งไว้ตลอดนะครับ เมื่อเรามีสติจะทำให้เรารู้จัก เข้าใจ บางสิ่งบางอย่างได้ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้นครับ

 

ติดต่อนัดพบแพทย์

ติดต่อนัดพบแพทย์

อ้างอิง

 

  1. De Robles P, Fiest KM, Frolkis AD, et al. The worldwide incidence and prevalence of primary brain tumors: a systematic review and meta-analysis. Neuro Oncol 2015;17:776-83.
  2. Perkins A, Liu G. Primary Brain Tumors in Adults: Diagnosis and Treatment. Am Fam Physician 2016;93:211-7.
  3. Hunter RG. Epigenetic effects of stress and corticosteroids in the brain. Front Cell Neurosci 2012;19;6:18
  4. Mack SC, Hubert CG, Miller TE, et al. An epigenetic gateway to brain tumor cell identity. Nat Neurosci 2016;19:10-9.
  5. Sapienza C, Issa JP. Diet, Nutrition, and Cancer Epigenetics. Annu Rev Nutr 2016;36:665-81.
  6. Alegría-Torres JA, Baccarelli A, Bollati V. Epigenetics and lifestyle. Epigenomics 2011;3:267-77.
  7. Esteller M. Epigenetics provides a new generation of oncogenes and tumour-suppressor genes. Br J Cancer 2006;94:179-83.
  8. Nieto SJ, Patriquin MA, Nielsen DA, et al. Don't worry; be informed about the epigenetics of anxiety. Pharmacol Biochem Behav 2016;146-147:60-72.
  9. Quick brain tumor fact ( https://braintumor.org/brain-tumor-information/brain-tumor-facts/)