หมอสูติแนะ...วิธีเตรียมความพร้อมก่อนจะตั้งครรภ์
เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง
สูติ-นรีเวช สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
สุขภาพร่างกายก่อนการตั้งครรภ์
เราจะดูที่ดัชนีมวลกายเป็นหลัก โดยไม่ได้เน้นว่าน้ำหนักเท่าไหร่ เพราะส่วนสูงของแต่ละคนต่างกัน โดยดัชนีมวลกายหรือ Body Mass Index (BMI) ที่ปกติ คือ 18.5-24.9 kg/m2 (น้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร ยกกำลัง 2) จากการศึกษาพบว่าดัชนีมวลกายที่น้อยเกินไปมีความสัมพันธ์กับทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยการคลอดก่อนกำหนด ดัชนีมวลกายที่มากเกินไปมีความสัมพันธ์กับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ และการคลอดยาก เป็นต้น
โรคประจำตัวบางอย่างควรควบคุมโรคให้ดี เพื่อไม่ให้โรคกำเริบขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำให้ผลลัพธ์ของการคลอดดีขึ้น เช่น ถ้าเป็นเบาหวานอยู่การตั้งครรภ์และควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือดได้ไม่ดี ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการแท้งง่าย ในช่วงไตรมาสแรก ทารกอาจจะมีความพิการแต่กำเนิดได้ เช่น กระดูกไขสันหลังไม่ปิด หัวใจผิดปกติ เป็นต้น ถ้าเป็นโรคที่ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดก็ควรจะต้องระมัดระวังยาบางอย่างที่ทำให้ทารกมีความผิดปกติได้ โรคภูมิต้านทานต่อตนเอง เช่น โรคพุ่มพวงหรือ Systermic lupus erythematous ถ้าควบคุมโรคได้ดีอย่างน้อย 6 เดือนก่อนการตั้งครรภ์โอกาสกำเริบของโรคก็จะน้อยลง ถ้าเป็นโรคหัวใจก็ควรที่จะผ่าตัดรักษาก่อนที่จะตั้งครรภ์ ในบางครั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนและมีโรคหัวใจขั้นรุนแรง หรือเป็นมะเร็งระยะท้ายก็อาจจำเป็นจะต้องยุติการตั้งครรภ์เพื่อรักษาชีวิตและสุขภาพของมารดาไว้
อาชีพ
อาชีพบางอย่างมีผลต่อทารกในครรภ์ เช่น คนทำสวนที่ฉีดยาฆ่าแมลงเป็นประจำ พนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี หรือเกี่ยวกับสารรังสี ก็อาจทำให้ทารกในครรภ์มีความผิดปกติแต่กำเนิดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงเมื่อวางแผนจะตั้งครรภ์
หลีกเลี่ยงยาบางชนิด
การเสพยาเสพติดยาบางอย่างก็มีผลทำให้ทารกผิดปกติได้ หรือการสูบบุหรี่ไม่ว่าจะเป็นการสูบเองหรือคนใกล้เคียงสูบ ก็ควรที่จะเลิกหรือเลี่ยงการรับควันบุหรี่ก่อนการตั้งครรภ์ จะช่วยให้การตั้งครรภ์ไม่ยาก เพราะในบุหรี่มีสารนิโคติน และคาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้เกิดผลเสียต่อทารกในครรภ์ การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะปริมาณมากน้อยแค่ไหนก็ตามก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าได้
คนที่ทานยารักษาสิวอยู่หรือทายารักษาสิวที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ (Isotretinoin) อยู่ก็ควรหยุดยาอย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงยาที่ใช้ปรับรอบประจำเดือน เช่น ยาสตรี ว่านชักมดลูก เนื่องจากมีความสัมพันธ์ที่ทำให้ทารกในครรภ์ผิดปกติได้
การวางแผนทางการเงินและการดำเนินชีวิต
ให้คุยกับสามีอย่างจริงจังเรื่องการวางแผนที่จะมีลูก เพื่อเตรียมวางแผนทางการเงินค่าฝากครรภ์ ค่าคลอด และค่าเลี้ยงดูบุตร ในตอนที่ไม่สามารถไปทำงานได้ในช่วงแรกๆ ที่คอลด บางครั้งการมีลูกเมื่อไม่พร้อมและสามีไม่พร้อมก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายๆ คู่แยกทางจากกัน แม่ลูกอ่อนจำเป็นต้องเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวสร้างความเครียดและภาระให้กับตัวเองและการดำเนินชีวิต ปัญหานี้ที่ทำให้บางคนตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์อันเนื่องจากใช้จ่ายในการดูแล และการสูญเสียรายได้จากงานประจำที่ทำอยู่เนื่องจากต้องออกจากงานมาเลี้ยงบุตร
การเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์
เพื่อสุขภาพครรภ์ที่แข็งแรง การเตรียมความพร้องก่อนการตั้งครรภ์จำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อคุณแม่สุขภาพดีก็ทำให้การตั้งครรภ์เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น
สูติ-นรีเวช สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
แก้ไขล่าสุด 17/07/63