รู้จัก “นักกำหนดอาหาร” ในฐานะ “ผู้ช่วยคนสำคัญ...ของคุณหมอ”

February 27 / 2024

 

 

รู้จัก "นักกำหนดอาหาร" ในฐานะ “ผู้ช่วยคนสำคัญ...ของคุณหมอ”

 

 

 

 

ที่มา.. ของนักกำหนดอาหาร

 

เทรนด์การดูแลสุขภาพ รับประทานอาหาร รวมทั้งการออกกำลังกาย กำลังมาแรงในวัยคนหนุ่มสาวไปจนกระทั่งวัยผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ โดยอาจเป็นผลจากความเชื่อ หรือไม่อย่างนั้นก็ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคภัยต่างๆ ที่มีเผยแพร่ออกมาอย่างมากมายจากหลากหลายช่องทาง รวมถึงกระแสสังคมออนไลน์

ก่อนหน้านี้คำว่า “โภชนาการและอาหาร” อาจไม่ค่อยได้รับความสำคัญในวงกว้างนัก ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากสำหรับทั้งผู้ป่วยเรื่อยไปจนถึงบุคคลในแต่ละช่วงวัย แต่ทุกวันนี้ได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมา “โฟกัส” อย่างจริงจังโดยมี “นักกำหนดอาหาร” มารับบทบาทหน้าที่อันจะช่วยให้บรรดาผู้ป่วยและผู้คนทั่วไปได้เข้าใจถึงการบริโภคอาหารที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สุขภาพหากนำไปปฏิบัติตามคำแนะนำ อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

 

 

 

นักกำหนดอาหาร คือใคร?

 

ทุกวันนี้ “นักกำหนดอาหาร” จัดว่าเป็นวิชาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งร่ำเรียนทางด้านวิชาการมาเช่นเดียวกับคุณหมอ หากแต่เน้นความเชี่ยวชาญลงลึกในเรื่องเกี่ยวกับโภชนาการและอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละโรค และบุคคลในแต่ละช่วงวัย  และบทบาทของนักกำหนดอาหารในโรงพยาบาลได้เป็นที่ยอมรับในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทีม “สหสาขาวิชาชีพ” โดยทำหน้าที่หลักคือ ประเมินภาวะโภชนาการ คำนวณความต้องการพลังงานสารอาหาร และ กำหนดปริมาณที่เหมาะสม...เพื่อช่วยส่งเสริมแผนการรักษาของแพทย์ หรือที่เรียกกันว่า “การให้โภชนบำบัด” ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ช่วยคนสำคัญของคุณหมอ นั่นเอง

 

 

นักกำหนดอาหารมีหน้าที่อะไร? ทำไมถึงสำคัญ? และใครบ้างที่ต้องพบนักกำหนดอาหาร

 

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนซึ่งยังไม่มีวิชาชีพ “นักกำหนดอาหาร” ประจำอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในบ้านเราก็คงพอจำกันได้ว่าจะมีก็แต่ “นักโภชนาการ” ซึ่งบทบาทหน้าที่หลักส่วนใหญ่จะอยู่ในครัวเพื่อจัดบริการอาหารสำหรับผู้ป่วยให้ถูกต้องตรงตามคำสั่งแพทย์ ไม่ค่อยได้มีบทบาทในการเข้าไปดูแลด้านโภชนาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ทำให้บรรดาผู้ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลนั้นมีโอกาสได้รับข้อมูลความรู้ค่อนข้างจำกัดทีเดียว แต่ด้วยเหตุที่วิทยาการทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ และในปัจจุบันได้มีการให้ความสำคัญกับภาวะโภชนาการของผู้ป่วยมากขึ้น จึงช่วยให้ทุกวันนี้เรามี “นักกำหนดอาหาร” มารับบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการเพื่อสร้างความเข้าใจในการรับประทานอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย รวมไปถึง...หญิงตั้งครรภ์...หญิงให้นมบุตร...ผู้ต้องการเพิ่มน้ำหนัก...ลดน้ำหนัก อีกทั้ง...บุคคลทั่วไปที่ต้องการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสมมีส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันการเกิดโรคเหล่านี้ การดูแลด้านโภชนาการในแต่ละบุคคล ถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการรักษา นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ก็มีความสำคัญและถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคแบบองค์รวมเช่นกัน เพราะเราไม่ได้มุ่งเน้นแค่การหายหรือการควบคุมโรคได้ แต่ยังต้องคำนึงถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคในอนาคต คุณภาพชีวิตที่ดี และสุขภาพที่แข็งแรงอีกด้วย

 

 

 

กว่าจะมาเป็นนักกำหนดอาหาร ผู้ช่วยคนสำคัญ.. ของคุณหมอ

 

ใครที่จะเข้ามารับหน้าที่ “นักกำหนดอาหาร” ต้องผ่านการศึกษาอบรมมาอย่างรอบด้านในวิชาชีพจนมีความรู้ความเข้าใจหลายด้านตั้งแต่ โภชนาการและโภชนบำบัด ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสภาวะของโรคต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับการเกิดโรค และความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับยาบางชนิด ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นผู้ที่จบการศึกษาทางด้านโภชนาการและการกำหนดอาหารหรือสาขาที่เกี่ยวข้องทางด้านโภชนบำบัด โดยได้ผ่านการฝึกงานหรือมีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลตามข้อกำหนดของ “สมาคมนักกำหนดอาหาร” และผ่านการสอบรับรองวิชาชีพเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นนักกำหนดอาหารวิชาชีพที่เรียกว่า ‘Certified Dietitian of Thailand-CDT’ ในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย

 

 

“นักกำหนดอาหาร” กับ “นักโภชนาการ” ต่างกันตรงไหน ?

 

“นักโภชนาการ” หมายถึงผู้จบการศึกษาทางด้านโภชนาการ และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถในการดูแลจัดบริการอาหารสำหรับผู้ป่วยในโรงพยาบาล และสามารถให้คำแนะนำโภชนาการทั่วไปได้ แต่เมื่อใดที่มีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลจนถึงขั้นมีความรู้ความชำนาญเพียงพอ ก็สามารถขอสอบเพื่อขึ้นทะเบียนรับรองเป็น “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” ได้เช่นกัน

 

จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าจะจำกัดอยู่เพียงผู้ป่วย หรือผู้ที่จำเป็นต้องไปพึ่งพาอาศัยบริการจากโรงพยาบาลเท่านั้น หากแต่ใครๆ ที่มีความใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอย่างจริงจังก็สามารถไปปรึกษาหาข้อมูลจาก “นักกำหนดอาหาร” หรือ “นักโภชนาการ” ก็ได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

แล้วยิ่งสามารถรับประทานตามที่ “นักกำหนดอาหาร” หรือ “นักโภชนาการ” แนะนำได้ ก็มีแต่จะได้รับสุขภาพที่ดีขึ้นตามมาแน่นอน

 

 

การรับประทานอาหารที่เหมาะสมมีส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ การดูแลด้านโภชนาการในแต่ละบุคคล ถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการรักษา