กินยาคุมกำเนิดให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

February 23 / 2024

 

 

กินยาคุมกำเนิดให้ถูกวิธี.. เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

 

 

พญ. ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์

สูติ-นรีเวช

 

ยาเม็ดคุมกำเนิด (Oral contraceptive pill) คือ ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง คือฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ โดยยับยั้งการตกไข่เปลี่ยนแปลง เยื่อบุโพรงมดลูกให้มีสภาพไม่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้มูกที่ปากมดลูกมีความเป็นด่างเหนียวข้นขึ้น ทำให้อสุจิไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ รวมทั้งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวท่อนำไข่ ทำให้ไข่ไม่สามารถเดินทางไปที่มดลูก

 

ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดแต่ละชนิด

 

หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน, https://www.fphandbook.org/appendix-contraceptive-effectiveness

 

 

สามารถแบ่งยาคุมกำเนิดได้เป็น 2 กลุ่ม

 

  1. ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม (combined pill) คือ มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน แบ่งออกเป็น
    • เอสโตรเจนกับโปรเจสโตเจนเท่ากันทุกเม็ด มีแบบ 21 เม็ด กับ 28 เม็ด (7 เม็ดหลังไม่มีฮอร์โมน) มี 3 แบบ
      • ชนิดฮอร์โมนสูง high dose (เอสโตรเจน≥50  ไมโครกรัม)
      • ชนิดฮอร์โมนต่ำ low dose (เอสโตรเจน<50 ไมโครกรัม)
      • ชนิดฮอร์โมนต่ำมาก ultra low dose (เอสโตรเจน≤20 ไมโครกรัม)
    • แบบที่ฮอร์โมนทั้งสองชนิดไม่เท่ากัน
      • ชนิด 2 ระยะ จะประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณต่างกัน 2 แบบ เพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย ในช่วงต้นรอบเดือนจะมีเอสโตรเจนสูงกว่าโปรเจสโตเจน ส่วนช่วงปลายรอบเดือนจะมีโปรเจสโตเจนมากกว่าเอสโตรเจน ซึ่งจะมี 2 สี คือ 7 เม็ดแรกเป็นสีหนึ่ง และ 15 เม็ดหลังเป็นอีกสีหนึ่ง เช่น ยาคุมกำเนิดยี่ห้อออยเลซ (Oilezz)
      • ชนิด 3 ระยะ จะประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนในปริมาณที่ต่างกัน 3 แบบ เพื่อเลียนแบบการหลั่งฮอร์โมนของร่างกายให้มากที่สุด โดยจะมีเอสโตรเจนต่ำอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงต้นและช่วงปลายรอบเดือน ส่วนกลางเดือนจะมีปริมาณเอสโตรเจนมากที่สุด ส่วนโปรเจสโตเจนจะมีปริมาณต่ำในช่วงต้นรอบเดือนและสูงสุดในช่วงปลายรอบเดือน จะมี 3 สี แบ่งเป็น 6 เม็ด 5 เม็ด และ 10 เม็ด รวมเป็น 21 เม็ด (อาจจะมีแป้งเพิ่มอีก 7 เม็ด รวมเป็น 28 เม็ดก็ได้) เช่น ยาคุมกำเนิดยี่ห้อไตรควีล่าร์ (Triquilar), ไตรนอร์ดิออล (Trinordiol) และไตรไซเลส (Tricilest)
  2. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (progesterone pill) คือ ยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนอย่างเดียว  มี 2 แบบ
    • ชนิดฮอร์โมนโปรเจสโตเจนขนาดต่ำเท่ากันทุกเม็ด (minipill)
    • ชนิดฮอร์โมนโปรเจสโตเจนขนาดสูง คือยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน postcoital pill หรือ emergency pill

 

 

 

ข้อดียาคุมกำเนิด คือประสิทธิภาพสูงถ้าทานถูกต้อง หาซื้อง่าย และเมื่อหยุดใช้สามารถกลับมามีบุตรได้ นอกเหนือจากการคุมกำเนิดแล้วยาคุมยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้อาการสิวดีขึ้น ปวดประจำเดือนลดลง เพิ่มมวลกระดูก ลดการสร้างฮอร์โมนเพศชายจากโรคถุงนำในรังไข่ (polycystic ovary syndrome) ลดเลือดออกจากมดลูก ประจำเดือนมาไม่มาก และตรงเวลา ลดอาการก่อนประจำเดือน (premenstrual Dysphonic Disorder, PMDD)

 

ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ สม่ำเสมอ การลืมทานยา หรือทานไม่ถูกวิธี อาจจะทำให้เกิดผลเสีย เช่น ทำให้มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ถ้าลืมบ่อยๆ อาจเกิดการตั้งครรภ์

 

 

กรณีลืมกินยาคุมกำเนิดให้ทานดังนี้

 

  1. ลืมกินยาหนึ่งเม็ดให้กินทันทีที่นึกได้ และกินเม็ดต่อไปตามปกติ
  2. ลืมกิน 2 เม็ดติดต่อกันในช่วง 2 สัปดาห์แรกให้กินยา 2 เม็ดติดต่อกัน 2 วัน แล้วกินต่อตามปกติจนหมดแผงให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย
  3. ลืมกินยา 2 เม็ดติดกันในช่วงสัปดาห์ที่ 3 หรือลืมมากกว่า 2 เม็ดในช่วงใดก็ตามให้หยุดยาแผงนั้นจนกว่าจะมีประจำเดือนจึงเริ่มแผงใหม่ ให้ใช้ถุงยางอนามัยหรืองดการร่วมเพศ

 

 

ข้อห้ามการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

 

  1. ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ เมื่อทานยาไปต้องหยุดกินทันที ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจครรภ์ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีผลต่อลูกในครรภ์ เพราะโอกาสเกิดผลข้างเคียงมีน้อยมาก
  2. สตรีหลังคลอดไม่ถึง 21วัน และภาวะดังต่อไปนี้ ได้แก่ มีประวัติการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ นอนติดเตียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ มีภาวะอ้วน(BMI>30/m2) ภาวะตกเลือดหลังคลอด หลังผ่าตัดคลอดบุตร ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะติดเชื้อหลังคลอด(puerperal sepsis) และสูบบุหรี่
  3. ห้ามใช้ในสตรีที่ยังไม่เคยมีประจำเดือน และสตรีสูงอายุที่หมดประจำเดือนแล้ว
  4. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี และสูบบุหรี่ ตั้งแต่15 มวนต่อวัน ปี วัยนี้อาจมีปัญหาในการกินยาคุมกำเนิดได้ เพราะมีโอกาสเกิดโรคระบบหลอดเลือดได้ง่าย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตันฯลฯ
  5. ผู้ที่มีหรือเคยมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น ลิ่มเลือดอุดตันที่ขา, ปอด หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย รวมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการแข็งตัวตัวของเลือด หรือมีประวัติสงสัยความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด เพราะการกินยาคุมกำเนิดจะทำให้เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น จึงมีโอกาสที่เกิดเส้นเลือดอุดตันมากเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  6. ผู้ที่มีหรือเคยมีอาการหัวใจวาย หรือภาวะที่สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน รวมถึงผู้ที่มีหรือเคยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดหัวใจวาย หรือภาวะที่สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน
  7. ผู้ที่เป็นโรคหัวใจบางชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ
  8. ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นไมเกรนชนิดรุนแรงหรือไมเกรนบางชนิดร่วมกับความผิดปกติเฉพาะที่ของระบบประสาท เช่น การมองเห็นผิดปกติ การพูดผิดปกติ มีอาการอ่อนเพลีย หรือชาบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย
  9. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่มีความผิดปกติของหลอดเลือด หรือการทำงานของไต
  10. ผู้ที่มีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  11. ผู้ที่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่
  12. ผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือเคยเป็นมะเร็งเต้านม
  13. ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นโรคตับ ซึ่งอาจมีอาการตัวเหลืองหรือมีอาการคันทั่วร่างกาย และตับยังคงทำงานผิดปกติ
  14. ผู้ที่เป็นโรคไต หรือมีภาวะการทำงานของไตบกพร่องอย่างรุนแรง หรือภาวะไตวายเฉียบพลัน
  15. ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเนื้องอกในตับชนิดไม่ร้ายแรงหรือชนิดร้ายแรง
  16. โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (SLE)
  17. ผู้ที่ผ่านการผ่าตัดใหญ่และห้ามขยับตัวนาน
  18. ผู้ที่แพ้ต่อตัวยาสำคัญหรือส่วนประกอบอื่นในยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันเป็นผื่น หรือบวมได้

หากมีความผิดปกติในข้อหนึ่งข้อใดที่กล่าวมาข้างต้นซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในขณะกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ให้หยุดยาทันทีและไปพบแพทย์

การเลือกวิธีคุมกำเนิดด้วยยาคุม ควรพิจารณาจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น การใช้ยาอย่างถูกต้อง การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้ถึง 99% แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจะลดลงเช่นกัน รวมทั้งส่วนประกอบในยาคุมกำเนิด คือปริมาณ ชนิดฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจน ที่มีความหลากหลาย การพิจารณาการใช้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละบุคคล ความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นก่อนเริ่มการทานยาคุมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

 

การยาใช้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมในแต่ละบุคคล ความปลอดภัย และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นก่อนเริ่มการทานยาคุมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง

 

 

นัดพบแพทย์คลิก

พญ. ศรีสุภา เลาห์ภากรณ์

สูติ-นรีเวช

 

 

 

แก้ไขล่าสุด 24/07/63